นายเจตนิพัทธ์ พิธิยานุวัฒน์
…
ปัจจุบันนี้ มีบางคนเข้าใจ อุเบกขา ด้วยภาษาสามัญ โดยแปล อุเบกขาว่า วางเฉย นิ่งเฉย เพ่งเฉย หรือนิ่งอยู่เฉย ๆ จึงทำให้เข้าใจความหมายของอุเบกขาตามการแปลความนั้น นั่นคือ มองอุเบกขาและธรรมที่มีอุเบกขาเข้าไปเกี่ยวข้องว่า เป็นส่วนที่ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่นิ่งเฉย ไม่ปรากฏผลใด ๆ ทำให้เกิดทรรศนะในทางลบกับหลักอุเบกขา นัยแห่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักธรรมเรื่องอุเบกขาจึงมีดังนี้
1. ปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องอุเบกขาธรรมผิด ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามมา พุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่ง ยังปฏิบัติอุเบกขาธรรม ไม่สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงตามหลักของพระพุทธศาสนา เมื่อเข้าใจและตีความหมายผิด จึงส่งผลให้ปฏิบัติกันอย่างผิดๆ
2. ปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องอุเบกขาธรรมถูกต้อง แต่ก็ละเว้นที่จะปฏิบัติ โดยในประเด็นนี้ พุทธศาสนิกชนมักจะคิดว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์เท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติอุเบกขาธรรมได้
หากแต่อุเบกขาเป็นคุณลักษณะของปัญญาที่เกิดในองค์ฌานที่เฝ้าสังเกตพิจารณาดูอาการของจิต เจตสิก และรูป หรือขันธ์ห้า หรือ ปฏิจจสมุปบาทที่แสดงอาการความจริงออกมาในขณะที่จิตนิ่งสงบในระดับฌานสมาธิ ตั้งแต่ระดับฌานที่ 4 ขึ้นไปจนถึงฌานที่ 8 ปัญญาขั้นอุเบกขานี้ จะพิจารณาเห็นความจริงของปรมัตถธรรมทั้ง 3 ข้อคือ จิต เจตสิก และรูป หรือขันธ์ห้าโดยละเอียด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราได้บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่” (วิ.มหา.(ไทย) 1/11/6)
บรรดาอุเบกขา 2 อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แลอกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น อุเบกขาเช่นนี้เป็นอุเบกขาที่ควรเสพ ในอุเบกขานั้น อุเบกขาใดมีวิตก มีวิจาร และอุเบกขาใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร บรรดาอุเบกขา 2 อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า ข้อที่เรากล่าวไว้ว่า จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ 2 อย่าง คือ อุเบกขาที่ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
(ที.ม.(ไทย) 10/362/289)
อุเบกขาในอัปปมัญญา เป็นการแผ่เมตตาอย่างไม่มีขอบเขต เป็นคุณธรรมของพระภิกษุผู้เป็นพระโยคาวจร ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสของตนให้หมดจด (ที.ปา.(ไทย) 11/308/280) เมื่อภิกษุเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่เป็นประจำย่อมได้รับอานิสงส์เบื้องต้นคือ การละความหงุดหงิดรำคาญใจได้ ซึ่งมีการสลัดตนออกจากกิเลสได้ในที่สุด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละความหงุดหงิดได้”
(ม.ม.(ไทย) 13/120/131)
เมื่อตีความ “อุเบกขา” ตามตัวอักษรว่า คอยดู อุป แปลว่าเข้าไป อิกขะ แปลว่ามอง เข้าไปมอง คือ คอยมอง หรือมองอยู่ใกล้ๆ มองดู ไม่ได้ทิ้ง ต้องปฏิบัติให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติลักษณะสำคัญของอุเบกขาเป็นการสร้างจุดยืนที่มั่นคง เป็นสภาวะปราศจากความรู้สึกสุขหรือทุกข์ และเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมและวิบากอย่างลึกซึ้ง เพราะจิตมีความสมบูรณ์ (Completeness) ในตัวเอง เป็นสภาวะแห่งความสมบูรณ์ของจิต (Balance of Consciousness) ดังที่พระพุทธโฆสาจารย์ ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบายว่า อุเบกขามีลักษณะทำให้จิตและความรู้สึกต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ มีหน้าที่ตรวจตราดูความบกพร่องหรือความผิดปกติของจิตอยู่เสมอ และมีสภาวะปรากฏอยู่ด้วยความมีจุดยืนของตัวเอง มีดุลยภาพอยู่เสมอ
อีกประการหนึ่งคือ อุเบกขามีความมุ่งหมายเพื่อฐานรองรับการปฏิบัติของบุคคล ให้มีสติอยู่เสมอ ไม่ยึดติดอยู่กับตัวอุเบกขานั้นว่าเป็นหนทางแห่งความหลุดพ้น หากว่าโดยประเภทแล้วมีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ (1) ฉฬงฺคุเปกฺขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์หกคือ การวางเฉยในอายตนะทั้งหก (2) พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา อุเบกขาในพรหมวิหาร (3) โพชฺฌงฺคุเปกฺขา อุเบกขาในโพชฌงค์ คือ อุเบกขาที่อิงความสงบ (4) วิริยุเปกฺขา อุเบกขาใน วิริยะ (5) สงฺขา-รุเปกฺขา อุเบกขาในสังขาร คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า (6) เวทนูเปกฺขา อุเบกขาในเวทนา (7) วิปสฺสนูเปกฺขา อุเบกขาในวิปัสสนา (8) ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา อุเบกขาในเจตสิกหรืออุเบกขาที่ยังธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันให้เป็นไปเสมอกัน (9) ฌานุเปกฺขา อุเบกขาในฌาน (10) ปาริสุทฺธิอุเปกฺขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก
ดังนั้น อุเบกขาหรือความวางเฉยที่ถูกต้อง หมายถึง ท่าทีการถืออุเบกขาหรือความวางเฉยแบบมีปัญญากำกับ เรียกว่า “ญาณุเบกขา” เป็นอุเบกขาที่อิงอาศัยความรู้คือปัญญา และต้องมาควบคู่กับปัญญาเสมอ ซึ่งการใช้ปัญญานี้ย่อมต้องเป็นไปตามสัญชาตญาณปัญญาของมนุษย์ตามกระบวนทรรศน์ปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง (moderate postmodern philosophy) ที่เน้นความไม่ยึดมั่นถือมั่น (detachment) จึงทำให้บุคคลสามารถใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นประจักษ์ชัดว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรคือหลักการ เป็นต้น อุเบกขายังเน้นความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว การปฏิบัติตามหลักอุเบขายังเป็นการทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่งอีกด้วย ดังนั้น อุเบกขาจึงเป็นการปฏิบัติอุเบกขาเพื่อรักษาบุคคลอันเป็นระดับคุณภาพของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้มีอุเบกขาจึงจะมีลักษณะเป็นคนหนักแน่น มีสติอยู่เสมอ ไม่ดีใจไม่เสียใจจนเกินเหตุ เป็นคนยุติธรรม ยึดหลักความเป็นผู้ใหญ่ รักษาความเป็นกลางไว้ได้มั่นคง ไม่เอนเอียงเข้าข้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลถูกต้องคลองธรรม ปฏิบิติตนได้ด้วยความพอดี ทั้งนี้ การปฏิบัติอุเบกขายังสามารถขยายผลเพื่อรักษาสังคม เพื่อเป็นพื้นฐานการปรับปรุงการอยู่ร่วมกันของทุกชีวิตด้วยดุลยภาพ และการปฏิบัติอุเบกขาเพื่อรักษาธรรมอันเป็นเป้าหมายสูงสุดอีกด้วย ดังนั้น อุเบกขาตามปรัชญาหลังนวยุคสายกลางย่อมเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขแท้ในโลกนี้ได้และย่อมส่งผลต่อสุคติภูมิในโลกหน้าอย่างแน่นอน
การตีความหลักอุเบกขาด้วยปรัชญาหลังนวยุคสายกลางเป็นการเสริมทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งและชัดเจน (clear and distinct) นั่นถือ เข้าใจได้อย่างถูกต้อง ตรงตามธรรมและไม่เกิดข้อกังขาเชิงตรรกะอีก และแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของอุเบกขาในฐานะข้อธรรมที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ว่าพระพุทธองค์และเหล่าสาวกของพระพุทธองค์นั้นล้วนใช้หลักอุบกขา อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติและในส่วนของการนำไปแก้ปัญหาหรือการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ดังนั้น อุเบกขาจึงดำเนินไปด้วยปัญญา ซึ่งย่อมจะมีพลังแห่งหลังนวยุคแสดงผ่านการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่ได้สร้างประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น มีพลังปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา ใช้วิจารณญาณตามกระบวนทรรศน์หลังนวยุคในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยมีขั้นตอนของการวิเคราะห์และการประเมินค่าเป็นส่วนสำคัญ เมื่อปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วย่อมก่อให้เกิดความรับผิดชอบในการปฏิบัตินั้น มีพลังร่วมมือกันในธำรงสรรพสิ่งตามความเป็นจริง อันเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้สิ่งดี สิ่งมีประโยชน์ สิ่งที่ปราชญ์สรรเสริญ ได้ถูกเผยแผ่ และมีการปฏิบัติตามหลักคำสอนร่วมกัน มีพลังแสวงหาอย่างพอเพียงจนเข้าถึงคำสอนศาสนาได้ ทำให้เจริญในการประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกฝนความสามารถที่ทำให้เกิดการสำรวมและความสงบทางจิตใจ (สมาธิ) รวมถึงการพิจารณาและการรู้เงื่อนไขและความเกี่ยวโยงของการดำรงอยู่ด้วยปัญญาตามหลักพรหมวิหารธรรมและมรรคอันเป็นทางแห่งพระนิพพาน