ศ.กีรติ บุญเจือ…
ปรัชญาคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต
คำว่าปรัชญาอาจเป็นคำที่ทำให้นึกถึงนักปรัชญาที่มักใช้คำพูดแปลก ๆ และดูเหมือนว่าจะเป็นคำพูดที่ขัดแย้งในตัวเอง หรือการใช้คำพูดสะดุดใจเพื่อให้ขบคิด ทำให้มองได้ว่าเป็นข้อคิดคำคมสอนใจ ใครพูดคำคม ๆ ก็เป็นนักปรัชญา คิดอย่างนี้ก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทั้งหมด คำว่า philosophy มีความหมายตามรากศัพท์ภาษากรีกว่า ความรักหรือ “ความปรารถนาจะเป็นปราชญ์” นั่นคือ รู้ตัวเองว่ายังไม่ฉลาดแต่อยากจะฉลาด หรือแปลอย่างรวบรัดว่า “ความอยากรู้อยากเรียนอยากฉลาด” และ philosopher ที่เราแปลกันว่านักปรัชญานั้น ก็ต้องแปลว่า “ผู้อยากรู้อยากเรียนอยากฉลาด” ส่วนคนที่ฉลาดแล้ว เป็นนักปรัชญาตามความหมายของภาษาไทยนั้น ต้องใช้คำว่า “Sophist”
ปรัชญาเป็นทั้งเนื้อหาความรู้ และสาขาวิชา (discipline) ที่ทำให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษา นิสิตนักศึกษาที่ลงเรียนในวิชาปรัชญาหรือเรียนเอกปรัชญา ก็ย่อมต้องว่าเรียนเพื่อสอบเอาคะแนน และจำนวนหน่วยกิตเพื่อให้ครบตามเกณฑ์จบการศึกษา ผู้จะเป็นอาจารย์ในสาขาต่างๆ ก็มักเรียนเอาไว้สอนเป็นประวัติศาสตร์ความคิดของวิชาต่างๆ ที่ตนจะสอน สำหรับอาจารย์ปรัชญาก็เรียนเอาไว้เพื่อจะได้เป็นเนื้อหาสำหรับสอนและทำงานวิชาการ ส่วนคนทั่วไปนั้นเรียนไว้ให้รู้ เรียกว่ารู้ไว้ประดับปัญญา แต่หากมองในระยะยาว ไม่ว่าจะเรียนปรัชญาไปเพื่ออะไร ก็ต้องมองให้กระจ่าง
ถ้าจะถามว่าเรียนวิชาปรัชญานี้แล้วจะผลิตสินค้าอะไรขึ้นมาขาย หรือผลิตอะไรไว้ใช้เองได้บ้างหรือไม่ ก็ต้องตอบกันตรง ๆ ว่า ผลิตได้แค่หนังสือปรัชญาเท่านั้น ผู้ถามจะถามต่อไปได้ว่าหนังสือปรัชญาที่ผลิตขึ้นมานั้นมีประโยชน์อะไร ปัญหาก็วกเข้าหาเป้าหมายแท้ของวิชาปรัชญานั่นเอง คือ ถามว่าเรียนวิชาปรัชญาแล้วจะได้ความรู้อะไรบ้าง ก็จะตอบได้ว่า “รู้ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก”
ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกที่ว่านี้จะเป็นปัญหาอะไรก็ได้ อาจจะเป็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของเราเอง เช่น
- คนคืออะไร
- ตายแล้วไปไหน เป็นอย่างไร
- ความดีคืออะไร
- มาตรการใดเรียกว่ายุติธรรม
- เวลาเป็นอะไรแน่
- เวลาหวนกลับไม่ได้จริงหรือ
- ศาสนาคืออะไร
- ทำไมเราจึงต้องเคารพคำสอนของศาสนาอื่นด้วย
- พระเทศน์บางทีก็ไม่ตรงกัน เราควรปฏิบัติตามคำสอนและคำแนะนำของพระแค่ไหน ในเรื่องใดบ้าง
- ทำไมคนเราจึงต้องเชื่อคำสอนของศาสนา
- ศาสดามีอยู่หลายองค์ด้วยกัน เราควรเชื่อองค์ไหน เชื่ออย่างไร และทำไมจึงต้องเชื่อ ฯลฯ
ปัญหาอีกส่วนอาจจะเป็นปัญหายาก ๆ ที่มีในวิชาการต่าง ๆ แต่ยังหาคำตอบแน่นอนไม่ได้ เช่น
- เอกภพมีกำเนิดมาอย่างไร
- มนุษย์เรามีความรู้ได้อย่างไร และรู้ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่
- สูตรคณิตศาสตร์อาจจะขัดแย้งกันได้หรือไม่
- การปกครองระบอบไหนดีที่สุด เพราะเหตุใด
- สสารและพลังงานเป็นอะไรกันแน่
ปัญหาเหล่านี้ บางปัญหา ต้องการความรู้ในวิชาสาขานั้น ๆ จึงจะเข้าใจปัญหาได้อย่างแท้จริง แต่สาขาวิชานั้นยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนตายตัวได้ ให้ได้แต่เพียงคำตอบชั่วคราวในระดับทฤษฎี ปัญหาจึงถือว่ามีคำตอบ แต่คำตอบยังไม่เป็นที่สุด จึงนับว่ายังเป็นปัญหาในระดับปรัชญา เพราะยังแก้ไม่ตก
ในเมื่อปัญหาปรัชญาเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสามัญหรือปัญหาทางวิชาการ นักปรัชญาและนักศึกษาปรัชญาจึงต้องพยายามรู้ต่อไปว่า ปัญหาแต่ละปัญหาเหล่านี้มีคำตอบใดบ้างที่พอจะรับฟังได้ เรียกได้ว่าเป็น “คำตอบที่เป็นไปได้” จะนับว่าเป็นคำตอบที่เป็นไปได้ก็ต้องมี “เหตุผลสนับสนุน” ให้เห็นว่าเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่ขัดแย้งในคำอธิบายของตัวเองและไม่ไร้ความหมาย
แต่การเรียนปรัชญาก็มิใช่เพียงเรียนเพื่อให้คิดปัญหาได้ หรือ หาคำตอบได้ แต่เป็นการสำรวจกระแสความคิดที่มีอยู่ของมนุษยชาติ ในลักษณะ “สำรวจใหม่หมดและไม่ละเลยอะไรเลย” (re-real all, reject none) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีใจพร้อมที่จะย้อนอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า และเลือกประเด็นที่สนใจเอามาคิดใหม่ เพื่อเสนอคำตอบใหม่ที่เหมาะสมกว่า หรืออย่างน้อยก็ชี้ได้ว่า คำตอบเดิมยังไม่เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาความคิดของตน ผ่านการคิดวิเคราะห์ การแลกเปลี่ยนความรู็และประสบการณ์ การวิจักษ์คุณค่าของประเด็นที่คิดได้ และความพยายามนำเสนอคำตอบเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นนิสัยที่ตรงตามคำว่า philosophy นั่นคือ ความอยากรู้ อยากเรียน อยากฉลาด และเป็นคุณลักษณะ (character) ที่สำคัญของคนที่จะพัฒนาตนเองในทุกด้าน อันเป็นเป้าหมายของกระบวนการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า philosophy is character ปรัชญาคือนิสัย