อ.ดร.รวิช ตาแก้ว
การเรียนรู้ในขั้นเบื้องต้นเป็นการเรียนรู้ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงเพื่อใช้ในการสื่อสารตามรูปแบบของตัวอักษรที่ใช้เป็นสิ่งแทนสิ่งอื่น ๆ ที่ต้องการสื่อความหมายที่ต้องการเรียนรู้หรืออยากรู้ รวมทั้งความเชื่อในการเรียนรู้ที่ถูกอบรมสั่งสอนให้รู้ รูปแบบของการประสมตัวอักษรแทนระบบการใช้เสียง ทั้งที่เป็นคำ เป็นประโยค การใช้ประโยค การใช้ภาษา การอ่านออกเสียง ความรู้ที่ได้คือตัวอักษรภาษาไทย และใช้ตัวอักษรเป็นสื่อในการเรียนรู้สิ่งที่ต้องการรู้ในโอกาสต่อไป ทำให้เกิดมีความคิดในใจว่าอยากเรียนวิชาที่เป็นหัวใจของวิชาทั้งหมด เพื่อจะได้รู้สิ่งที่สามารถแทนวิชาความรู้ต่าง ๆ ได้อย่างไม่รู้จบในสิ่งที่ต้องการอยากรู้และอยากเรียนรู้ นอกจากนั้นได้เรียนรู้เรื่องความดีตามแนวทางพระพุทธศาสนา และรวมทั้งเรียนรู้เรื่องความงามที่เกิดจากการวาดภาพและความไพเราะของคำกลอนจากการท่องจำบทอาขยาน
การเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษาเป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในความรู้ของแต่ละเรื่องตามกรอบหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้เรื่องความงามในภาษาและความงามในงานศิลปะตามรูปแบบศิลปะสากลและศิลปะไทย กิจกรรมที่ได้เรียนรู้มีการเชื่อมโยงศิลปะกับธรรมชาติอยู่บ้าง แต่กิจกรรมที่ได้เรียนรู้ก็มีไม่มากพอที่จะแยกแยะความงามได้อย่างหลากหลายตามที่อยากรู้ ในประเด็นของความดีก็เป็นการเรียนรู้ความดีตามกรอบประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นแก่นสาระของการเรียนรู้ ไม่มีการเรียนรู้ศาสนาอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของคำสอนในแต่ละศาสนา ในแง่ของการปฏิบัติตนตามหลักการของพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวว่า ให้ละเว้นความชั่ว กระทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์
การเรียนรู้ในระดับอาชีวศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการเรียนรู้เรื่องการสร้างสรรค์สิ่งที่มีความงามโดยใช้หลักการของศิลปะไทยอันเป็นงานศิลปหัตถกรรมประจำถิ่นซึ่งเป็นการสร้างงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นเครื่องใช้ ความงามที่ได้เรียนรู้ในระดับนี้คือ ความงามตามแนวคิดแบบขนบนิยมของงานหัตถกรรมอันเป็นความงามที่เกิดจากความเข้าใจในกระบวนการผลิต ความงามที่เกิดจากความเหมาะสมในการวางลวดลายเพื่อการประดับตกแต่ง สำหรับความงามตามแนวคิดแบบศิลปะสากลนั้นเป็นประเด็นรองในการเรียนรู้ เพราะไม่ใช่สาระที่สถานศึกษาต้องการเน้น ดังนั้น ความรู้ที่ได้จึงมีเฉพาะความงามในงานหัตถกรรมเพราะหลักสูตรออกแบบขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ดังนั้น ในประเด็นเรื่องความงามที่ได้รับรู้ในช่วงเวลานั้น คือ ความงามแบบท้องถิ่น สำหรับประเด็นเรื่องความดีนั้นเป็นความดีที่ต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเองตามแนวทางของพระพุทธศาสนา
การเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกจากการเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมในระดับอาชีวศึกษาทำให้เห็นว่า ระบบการศึกษาได้ละเลยความรู้ของสังคมไทย แต่มุ่งเน้นการเรียนรู้ศิลปะสากล จึงตัดสินใจศึกษางานศิลปะแบบขนบนิยมหรือศิลปะประจำชาติ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีงานช่างของไทย และคิดว่าเป็นการอนุรักษ์งานศิลปะของไทยควบคู่ไปกับสาระที่เรียนรู้คือ รูปแบบ เทคนิควิธีการสร้างงานและแนวคิดในการสร้างงานศิลปะไทย (ศิลปะประจำชาติ) ตามขนบธรรมเนียมและประเพณี ซึ่งเป็นงานที่ตอบสนองต่อพระพุทธศาสนา ความงามที่ได้เรียนรู้คือ ความงามตามแนวคิดเชิงอุดมคติของไทยอันเป็นความงามที่แนบแน่นอยู่กับศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ความดีที่ได้รับรู้ในขณะนั้นคือการปฏิบัติตนตามกรอบประเพณีและความเชื่อของสังคมและการปฏิบัติตนตามกรอบพระพุทธศาสนาคือการละเว้นความชั่ว กระทำความดี และทำจิตให้สงบ เพื่อผลงานที่สร้างขึ้นสามารถสื่อสารความสงบร่มเย็นในพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจน
ในช่วงระยะที่สอง เป็นการเรียนรู้การสร้างงานศิลปะตามแนวคิดของงานศิลปะแบบสากล สาระที่เรียนรู้คือ รูปแบบ เทคนิควิธีการสร้างงานและแนวคิดในการสร้างงานศิลปะตามแนวคิดของชาวตะวันตก ทั้งเทคนิควิธีการสอนแบบต่าง ๆ ความงามที่ได้เรียนรู้คือความงามที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ขึ้นในงานศิลปะ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ไม่มีการสอนสาระที่เกี่ยวกับความงามโดยตรง หากแต่แฝงเร้นอยู่กับสาระอื่น ๆ ความดีที่ได้รับรู้ในขณะนั้นนอกจากการเรียนรู้ในเรื่องพระพุทธศาสนาแล้ว ความดีตามแนวคิดของปรัชญาอัตถิภาวะนิยมในประเด็นการยอมรับการกระทำของตนเอง ซึ่งคล้าย ๆ กับกฎแห่งกรรมหรือกฎที่ได้จากการกระทำของตนเองซึ่งตนเองต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นอย่างไม่หลบหนี
ในช่วงระยะที่สาม เป็นการเรียนรู้เพื่อการวิจัยงานศิลปะตามแบบการวิจัยของสังคมศาสตร์และศึกษาศาสตร์ เพื่อเป็นการศึกษาค้นคว้าความรู้ทางด้านศิลปศึกษา ในประเด็นต่าง ๆ ทั้งทางด้านความงาม ประวัติศาสตร์ หลักสูตร การเรียนการสอน สำหรับประเด็นเรื่องความดีในระยะแรกเป็นการเน้นความดีตามแนวทางพระพุทธศาสนา และในระยะที่สองเน้นความดีตามทรรศนะของนักปรัชญาแต่ละลัทธิ ความดีในระยะที่สามคือ การประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละเวลา โดยใช้หลักการที่ว่า ผลที่เกิดย่อมไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น โดยยืดถือผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
ความงามที่ได้เรียนรู้ตามระบบการศึกษาแบ่งออกเป็นสองรูปแบบ คือ ความงามที่รับรู้ได้จากการใช้และเรียนรู้ภาษา ในประเด็นเรื่อง ความงามทางด้านศิลปะนั้นมี 2 รูปแบบ คือ ความงามตามแนวคิดของศิลปะแบบอย่างสากล และความงามตามแนวคิดของศิลปะแบบไทย(ศิลปะประจำชาติ) สำหรับประเด็นเรื่องความดีนั้นเป็นการเน้นความดีตามแนวทางของพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในความคิดคือ ทำไมกรอบความงามตามแนวคิดของศิลปะแบบสากลจึงมีความแตกต่างกับกรอบความงามตามแนวคิดของศิลปะแบบไทย ทั้งที่ความงามสองแบบนี้ต่างก็กล่าวถึงความงามเช่นกัน กรอบความคิดที่มีความแตกต่างกันนั้นต่างที่ส่วนใดอย่างไร ทำไมจึงมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน
ประเด็นเรื่อง “ความดี” ที่รับรู้ได้ในขณะนั้นคือ นักเรียนที่ดีต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบระเบียบวินัยของโรงเรียน ตั้งใจเล่าเรียนเพื่อส่งผลให้การเล่าเรียนดีขึ้น ประเด็นการเรียนดีก็คือ ผลที่เกิดจากการสอบวัดความจำความเข้าใจในกระบวนการคิดของผู้เรียน แต่ขาดการวัดทักษะความชำนาญในการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญในการใช้ ทั้งยังไม่มีการวัดความสามารถในการสร้างความเข้าใจให้ลึกซึ้งลงไปอีกระดับหนึ่งได้