
philosophy, origin of กำเนิดของปรัชญา
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เนื่องจากปรัชญาคือ philosophy ซึ่งแปลว่า ความอยากรู้อยากเรียนอยากฉลาด เรียกสั้นๆ ได้ว่าความสนใจรู้ ความสนใจรู้ย่อมเริ่มจากการมีคำถาม และโดยสัญชาตญาณแห่งมนุษย์ เมื่อมีคำถามขึ้นในใจก็อยากหาคำตอบ มนุษย์คนแรกมีคำถามแรกเมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละคือจุดเริ่มต้นของปรัชญา ปรัชญามีมาตั้งแต่ขณะนั้น ปรัชญาอุบัติขึ้น ณ ขณะนั้นพอดี มนุษย์คนนั้นเป็นมนุษย์คนแรกก็เพราะมีคำถามแรกเกิดขึ้นในใจของเขา ใจของเขานั้นคือปัญญาแรกของมนุษยชาติ เขาผู้นั้นกลายเป็นมนุษย์คนแรก และเป็นผู้คิดปรัชญาแรกของมนุษยชาติ พูดง่าย ๆ ได้ว่าปรัชญาเริ่มมีมาพร้อมกับเริ่มมีมนุษย์คนแรก เพราะจะมีคำถามแรกโดยยังไม่มีมนุษย์เลยไม่ได้ และจะมีมนุษย์คนแรกโดยยังไม่มีคำถามใด ๆ เลยบนโลกย่อมไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นคำถามแรกย่อมเกิดขึ้นกับมนุษย์คนแรก และ ณ จุดนั้นสัตว์ตัวนั้นกลายเป็นนักปรัชญาคนแรก ณ บัดนั้น
คำถาม (question) ที่เป็นจุดก่อตัวของปรัชญานั้น ย่อมไม่เป็นเพียงปัญหา (problem) จะเห็นเพียงปัญหาแรกเท่านั้นไม่พอให้นับเป็นปรัชญา เพราะสัตว์เดรัจฉานก็มีปัญหาได้ ปัญหาจากสัญชาตญาณ (problem from instinct) ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอโดยไม่ต้องอาศัยปัญญา เฉพาะปัญหาที่เกิดจากการตรึกตรอง (problem from reflection) เท่านั้นจึงจะเป็นคำถามและเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาเพราะมันสร้างความสนใจให้แสวงหาคำตอบซึ่งไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของสัญชาตญาณ
ปัญหามี 2 ระดับ คือ
- ระดับสัญชาตญาณ ตอบสนองด้วยสัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอด
- ระดับปัญญา เกิดจากการตรึกตรองจนเห็นคำถาม ตอบสนองด้วยคำตอบที่มาจากปัญญาเช่นกัน อาจจะมีสัญชาตญาณทำการควบคู่มาด้วยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากถูกครอบงำโดยสัญชาตญาณละก็จะอยู่แค่ระดับสัญชาตญาณ เพราะปัญญายอมแพ้สละสิทธิ์ให้สัญชาตญาณ จะยังไม่เรียกว่าคำถาม
สรุปได้ว่า ปรัชญามีมาพร้อมกับมนุษย์ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ที่ไหนก็ที่นั้น มนุษย์คนแรกคือนักปรัชญาคนแรกของมนุษชาติด้วย
กำเนิดของปรัชญาปรัชญาเริ่มต้นฟักตัวมาตั้งแต่เมื่อไรเป็นเรื่องเหลือเดา แต่เราได้เห็นมาแล้วว่า แต่แรกเริ่มเดิมทีวิชาการทุกอย่างเป็นปรัชญาทั้งนั้น ค่อย ๆ มาแยกตัวออกไปภายหลังปรัชญาจึงเป็นแม่บังเกิดเกล้าของวิชาการทุกอย่างก็ว่าได้ นั่นคือปรัชญาเกิดก่อนวิชาอื่นทั้งหมด เราไม่รู้วันเดือนปีเกิด แต่ก็อาจจะพูดได้ไม่เกินความจริงว่าปรัชญาเกิดพร้อมกับความคิดแรกของมนุษย์ ถ้าเราเชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ดาร์วินว่ามมนุษย์วิวัฒน์มาจากลิง ก็คุณจ๋อตนแรกที่เริ่มสำนึกขึ้นในใจว่า “เอ๊ะ นี่มันอะไร” ณ บัดนั้นปรัชญาอุบัติขึ้นแล้วพร้อมกับความเป็นมนุษย์ในตัวของคุณจ๋อตนนั้น ข้าพเจ้าใช้คำว่า“คุณจ๋อ”ไม่ใช่“นายจ๋อ” เพราะไม่แน่ใจว่านักปรัชญาแรกของโลกผู้นี้จะเป็นเพศใดแน่ ถ้าท่านได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “พิชิตจักรวาล 2001” ท่านจะสังเกตเห็นบรรพบุรุษสมมุติของเราตนหนึ่งเล่นกระดูกสัตว์ใหญ่อยู่ บังเอิญจับได้กระดูกท่อนหนึ่งตีลงบนกระดูกซี่โครงซากสัตว์ตัวนั้นซี่โครงก็หักลง บัดดลดนตรีบันเลงกระหึ่มขึ้นประหนึ่งว่าเป็นมหาฤกษ์ เพราะบัดดลนั้นเองคุณจ๋อคิดตกว่าเครื่องมือกระดูกสัตว์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแรง มันกลายเป็นมนุษย์และเป็นนักปรัชญาแรกของโลกตั้งแต่บัดนั้น เราพูดตามภาษาวิชาการว่า มนุษย์เริ่มคิดปรัชญาตั้งแต่เริ่มทำ reflection (การคิดทบทวน) ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ผ่านขั้นนี้มาแล้ว เวลานี้ท่านเป็นนักปรัชญาแล้ว ทุกคน เป็นมากหรือน้อยเท่านั้น ข้าพเจ้าอยากให้ท่านเป็นมาก ๆ และเป็นจริง ๆ ด้วยเทคนิคทันสมัย
เป็นอันว่าปรัชญามีกำเนิดมาตั้งแต่มนุษย์ยังไม่รู้จักใช้ภาษา ตำหรับปรัชญาที่ไม่มีการขีดเขียนลงเป็นหนังสือจึงศูนย์หายไปเสียเป็นก่ายเป็นกองอย่างน่าเสียดายยิ่ง แทบจะหมดหวังที่จะสืบได้ว่ามนุษย์เราเริ่มต้นคิดอย่างไรมาแต่ต้น และวิวัฒน์มาอย่างไรจนคิดค้นภาษาขึ้นมาใช้นับวันแต่จะกว้างขวางซับซ้อนขึ้นทุกที จนกว่าจะมีคนคิดตัวหนังสือและวางระเบียบไวยากรณ์ขึ้น จึงได้เริ่มบันทึกหลังจากมีความคิดปรัชญาสะสมไว้นาน สูญหายไปในประวัติศาสตร์ก็มาก เราไม่สามารถสืบสาวดูให้รู้แน่นอนว่าความเชื่อถือต่าง ๆ และนิยายปรัมปราต่าง ๆ ก่อตัวและวิวัฒน์มาอย่างไรในระยะก่อนวรรณกรรม เป็นเรื่องที่ต้องเปลืองแรงค้นคว้าและในที่สุดก็ต้องสันนิษฐานเอาเสียเป็นส่วนมาก แต่สันนิษฐานด้วยยุทธวิธีตามหลักวิชาการย่อมได้เปรียบกว่าเดาสุ่ม ความคิดแบบปรัชญาจึงช่วยได้มาก อย่างน้อยช่วยปั้นปัญญาให้มีวิจารณญาณ (critical thinking)
ปรัชญาก้าวหน้าขึ้นอย่างมหาศาล เมื่อมีมนุษย์เจ้าความคิดยอดเยี่ยมในสมัยนั้นคนหนึ่งเกิดฉงนขึ้นมาว่า อำนาจในธรรมชาตินี้มาจากไหน เพราะมีประสบการณ์กันมานานนักหนาแล้วว่ามนุษย์เราหนีภัยธรรมชาติกันด้วยความหวาดกลัว เหมือนกระต่ายตื่นตูม เพราะไม่รู้ต้นสายปลายเหตุและไม่มีใครคิด เพราะต่างคนสักแต่หนีเอาตัวรอดไปได้เป็นครั้ง ๆ ไม่ผิดกับกระต่ายตื่นตูม แต่มนุษย์คนที่ว่านี้สมควรได้รับการยกย่องเป็นนักปรัชญายิ่งใหญ่แห่งยุค เพราะเมื่ออยากรู้ว่าอำนาจในธรรมชาติมาจากไหน ก็หมายความว่าเขาเกิดมีความเข้าใจเรื่องเหตุผลขึ้นมาแล้ว ในเมื่อมีผลต้องมีเหตุ ถ้าหากเรารู้สาเหตุ เราก็สามารถแก้ที่สาเหตุ ผลมันก็จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเองโดยจำเป็น เป็นอันว่าถ้าเราล่วงรู้ได้ว่าภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ สัตว์ร้าย ฯลฯ มีอะไรเป็นสาเหตุ เราก็หาทางแก้ที่สาเหตุเสีย ภัยก็จะหมดไปได้ ถ้าแก้ไม่ไหวก็อาจจะหาทางเลี่ยงให้ผ่อนหนักเป็นเบาไป ท่านไม่คิดหรือว่าคนที่คิดได้แค่นี้ (แม้จะไม่ได้พูดออกมาเป็นวิชาการในยุคที่คนยังไม่รู้ว่า “เรียน” คืออะไร “เหตุผล” คืออะไร มิต้องนับว่าเป็นนักปรัชญายอดเยี่ยมแห่งยุคหรือ ?
นักคิดเช่นว่านี้อาจจะเริ่มขึ้นคนเดียว แล้วมีคนเข้าใจและเห็นด้วยต่อ ๆ มา หรืออาจจะปรึกษากันหลายคน เราไม่ทราบ แต่เราทราบว่า ในยุคที่ยังไม่รู้จักวิธีทดลองวิทยาศาสตร์ ไม่รู้ว่าเครื่องมือทดสอบเป็นอย่างไร ได้แต่คิดเอาด้วยสมองว่ามีผลต้องมีเหตุ ถ้าแก้เหตุได้ผลก็จะเปลี่ยนไปก็เลยสรุปเอาด้วยปัญญาอันสุขุมตามอัตภาพว่า ต้องมีเหตุที่อยู่เหนือธรรมชาติ เรามองไม่เห็น แต่ต้องมีฤทธิ์มากจนควบคุมพลังธรรมชาติทั้งหลายไว้ได้ตามใจ ผู้นั้นคือ พระผู้ทรงฤทธิ์ ผู้ควบคุมความเป็นไปทั้งหลายในโลก เป็นจ้าวโลก ถ้าเช่นนั้นเราลองบวงสรวงดูให้ท่านพอใจ ท่านจะได้เข้าข้างเรา คนอื่นเห็นดีด้วย จึงเกิดพิธีกรรมและหลักปฏิบัติทางศาสนาขึ้น ต้องนับว่าศาสนาดั้งเดิมของมนุษย์เป็นนิมิตอันดีแสดงให้เห็นความก้าวหน้ามหาศาลทางปัญญา คือการได้ประลองการใช้เหตุผลอันเป็นสมบัติล้ำค่าแห่งปัญญามนุษย์ แต่ก็อย่างว่า การค้นพบทุกอย่างถ้าหากไม่มีการปรับปรุงจนตกยุคไปแล้ว ก็กลายเป็นสิ่งกีดขวางความเจริญได้ ปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหมครั้งหนึ่งเคยเป็นพระเอกในสนามรบ ถ้าใครอุตริลากออกไปยิงถล่มภูขี้เถ้า ผู้ก่อการร้ายอาจหัวเราะจนสำลักตายก็ได้
วงการศาสนาที่เจริญขึ้นจนจัดเป็นสถาบันสังคมนี่เองที่ให้กำเนิดแก่วิจิตรศิลป์ ดนตรี คณิตศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดในแง่ปรัชญาก็คือ เก็บหนังสือไว้ เพราะต่อมาเราจะมีหนังสือบันทึกความคิดของมนุษย์เอาไว้เป็นหลักฐาน สามารถรวบรวมเป็นวิชาการขึ้นมาได้ ความคิดที่บันทึกไว้ในระยะแรก ๆ นี้จึงเกี่ยวกับเรื่องของศาสนาเป็นธรรมดา จีน อินเดีย อียิปต์ ต่างก็มีบันทึกมาแต่ดึกดำบรรพ์ไม่ต่ำกว่ายี่สิบศตวรรษก่อน ค.ศ. อาจจะมีก่อนนั้นแล้วสูญหายไปหมด เราไม่ทราบชาวกรีกเพิ่งจะเริ่มมีหนังสือเป็นหลักฐานก็ในสมัยโฮเมอร์ (Homer) และเฮเสียด (Hesiod) ซึ่งจะว่าดึกดำบรรพ์ก็ไม่เกินศตวรรษที่เก้าก่อน ค.ศ. เนื้อเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและประวัติของเทพเจ้าเหมือนวรรณกรรมแรก ๆ ของชาติโบราณอื่น ๆ
ชาวกรีกได้รับเกียรติเป็นปัญญาชนชาติแรกของยุโรป แต่เราก็เห็นว่าวรรณกรรมของชาวกรีกซึ่งเป็นวรรณกรรมแรกของยุโรปด้วย เริ่มมีภายหลังวรรณกรรมเอเชียและแอฟริกาไม่ต่ำกว่าพันปี เริ่มต้นมาในทำนองเดียวกันแต่ต่อเวลาให้ถึงพันกว่าปีแต่ชาวกรีกก็ฮึดสู้จนขึ้นหน้าชาติอื่นในด้านปัญญา ยุโรปได้รับมรดกมาดำเนินกิจการต่อ จนกลายเป็นครูของโลกอยู่ทุกวันนี้ แม้ปรัชญาและศาสนาตะวันออกจะศึกษาอย่างวิชาการทุกวันนี้ ก็ต้องอาศัยตำราของชาวตะวันตกเป็นหลัก