syllogism รูปนิรนัย
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
รูปนิรนัย (Syllogism) คือ การแสดงออกของการอ้างเหตุผลอย่างตรงๆ
องค์ประกอบ ต้องมี 3 ประโยคตรรกวิทยา โดยมี 3 เทอม แต่ละเทอมใช้ 2 ครั้ง ตัวอย่าง
คนทุกคน เป็น มรรตัย (ประโยคอ้างเอก)
นักศึกษาทุกคน เป็น คน (ประโยคอ้างโท)
…นักศึกษาทุกคน เป็น มรรตัย (ประโยคสรุป)
องค์จะมีมากหรือน้อยกว่านี้ไม่ได้ เพราะการอ้างเหตุผลครั้งหนึ่ง ๆ ในมนัส จะต้องมีการตัดสินก่อน 2 ครั้ง ซึ่งในการตัดสินทั้ง 2 ครั้งนี้จะต้องมีสังกัป (comprehension) เดียวกันอยู่ส่วนหนึ่ง หมายความว่าในการตัดสินเดิม 2 ครั้งนั้นสังกัปอยู่ 3 หน่วย ไม่มากกว่านั้น ครั้นตัดสินครั้งที่ 3 ก็เอาสังกัปอีก 2 หน่วยที่เหลือมาตัดสิน มิได้มีสังกัปใหม่เพิ่มขึ้นเลย การอ้างเหตุผลในมนัส 1 ครั้ง จึงประกอบด้วยการตัดสิน 3 ครั้ง โดยใช้สังกัปรวมกันทั้งสิ้น 3 หน่วย ใช้หน่วยละ 2 ครั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงออกตรง ๆ ก็จะ ต้องได้ 3 ประโยคตรรกวิทยา โดยมีเทอมวนเวียนใช้อยู่ 3 เทอม ใช้เทอมละ 2 ครั้ง นับเป็นรูปนิรนัย 1 รูป
สองประโยคแรกที่มาจากการตัดสิน 2 ครั้งดั้งเดิม เรียกว่า ประโยคอ้าง (premises) ส่วนประโยคที่สามที่มาจากการตัดสินสุดท้ายเรียกว่า ประโยคสรุป (conclusion)
ประโยคอ้าง 2 ประโยคนั้นยังอาจจะแยกให้เห็นลักษณะแตกต่างกันได้ คือ ถ้าเป็นการตัดสินกว้าง ๆ เป็นความจริงทั่วไป หรือเป็นความรู้กว้าง ๆ ประโยคที่แสดงออกมาเรียกว่า ประโยคอ้างเอก (major premise) ส่วนประโยคที่มาจาการตัดสินแรก หรือเป็นการอ้างเจาะจงเฉพาะเรื่องที่ต้องการรู้เรียกว่าประโยคอ้างโท (minor premise) ประโยคอ้างเอกและโทประโยคไหนจะมาก่อนมาหลังกันก็ได้ ไม่จำเป็นว่าประโยคอ้างเอกต้องมาก่อนเสมอไป ถ้าไม่ปรากฏชัดว่าประโยคใดกล้างกว่า ให้ถือว่าประโยคที่บรรจุภาคแสดของประโยคสรุปเป็นประโยคอ้างเอก และประโยคที่บรรจุประธานของประโยคสรุปเป็นประโยคอ้างโท เพราะถือว่าภาคแสดงในประโยคสรุปควรจะกว้างกว่าประธานของมัน และเพราะเหตุนี้เองภาคแสดงของประโยคจึงสรุปได้ชื่อว่า เทอมเอก (major term) และประธานของประโยคสรุปได้ชื่อว่า เทอมโท (minor term) ด้วย
อนึ่ง เทอมที่เหมือนกันในประโยคอ้างทั้ง 2 มีชื่อพิเศษเรียกว่า เทอมกลาง (middle term)
ชนิดของรูปนิรนัย รูปนิรนัยอาจจะสมเหตุสมผล (Valid) หรือไม่สมเหตุสมผล (invalid) ก็ได้
รูปนิรนัยที่สมเหตุสมผล (Valid syllogism) ก็คือ รูปนิรนัยที่มีข้อสรุปอนุมานจากข้อเสนอโดยความจำเป็นที่ได้จากรูปแบบของการจัดเทอมในข้อเสนอ ความจำเป็นเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยติดตามข้อบังคับทั้ง 5 ข้อข้างล่างนี้ ถ้าผิดข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียวรูปนิรนัยนั้นจะไม่ได้ข้อสรุปที่อนุมานจากข้อเสนอโดยจำเป็น เรียกว่า รูปนิรนัยที่ไม่สมเหตุสมผล (invalid syllogism)