แนวคิดกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ (primitive paradigm) นับเริ่มจากการมีมนุษย์ เริ่มนับเป็น Homo เมื่อ 2.5-3 ล้านปีก่อน
- รู้จักใช้ภาษาเมื่อเป็น homosapiens ราว 2.5 แสนปีที่แล้ว
- ใช้ชีวิตเป็นหมู่คณะ เมื่อเป็น Neanderthal ราว 5 หมื่นปีก่อน ซึ่งเป็นยุคน้ำแข็งจึงเชื่อได้ว่ามนุษย์ยุคนี้เริ่มที่จะใช้ปัญญาคิดมากขึ้น เกิดเป็นวัฒนธรรมถ้ำ
- เมื่อเข้าสู่ยุคหินเก่า มนุษย์โครแมกนัน (Cromagnon) ก็อยู่ร่วมกันเป็นสังคมใหญ่ มีระบบเผ่า เกิดศาสนาดึกดำบรรพ์ที่เชื่อในอำนาจเบื้องบน มีเคล็ดลางศักดิ์สิทธิ์ (totem) และข้อห้ามที่ต้องถือปฏิบัติตาม (taboo)
- ยุคหินกลางจึงเริ่มทำการเกษตร มีการบันทึกเป็นภาพวาดการอยู่ร่วมกันในลักษณะเมือง เกิดอารยธรรมเมืองรุ่นแรก
มนุษย์คิดว่าความน่ากลัวของภัยธรรมชาติเกิดจากอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด มนุษย์จึงได้พยายามเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนด้วยการแสดงความเคารพสักการะเบื้องบนโดยหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองพวกเขาให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติทั้งปวง พยายามเอาใจเบื้องบนให้ท่านพึงพอใจมากที่สุด ท่านจะได้เมตตาตน ไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติแก่ตน จึงได้คติแห่งยุคว่า “ทุกอย่างอยู่ที่น้ำพระทัยของเบื้องบน” โลกตามทรรศนะนี้ได้ชื่อว่ากลีภพ (chaos)
ความรู้ที่นักปราชญ์ในยุคดึกดำบรรพ์นั่นก็คือ วิธีรู้ใจและรู้วิธีเอาใจอำนาจลึกลับ เกิดผู้รู้ที่เป็นหมอผี (shaman) และนักบวชในศาสนาดึกดำบรรพ์ ที่คนอื่นต้องเชื่อถือ เคารพ และปฏิบัติตาม
หัวหน้าของชนเผ่าหรือผู้นำของเมืองนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถมากกว่าผู้อื่น
หัวหน้าเผ่ามักเป็นหมอผีหรือนักบวชหรือผู้ที่หมอผีหรือนักบวชสนับสนุนและใช้ความรู้เพื่อปกครองเผ่าหรือเมือง การถ่ายทอดความรู้คงจะอยู่แต่ในระบบวงศ์ตระกูล การเข้ามาของหมอผีใหม่ที่รู้วิธีเอาใจอำนาจลึกลับที่แสดงว่ามีอำนาจเหนือกว่าเบื้องบนองค์เดิมก็จะเปลี่ยนแปลงเมืองหรือเผ่านั้นได้
อารยธรรมเมืองรุ่นแรกๆ มีการสอนความรู้ เน้นความรักสงบรักถิ่นฐาน มักพ่ายต่อการรุกรานยึดครองจากชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่รอนที่เข้ามาปล้นชิงทรัพย์สิน และครอบครองเมือง แต่เมื่อชนะแล้วได้ครอบครองเมือง ชนเผ่าเร่ร่อนก็มักจะอยากตั้งเมืองของตัวเอง เมื่อตั้งเป็นอาณาจักรแล้วก็รับเอาอารยธรรมของเมืองที่ตนชนะมาประยุกต์ใช้กับตน มีการแสวงหากฎเกณฑ์จนแสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจได้ เมื่อมีการคิดค้นตัวอักษร ก็มีการจดบันทึกเพื่อสืบทอดกันต่อมา การเรียนรู้และการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญจนเกิดเป็นความเจริญในระดับอารยธรรมโบราณขึ้น
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ มีบทบาทในอารยธรรมต่างๆ ดังนี้
- อารยธรรมอียิปต์ (ก.ค.ศ. 3100- ก.ค.ศ.300)
- อารยธรรมเมโสโปเตเมีย (ก.ค.ศ. 3000-ก.ค.ศ.331)
- อารยธรรมกรีก (ก.ค.ศ. 1200- ค.ศ.529)
- อารยธรรมจีน (ก.ค.ศ. 2100- ค.ศ.1900)
- อารยธรรมอินเดีย (ก.ค.ศ. 3300- ค.ศ.1200)
สุเมเรียนเป็นชนกลุ่มแรกที่รู้จักประดิษฐ์อักษรได้ราว 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช อักษรลิ่มนี้นับว่าเป็นหลักฐานที่เป็นลายอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในทางประวัติศาสตร์ ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และความรู้ทางด้านต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ ปฏิทิน การชั่ง ตวง วัด
ราว ๆ 2000 ปีก่อนคริสตกาลเริ่มมีอารยธรรมที่มีความรู้ทางการอ่าน-เขียนในยุโรปคือ อารยธรรมของพวกมิโนน (Minoans) ที่เกาะครีต และตามด้วยพวกไมเซเนียน (Myceneans, ประเทศกรีซในปัจจุบัน) ความรู้ได้สะสมเพิ่มพูนกลายเป็นวิชาการต่างๆ และได้มีการสะสมความรู้ไว้ในรูปแบบตำรา หนังสือต่างๆ โดยเกิดเป็นห้องสมุด สถานที่ตั้งขึ้นในยุคแรก ได้แก่ ห้องสมุดวัด และห้องสมุดวังกษัตริย์ เพราะเป็นแหล่งรวมของเหล่านักปราชญ์ นักบวชต่างๆ
ชาวเมโสโพเทเมียมีเทคนิคดูดาวสูงจนสามารถพยากรณ์ตำแหน่งต่างๆ ของดวงดาวล่วงหน้า สามารถพยากรณ์การเกิดจันทรคราสและสุริยคราสได้ ชาวอียิปต์เด่นในด้านเคมีทางการแพทย์ และเก่งในด้านคำนวณและการวัดพื้นที่ด้วยเรขาคณิต มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆ
ชาวกรีกรับช่วงต่อยอดการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดคือ ห้องสมุดของพระเจ้าซาร์กอนแห่งอาณาจักรอัสซีเรีย (Sargon of Assyria, ครองราชย์ ก.ค.ศ. 722-705) เป็นที่รวบรวมหนังสือความรู้ต่างๆ ในรูปของแท่งดินเหนียวสลักตัวอักษรรูปลิ่ม ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสืออยู่ประมาณ 22,000 แท่ง มีการจัดหมู่หนังสือ และลงบัญชีไว้เรียบร้อย ส่วนมากเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา วรรณคดีหลักภาษา วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ถูกสั่นคลอนจนกลายเป็นกระบวนทรรศน์โบราณเมื่อ ทาเลิส (Thales of Miletus, 624-546 B.C.) ได้เสนอthe originating principle of nature ซึ่งเป็นการอธิบาย phenomena โดยไม่อ้างอิงตำนานปรัมปรา (mythology) โดยเสนอว่า Nature of matter was a single material substance: water นั่นคือเสนอน้ำเป็นปฐมธาตุ (อธิบายต่อในสัปดาห์ที่ 4)
ตำนานปรัมปรา (mythology)
ความรู้ทั้งหลายในกระบวนทรรศน์ยุคดึกดำบรรพ์มักจะอยู่ในรูปตำนานปรัมปรา ทั้งนี้ ตำนานหลักคือตำนานการกำเนิดโลกนั่นเอง ซึ่งอธิบายย่อๆ ดังนี้
- ชาวอิยิปต์เชื่อตาม cosmogony ที่ว่า ก่อนจะเกิดโลก ทุกๆ แห่งเต็มไปด้วยน้ำ เรียกว่า nun เป็นผืนน้ำแห่งความสับสนอลหม่าน
- ใต้ผืนน้ำมีไข่ห่านใบใหญ่ วันหนึ่งไข่ห่านแตกออกมา เป็นผืนดินลอยขึ้นมาเหนือผืนน้ำ มีเทพอตุม (Atum) ยืนเหนือผืนดิน ต่อมาเทพอตุมจึงได้จามออกมาเป็นเทพ Shu และเทพี Tefnut
- เทพชูกับเทฟนุชมีลูกคือ Geb และ Nut ซึ่งแต่งงานกันมีลูกเป็นดวงดาวต่างๆ Geb กับ Nut ทะเลาะกัน Geb จึงนอนลงเป็นผืนดิน ส่วน Nut โค้งตัวเป็นผืนฟ้า
- ในกลุ่มลูกๆ ถือว่า Ra (สุริยเทพ) มีอำนาจมาก ต่อมาศาสนาโบราณได้นำมารวมกันเป็น Atum-Ra
- ชาวเมโสโปเตเมียเชื่อตาม cosmogony ว่า หลังกำเนิดพิภพ มีเทพอีอา (EA) เป็นจอมเทพ มีมังกรเพศเมียชื่อ Tiamat เป็นเทพีแห่งน้ำเค็ม น้ำเค็มได้ผสมกับน้ำจืดของเทพ Apsu เกิดเป็นเทพเจ้าต่างๆ
- เทพ Apsu ร่วมมือกับ Tiamat จะแย่งอำนาจจาก EA
- เทพ MARDUK มาช่วย EA ไว้ แล้วผ่าร่าง Tiamat เป็น 2 ซีก เกิดเป็นหลังคาสวรรค์ และท้องมหาสมุทร และได้เอาดาบเสียบลูกตาของ Tiamat ทำให้มีเลือดไหลออกมาเป็นแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส
- ชาวกรีกเชื่อตาม cosmogony of Hesiod (7-8 ร้อยปี ก่อน ค.ศ.) ว่าด้วยกำเนิดโลกจาก chaos มีการแบ่งฟ้า (sky) และดิน (earth) พื้นที่ตรงกลางเรียกว่าโลก (world)
- เทพแห่งฟ้าคือ Urenus และเทพแห่งดิน คือ Gaia เกิดเทพไททัน ได้แก่ Oceanus, Coeus, Creus, Hyperion, Iapetus, Chronos และ เทพธิดา Thea, Rhea, Themis, Thetis, Nemosyne, Phoebe
- Urenus จับลูกๆ ขังไว้ในคุกนรกทาร์ทารัส ต่อมา Gaia จึงปล่อย Cronos ออกมายึดอำนาจจาก Urenus ได้
- Cronos กับ Aether ให้กำเนิดเทพ Hera, Zeus, Poseidon, Hades, Dimity แต่ก็กลัวลูกจะฆ่าตัวเองจึงจับขังในคุกทาร์ทารัส
- Aether ช่วยลูกคือ Zeus ได้ออกมายึดอำนาจของ Cronos เกิดเรื่องราวของมหาเทพแห่งโอลิมปัส
- ชาวจีนเชื่อตาม cosmogony คัมภีร์ไคเพ็ก (ราชวงศ์หมิง) จักรวาลไร้ท้องฟ้า ทุกสิ่งล้วนเวิ้งว้าง มืดมน จักรวาลเหมือนไข่ไก่ใบใหญ่ มีสิ่งมีชีวิตชื่อ ผานกู่ ค่อยๆ เติบโตขึ้นวันละหนึ่งวา 18,000 ปีผ่านไป ผานกู่ตื่นขึ้น ไม่ชอบความอึดอัดจึงใช้เรี่ยวแรงขยายออก 4 ทิศ และพยายามยืนขึ้น จักรวาลจึงได้ขยายออก
- ผานกู่ถอนฟันซี่หนึ่งมาทำขวาน ผ่าอากาศและธาตุต่างๆ ให้แยกออกจากกัน กลายเป็นท้องฟ้า และผืนดิน ที่จะไม่มีวันกลับมารวมกันได้ ระหว่างนั้นเกิดสัตว์วิเศษคือมังกร เต่าดำ หงส์แดง กิเลนเขาเดียวมาช่วยแยกฟ้า ต่อมาได้เป็นต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ
- เมื่อผานกู่ตายลงก็ได้กลายเป็นภูเขา เลือดกลายเป็นทะเล แม่น้ำ ขนได้กลายเป็นต้นไม้ ลูกตาซ้ายเป็นพระอาทิตย์ ลูกตาขวาเป็นพระจันทร์ เส้นผมกลายเป็นดวงดาว กระดูกและฟันเป็นแร่ธาตุและอัญมณี
- พลันปรากฏเทพธิดาหนี่วา ท่องบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นงู หนี่วาได้ให้กำเนิด/สร้างมนุษย์ขึ้น
- ชาวอินเดียเชื่อตาม cosmogony จากคัมภีร์ปัทมปุราณะ ว่าเดิมมีพระเป็นเจ้าองค์เดียว คือ พระพรหม (อาตมภู) ทรงสร้างน้ำ ว่านเชื้อลงน้ำเกิดเป็นไข่ทอง ทรงเข้าไปอยู่ในไข่ทอง 1 ปี ออกจากไขมาเป็นพระพรหมบิดร แบ่งเป็น 3 ภาค คือ พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ
- เกิดปัญหามากมายขึ้นบนโลกมนุษย์ พระศิวะจึงได้ทำลายโลกแล้วก็ได้มีการสร้างโลกขึ้นมาใหม่ โดยสร้างพระนารายณ์ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลรักษาด้วย
- มีเทพประจำแผ่นดิน ทะเล ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และอื่น
- พระพรหมสร้างมนุษย์ จากอวัยวะของพระองค์ ซึ่งได้เกิดเป็นวรรณะต่างๆ ดังนี้
- วรรณะพราหมณ์ เกิดจากเศียรของพระองค์
- วรรณะกษัตริย์ เกิดจากบ่าของพระองค์
- วรรณะแพศย์ เกิดจากส่วนท้องของพระองค์
- วรรณะศูทร เกิดจากเท้าของพระองค์
การตอบคำถามทางปรัชญาตามกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์
ปัญหาต่างๆ ในยุคนี้ ล้วนตอบผ่านตำนานปรัมปรา คำถามไหนตำนานปรัมปราตอบไม่ได้ ก็ใช้คำตอบแห่งยุค เช่น
- ทำไมน้ำจึงไหลลงสู่ที่ต่ำ คำตอบคือ เบื้องบนประสงค์อย่างนั้น ถ้าประสงค์จะไหลขึ้นบนก็ทำได้
- ทำอย่างไรให้พระเจ้าพอใจ ก็ทำตามที่เบื้องบนบอก เบื้องบนบอกเองไม่ได้ก็ต้องทำตามที่นักบวช คนทรง หมอผีบอก ไม่มีสิทธิขัดขืน ขอเพียงทำให้เบื้องบนพอใจ โลกนี้ก็จะดี โลกไหนๆ ก็จะดีด้วย
ปรัชญาเริ่มตั้งแต่มนุษย์เริ่มคิดเป็น ตั้งคำถามเป็น และได้ตอบคำถามเกิดเป็นความรู้ที่พัฒนาเป็นอารยธรรมต่างๆ ของมนุษย์ กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ตอบคำถามผ่านตำนานปรัมปรา โดยเฉพาะตำนานกำเนิดโลก และคำตอบแห่งยุคคือ ทุกอย่างอยู่ที่น้ำพระทัยของเบื้องบน
สรุป
ปรัชญากระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์เริ่มจากคำถามและนำไปสู่คำตอบแห่งยุคยาวนานเป็นล้านปี คนในยุคนี้พอใจคำตอบที่อธิบายสรรพสิ่งว่าเกิดแต่น้ำพระทัยเบื้องบน ความรู้ในตำนานเทพ ตำนานกำเนิดโลก และการรู้น้ำพระทัยเบื้องบนเป็นความรู้สูงสุด ความรู้อื่นๆ เป็นเรื่องรองลงไป
2 thoughts on “ปรัชญาศึกษา: บทที่ 5 กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์”