พ.อ. ดร. ไชยเดช แก่นแก้ว
…
การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหัวข้อที่สำคัญสำหรับโลกในปัจจุบัน และหลายภาคส่วนมองว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตมีอยู่แล้วในพุทธปรัชญา ทั้งนี้ แนวความคิดการดำรงชีวิตในวิถีพุทธสำหรับปุถุชนเน้น 1) การมองเข้ามาในตัวตนอย่างใคร่ครวญตามหลักปฏิจจสมุปบาทและ 2) มองออกนอกตัวตนเพื่อทำความเข้าใจบุคคลประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือทิศหก และสังคมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเนื้อแท้
แนวความคิดในการมองเข้ามาในตัวตน หรือการพิจารณาตน คือ การพิจารณาระดับกิเลส อาทิ ตัณหา มานะ และ ทิฐิ ว่ามีระดับเข้มข้น หรือเจือจาง เพื่อจะได้ปรับระดับจิตสำนึกให้ถูกต้อง มุ่งพัฒนาตนเองให้มีจิตที่รู้ตื่นเบิกบาน สำนึกผิดและสร้างฐานความคิดใหม่ข้างในจิตใจมีสุขเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพื่อมองออกไปนอกตัวตนอย่างพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลกันไปกับคนอื่นและธรรมชาติ ชีวิตอยู่อย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกฎธรรมชาติ อันมีลักษณะของ ธรรมนิยาม 3 ได้แก่ ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา หมายถึง
- สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา)
- สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ (สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา)
- สังขารและวิสังขารทั้งปวงไม่ชาตัวตน (สพฺเพ ธมฺมา อนฺตตา)
การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเน้นการลดระดับของตัณหา หรือโดยรวมคือ กิเลสพร้อมกัน คือ การลดระดับอวิชชา หรือทำให้เกิดการรู้แจ้งในอริยสัจสี่ คือ รู้แจ้งในทุกข์ รู้แจ้งในทุกขสมุทัย รู้แจ้งในทุกขนิโรธ และรู้แจ้งในทุกขนิโรธคามินีปทา โดยสามารถอาศัยกระบวนการพัฒนาคนหรือตนเอง 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นนำสู่สิกขา คือ ขั้นก่อนที่จะเข้าสู่ไตรสิกขาหรือขั้นตอนก่อนมรรคมีองค์ 8 ที่มองในแง่เป็นวิถีชีวิตนั่นเอง สิกขา คือ การศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนา มรรค คือ วิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตที่ดี ไตรสิกขาเป็นการศึกษาที่ฝึกฝนพัฒนาคนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยดี ในแง่ของมรรค เริ่มจากสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบซึ่งปัญญาในระดับหนึ่ง ปัญญาในขั้นนี้เป็นความเชื่อและความเข้าใจในหลักการทั่วๆไป โดยเฉพาะความเชื่อว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือการถือหลักการแห่งเหตุปัจจัยซึ่งเป็นความเชื่อถือที่เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาทำให้มีการพัฒนาต่อไปได้และการพัฒนาคนให้มีสัมมาทิฐินั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฐิ 2 ประการ ซึ่งเป็นทางเกิดแห่งแนวความคิดที่ถูกต้อง เป็นต้นทางของปัญญาและความดีทั้งปวงดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2550, หน้า 69)
- ปรโตโฆสะ ได้แก่ ปัจจัยภายนอก คือ เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก ได้แก่ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียน หาความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่นโดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร
- โยนิโสมนสิการ ได้แก่ ปัจจัยภายใน คือ การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักความคิด คิดเป็น ได้แก่ ทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผลแยกแยะสิ่งนั้นหรือปัญหานั้น ๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
ขั้นไตรสิกขา เป็นขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาบุคคลโดยใช้หลักไตรสิกขาเต็มระบบ การฝึกฝนและพัฒนามนุษย์นั้นทางพุทธศาสนาจัดวางเป็นหลักเรียกว่าไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งถือว่าเป็นระบบการศึกษาที่ทำให้บุคคลพัฒนาอย่างมีบูรณาการและให้มนุษย์เป็นองค์รวมที่พัฒนาอย่างมีดุลยภาพ
- ศีล เป็นเรื่องของการฝึกในด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมเคยชินเครื่องมือที่ใช้ในการฝึกศีลก็คือ วินัย วินัยเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการศึกษาและพัฒนามนุษย์ เพราะว่าวินัยเป็นตัวจัดเตรียมชีวิตให้อยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาศีลประกอบด้วยมรรค 3 ประการ คือ สัมมาวาจา (วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การกระทำชอบ) และสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
- สมาธิ เป็นเรื่องของการฝึกในด้านจิตใจหรือระดับจิตใจ ได้แก่ การพัฒนาคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิตทั้งในด้านคุณธรรมเช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในด้านความสามารถของจิต เช่น ความเข้มแข็งมั่นคงความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ความแน่วแน่มั่นคง ความมีสติ สมาธิ และในด้านความสุข เช่น ความอิ่มใจ ความร่าเริงเบิกบานความสดชื่นผ่องใส ความรู้สึกพอใจ พูดสั้น ๆ ว่า พัฒนาคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพของจิต สมาธิประกอบด้วยมรรค 3 ประการคือ สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (จิตมั่นชอบ)
- ปัญญา เป็นเรื่องของการฝึกหรือพัฒนาในด้านการรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อ ความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล ความรู้จักวินิจฉัยไตร่ตรองตรวจสอบ คิดการต่าง ๆ สร้างสรรค์ เป็นขั้นรู้เท่าทันธรรมดาของโลกและชีวิตที่ทำให้มีจิตเป็นอิสระ ปลอดปัญหา ไร้ทุกข์ เข้าถึงอิสรภาพโดยสมบูรณ์ ปัญญาประกอบด้วยมรรค 2 ประการ คือ สัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) และสัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ)
สำหรับแนวความคิดในการมองออกนอกตัวตนเพื่อทำความเข้าใจบุคคลประเภทต่าง ๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือทิศ 6 และสังคมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ทิศหก ได้แก่
- ปุรัตถิมทิศ คือ ทิศเบื้องหน้า ได้แก่ ทิศตะวันออก หมายถึง มารดา บิดา เพราะเป็นผู้อุปการะแก่เรามาก่อน
- ทักษิณทิศ คือ ทิศเบื้องขวา ได้แก่ ทิศใต้ หมายถึง ครูอาจารย์เพราะเป็นทักขิไณยบุคคลควรแก่การบูชาคุณ
- ปัจฉิมทิศ คือ ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ ทิศตะวันตก หมายถึง บุตร ภรรยา เพราะมีขึ้นภายหลังและคอยเป็นกำลังใจสนับสนุนอยู่ข้างหลัง
- อุตตรทิศ คือ ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ ทิศเหนือ หมายถึง มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วย ข้ามพ้นอุปสรรค ภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุนให้บรรลุความสำเร็จ
- เหฏฐิมทิศ คือ ทิศเบื้องล่าง หมายถึง คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่าง ๆ เป็นฐานกำลังให้
- อุปริมทิศ คือ ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรมและเป็นผู้นำทางจิตใจ
เมื่อรู้ในทิศหกแล้ว มนุษย์พึงมองออกนอกตัวตนให้ไกลกว่าเดิมเพื่อพิจารณาสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติให้ถูกต้องตามหลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อก่อให้เกิดดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมและธรรมชาติเพื่อส่งผลให้องค์ประกอบแห่งการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งเป็นไปอย่างประสานกลมกลืนสอดคล้องกัน มิให้ก่อความรุนแรงเบียดเบียน งดเว้นจากการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำลายผลาญชีวิต
ดังนั้นในพุทธปรัชญาจึงมีเนื้อหาของการพัฒนาชีวิตซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับศาสนาและสามารถนำพามนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ในระดับโลกได้ โดยมีแนวทางสำคัญคือ
- แสวงหาเหตุผลด้วยตนเอง ปรับเปลี่ยนการมีพฤติกรรมที่พึ่งพาน้ำพระทัยเบื้องบน มาเป็นพึ่งพาตนเอง ตามหลัก “อัตตาหิอัตตโน นาโถ” โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความจริงแห่งกฎธรรมชาติด้วยปัญญา จึงเป็นสิ่งที่ทรงพลังในการชี้นำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ให้มีคุณธรรมของจิตใจให้สูงขึ้นเป็นลำดับตามปัญญาของตน
- คิดแบบองค์รวม พิจารณาสรรพสิ่งทั้งหลายว่าล้วนเชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกัน ตามหลักปฎิจจสมุปบาท ทำให้มีความละเอียดถี่ถ้วน ระมัดระวังและรอบคอบ ใช้วิธีการคิดที่มุ่งสู่ปัญญารวม 10 ประการ ตามหลักโยนิโสมนสิการ
- เน้นวิธีคิดและการปฏิบัติแบบกระบวนการและบูรณาการที่มุ่งแก้ไขปัญหาทุกปัญหาด้วยหลักอริยสัจสี่
- สามารถนำไปสู่การเกิดกระบวนการทางสังคมอย่างสันติ เน้นหลักการแห่งชีวิต
- ปัญญาของมนุษย์เป็นแกนกลางของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
- เน้นหลักอหิงสาและมิติแห่งเสรีภาพทางด้านต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เช่น หลักแห่งเสรีภาพทางสังคม ทางสติปัญญา ทางเศรษฐกิจและเสรีภาพทางการเมือง ตลอดจนหลักความเสมอภาค
- เน้นหลักที่ว่าด้วยความเคารพในธรรมชาติ มนุษย์พึงดำรงชีวิตอยู่ด้วยความเคารพและสมานฉันท์กับธรรมชาติ ตลอดจนการเพิ่มพูนชีวิตให้แก่ธรรมชาติ
- เน้นการมีชีวิตที่ดีตามเศรษฐศาสตร์วิถีพุทธ
จากปรัชญาพุทธที่สอนให้ปุถุชนพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วยการมองข้างในและมองข้างนอกนี้ ทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นไปอย่างรอบด้าน ส่งผลให้มนุษย์มีความสุขในการใช้ชีวิต ได้ใช้ความคิดตรึกตรอง ใช้ปัญญาตัดสินใจกระทำการต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม และย่อมยอมรับผลของการกระทำนั้นตามความเป็นจริง การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของพุทธปรัชญา ทั้งนี้ มนุษย์ยังสามารถศึกษาอภิธรรมปิฎก สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก เพื่อการพัฒนาตนเองในระดับโลกุตระต่อไปได้อีกเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองปรัชญา การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางเป็นความเชื่อและเหตุผลปฏิบัติของคนรุ่นใหม่ นักปรัชญาหลังนวยุคขยายผลแนวคิดปรัชญาของตนซึ่งเดิมเป็นข้อคิดกระจัดกระจายกลายเป็นขบวนการที่มีเป้าหมายชัดเจนยิ่ง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นทั้งคำสอนและแนวปฏิบัติ มีหลักการและข้อปฏิบัติที่ต้องรักษา ทำตาม การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเป้าหมายในการดำรงอยู่โดยมีคุณค่าเทียบเท่ากับเป้าหมายในระดับศาสนา และสามารถเรียกได้ว่าเป็นศาสนาของกระบวนทรรศน์หลังนวยุค แต่เป็นศาสนาที่ไม่เรียกร้องสมาชิก ไม่แก่งแย่งแข่งขันหรือเชื่อว่าตนเองถูกฝ่ายเดียว ฝ่ายอื่นผิดทั้งหมด เป็นศาสนาที่ไม่กำหนดข้อเชื่อเรื่องโลกหน้า จึงสามารถใช้เป็นฐานเสริมได้สาหรับทุกศาสนาที่ต้องการพัฒนาวิธีการอบรมสั่งสอนศาสนาของตนให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนั้น ย่อมเป็นความเป็นจริงที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตจะมีพบอยู่ในคำสอนของศาสนาต่าง ๆ และย่อมพบในปรัชญาพุทธได้ด้วยเช่นกัน
การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นศาสนาหลังนวยุคที่แสวงหาความร่วมมือและพร้อมที่จะช่วยเหลือศาสนาอื่นในฐานะหลักการสำคัญในการดำรงตนตามหลักศาสนานั้น ๆ การประยุกต์ใช้หลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับชาวพุทธนั้นควรที่จะดึงใช้หลักธรรมที่สนับสนุนปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง ได้แก่ หลักอนาลีนะและหลักกาลามสูตร ซึ่งกีรติ บุญเจือ ทำการย้อนอ่านใหม่จาก “กิรสูตร” ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ (25/136/125) ไว้ว่า อิทะเมวะ สัจจัง โมฆะมัญญัง (ของฉันเท่านั้นจริง สิ่งอื่นเป็นโมฆะ) เรียกว่า อลีนะ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นการไม่ยึดมั่นถือมั่น (อนาลีนะ) ทั้งนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า การยึดมั่นอย่างนี้ไม่เอื้อต่อการพบความจริง จึงทรงแนะนำให้ใช้ “กาลามสูตร” (องฺ.ติก. 20/505/179 – 184) เป็นหลักพิจารณาว่าปราชญ์ทั่วไปจะสรรเสริญหรือตำหนิต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ด้วยตนเองแล้วจึงรับความเป็นจริง กาลามาสูตรจึงเป็นหลักธรรมที่ให้แต่ละคนใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบรอบด้าน ดังนั้น การใช้หลักธรรมในศาสนาคือ อนาลีนะและกาลามสูตรสำหรับเป็นแว่นตาให้ผู้ที่อยู่ในกระแสหลังนวยุคสายกลางใช้ย่อมทำให้แต่ละคนสามารถปรับใช้ให้เหมาะกับตน คน งาน และองค์การ ไม่จำกัดว่าผู้ใดจะนำมาใช้ ทั้งไม่จำกัดโอกาส เวลา สถานที่ด้วย ซึ่งจะเน้นการบริหารตน บริหารคน บริหารงาน และบริหารองค์กรโดยนำเอาหลักปรัชญา หลักธรรมคำสอนของศาสนาต่าง ๆ และหลักวิชาการต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันได้ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เปิดกว้างและหลากหลายโดยมิได้จำกัดไว้เพียงข้อธรรมใด หรือชุดข้อธรรมชุดใดข้อชุดหนึ่ง ด้วยว่าปัญญาของมนุษย์ย่อมสามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างกว้างขวางอันจะเป็นการพัฒนาตัวปัญญาเอง และเป็นปัญญาที่ตอบคำถามของมนุษย์ได้ว่า ความสุขแท้ ของมนุษย์คืออะไร ซึ่งปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางชี้แจงว่า ความสุขแท้ตามความเป็นจริงของมนุษย์ไม่อยู่ที่มีประเภทความดี ปริมาณหรือคุณภาพของความดี แต่อยู่ที่การกระทำความดีด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิตประกอบด้วยการสร้างสรรค์ การปรับตัว การร่วมมือทำดีกับผู้อื่น และแสวงหาในทางที่พัฒนาคุณภาพชีวิตได้เรื่อยไป
มนุษย์ทุกคนต้องการ ความสุขแท้ตามความเป็นจริง มนุษย์ไม่พอใจกับความสุขปลอม ไม่พอใจกับความสุขในฝัน หรือในความเพ้อฝัน แต่ต้องการความสุขแท้ตามความเป็นจริง ซึ่งตรงจุดนี้ ย่อมแตกต่างไปจากศาสนาทั้งหลายที่มุ่งความสุขแท้ในโลกหน้าหรือ นิพพานตามปรัชญาพุทธ โดยศาสนาทั้งหลายย่อมจัดให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขแท้ตามความเป็นจริงเป็นเพียงความสุขในโลกนี้ เป็นความสุขระดับปุถุชนนั่นเอง แต่กระนั้น การมีความสุขแท้ตามความเป็นจริง ก็ย่อมมิใช่การหลงใหลในความสุขไม่แท้ หรือกิเลส ตามแนวคิดของปรัชญาศาสนา การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขแท้ตามความเป็นจริงจึงสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาต่าง ๆ รวมถึงศาสนาพุทธ โดยที่ศาสนาต่าง ๆ ก็มีขอบข่ายปรัชญาศาสนาที่กว้างขวางออกไปเป็นเอกลักษณ์ของตน การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของพุทธปรัชญาโดยธรรม ในขณะเดียวกัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขแท้ตามความเป็นจริงเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาทั้งหลายของโลกนี้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน