แนวคิดกระบวนทรรศน์หลังนวยุค
ปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุค (Post-Modern Philosophy) เป็นกระแสที่ไม่มีขอบเขตเริ่มต้นชัดเจน แต่เป็นการปรับท่าทีต่อการใช้ปรัชญาโดยชี้ว่าปัญหาใหญ่ของโลกเช่น สงครามโลกล้วนเกิดจากความยึดมั่นถือมั่น (attachment) ของผู้ถือปรัชญายุคก่อนหน้าทั้งสิ้น
จุดสะดุดสำคัญคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่าง ค.ศ.1914-1918 ชนวนสำคัญคือนโยบายจักรวรรดินิยมที่แย่งชิงการมีอิทธิพลเหนือผลประโยชน์ในดินแดนต่างๆ จนมีกองกำลังเสียชีวิตรวม 10 ล้านคน บาดเจ็บ 20 ล้านคน สูญหาย 8 ล้านคน และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิเยอรมันต้องล่มสลายลง
จุดสะดุดที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลาคือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง ค.ศ. 1939-1945 กองกำลังเสียชีวิตรวม 24 ล้านคน พลเรือนเสียชีวิต 49 ล้านคน และจบสงครามด้วยการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าล่าสุดของวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น มนุษยชาติจึงพากันตระหนักว่าโลกไม่อาจรองรับสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้อย่างแน่นอน
ปรัชญามองว่าความรุนแรงของสงครามเกิดจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์เข้มข้นตามปรัชญานวยุค (modern philosophy) ภาพยนตร์ โทรทัศน์และนิยายต่างๆ ล้วนนำเสนอภัยของวิทยาศาสตร์
ปรัชญาจึงปรับท่าทีเพื่อแก้ปัญหาหรือปฏิเสธความเป็นนวยุค (modernity) โดยปฏิเสธวนจศูนย์นิยม (logocentrism) ซึ่งเป็นเทอมที่บัญญัติเพื่ออธิบาย western science โดย Ludwig Klages (1920) นั้นคือ การปฏิเสธ assumption ที่ว่า
- ความเป็นจริงทั้งหมดประสานกันเป็นระบบเครือข่ายที่ตายตัว
- มนุษย์สามารถสร้างความจริงวัตถุวิสัยเป็นระบบเครือข่ายได้
- มนุษย์สามารถถ่ายทอดความรู้เป็นระบบเครือข่ายได้ตรงตามที่คิดด้วยภาษาอุดมคติ
การระเบิดทิ้งอาคารที่พักอาศัย Prutt-Igoe, St.Louis , Missouri (ค.ศ.1954-1972) เพราะโครงการล้มเหลว จนไม่มีผู้พักอาศัย คนส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกไม่ชอบตึกที่พักที่เป็นแท่งเหลี่ยมๆ (ศิลปะโมเดิร์น) จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
กระแสข้อกังขา
- Werner Heisenberg (ค.ศ.1901-1976) เสนอหลักความไม่แน่นอน (Uncertainty theory) ทำให้ Quantum theoryซึ่งแสดงความตายตัวของอนุภาคซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง เกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรง เพราะความไม่แน่นอนทำให้ไม่อาจพยากรณ์ได้
- Frank Ramsey (ค.ศ.1903-1930) ได้แสดงว่าความน่าจะเป็นคือระดับวัดความเชื่อของผู้ใช้เหตุผล แม้จะมีค่าสูงเท่าใด และเชื่อว่าใกล้เคียงกับความจริงวัตถุวิสัยที่สุด แต่สำหรับผู้ใช้เหตุผลก็เป็นเพียงระดับความเชื่อถือต่อข้อมูลที่ได้
- Edvard Westermarck (ค.ศ.1862-1939) ชี้ว่าหลักจริยธรรมเป็นสัมพัทธ์ตามวัฒนธรรมของสังคมที่ตนจำกัดอยู่ กฎจริยศาสตร์เป็นอัตวิสัยเกิดจากอารมณ์ (emotion) ไม่ใช่จากเหตุผล (reason)
- Ludwig Wittgenstein (ค.ศ.1889-1951 ) ภาษาพัฒนาไปตามความสำนึก ภาษาที่ใช้กันคือภาษาสามัญเป็นภาษาสังคมและมีความหมายลึกซึ้งอยู่ในตัว ความรู้ของมนุษย์เป็นเพียง picture of reality
- Friedrich Hegel (ค.ศ.1770-1831 ) มองว่าความรู้ทั้งหลายที่เราคิดว่าเป็นความจริงและความเป็นจริงล้วนแต่ตรงกับระบบเครือข่ายตรรกะ ดังนั้นจึงเป็นระบบเครือข่ายตรรกะนั่นเองที่แสดงตัวออกไปภายนอกความคิด
กระแสรื้อถอน: ความเป็นหลังนวยุคด้วยการวิจารณ์เชิงลบ (deconstructionism)
- Friedrich Nietzsche (ค.ศ.1844-1900) ชี้ว่าความเป็นจริงเป็นพลังที่แสวงหาอำนาจอย่างตาบอด ไม่อยู่นิ่งตายตัวและไม่เป็นระบบระเบียบ ความเป็นสากลเป็นเพียงสถิติบันทึก การสร้างกฎเกณฑ์จึงเป็นการบิดเบือนและหลอกตนเองของมนุษย์
- Jean Paul Sartre (ค.ศ.1905-1980) เน้นว่ามนุษย์นั้นอิสระและรับผิดชอบในการกระทำของตน
- Michel Foucault (ค.ศ.1926-1984) มองว่าจิตแสดงออกมาเป็นความเป็นจริงและความจริงให้กับสังคม ซึ่งก็คือความต้องการของผู้มีอำนาจในสังคมที่แสดงออกมา ปัญญาชนในแต่ละยุคเป็นผู้กำหนดความคิดของสังคมก็เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจที่สนับสนุนปัญญาชนนั้นๆ อยู่
- Jacques Lacan (ค.ศ. 1901-1981) ชี้ว่าต้องถอด signifier ที่มีต่อภาษาออกก่อน จึงจะเข้าใจเนื้อหาในภาษานั้นได้
- Jacques Derrida (ค.ศ. 1930-2004) ความหมายของภาษานั้นสมควรเลื่อนออกไปก่อน (difference)
- Jean Baudrillard (ค.ศ. 1929 – 2007) ชี้ว่าเทคโนโลยีก่อให้เกิดความสามารถในการผลิตซ้ำได้อย่างไม่จำกัด ทำให้เกิด hyper-reality society ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งจำลอง (simulacrum) จนไม่สามารถที่จะแยกระหว่างของจริงกับสิ่งจำลองได้
- Jean Francios Lyotard (ค.ศ. 1924 – 1998) เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนทางญาณวิทยาซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรู้ และเป็นเพียงเรื่องเล่าใหญ่ (grand narrative) เท่านั้น องค์ความรู้ที่ดีที่สุดในโลกยุคนี้คือความรู้แบบชั่วคราวที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า Postmodern ในชื่อหนังสือ The Postmodern Condition : A Report on Knowledge (1979)
- Claude Levi-Strauss (ค.ศ. 1908-2009) ชี้ว่าเรื่องปรัมปรา (myth) และเรื่องเล่า (narrative) ล้วนมีความหมายตรงกับความเป็นจริงอยู่บ้าง จึงต้องเข้าใจอย่างองค์รวมและนำวัฒนธรรมมาคิดเปรียบเทียบด้วยเสมอ
- Gilles Deleuze (ค.ศ. 1925-1995) สิ่งที่เราบ่งชี้ได้ล้วนเกิดจากความแตกต่าง (all identities are effects of difference)
กระแสรื้อสร้างใหม่ด้วยการวิจารณญาณ (reconstructionism)
- Clifford Geertz (ค.ศ. 1926-2006) มนุษย์สากลไม่มีจริง สิ่งสากลทางวัฒนธรรมอันได้แก่ความเชื่อร่วมกันของมนุษย์ทุกคนก็ไม่มีจริง เพราะว่าค้นหาไม่พบ พบแต่ความแตกต่าง เจตจำนงเลือกอย่างเสรีและความสามารถจำอย่างไม่มีขีดจำกัดทำให้มนุษย์จำการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้ สามารถรวบรวมไว้ปฏิบัติและถ่ายทอดสืบต่อมาด้วยภาษาและการปฏิบัติเป็นตัวอย่าง จนเป็นประเพณีและวัฒนธรรมประจำสังคมนั้นๆ
- Donald Davidson (ค.ศ.1917-2003) ภาษามีลักษณะ holistic ประโยคประกอบขึ้นด้วยความหมายของคำ แต่ความหมายของคำก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของประโยชน์นั้นเช่นกัน
- Richard Rorty (ค.ศ. 1931-2007) เสนอ representationalism คือ การถอดประวัติศาสตร์ออกจากคำ และชี้ว่า pragmatized culture ต้องเน้น naturalism, liberalism, ethnocentrism
- Hilary Putnam (ค.ศ. 1926- ) ความหมายของคำนั้นเกิดจากวัตถุที่คำนั้น refer to ซึ่งจัดหมวดหมู่โดยrigid designator ในเรื่องนั้นๆ
- Vienna Circle ได้ปรับท่าทีมาเน้น Critical thinking ตามแนวคิดของ ได้แก่ analysis, appreciation, application
- กระแสหลักการประนีประนอมด้วยแนวคิดที่ว่าย้อนอ่านทั้งหมด ไม่ปฏิเสธสิ่งใด (reread all, reject none)
- กระแสการเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต
- In postmodern world, we have begun to talk not about life itself, but the quality of life (Ette, E.K. 2009. Annang Wisdom: tools for postmodern living. Xlibris, USA; p.452)
- การมุ่งความสุขแท้ตามความเป็นจริง
- Authentic Happiness according to reality (Kirti, B., Fangton, L., Xuanmeng, Y., Wujin, Y. (1999). The bases of values in a time of change: chinese and western. Cutural heritage and contemporary change. Series III, Asia; vol 17; 134)
สรุปรวบยอดปรัชญากระบวนทรรศน์
- กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ (primitive paradigm) มองทุกอย่างว่ามาจาก
น้ำพระทัยของเบื้องบน - กระบวนทรรศน์โบราณ (ancient paradigm) มองทุกอย่างว่ามาจากกฎเกณฑ์ตายตัว
- กระบวนทรรศน์ยุคกลาง (medieval paradigm) มองทุกอย่างว่าเป็นทางไปสู่โลกหน้า
- กระบวนทรรศน์นวยุค (modern paradigm) มองทุกอย่างว่าเป็นระบบเครือข่ายตามเกณฑ์วิทยาศาสตร์
- กระบวนทรรศน์หลังนวยุค (postmodern paradigm) มองทุกอย่างด้วยวิจารญาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
สรุป
ปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุค ตั้งประเด็นโจมตีกระบวนทรรศน์นวยุคอย่างชัดเจน และมาคลายตัวในแนวทางสายกลาง ทั้งนี้ กระแสคิดนี้ยังไม่เดินทางถึงที่สุด จะต้องติดตามว่ามีแนวคิดปรัชญาใหม่ๆ ใด หรือ แนวคิดที่ปรับปรุงของเก่าอะไรเกิดขึ้นมาเพื่อชี้แนะต่อโลกในยุคปัจจุบันที่มีอิทธิพลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงสันติภาพโลก
2 thoughts on “ปรัชญาศึกษา: บทที่ 9 ปรัชญาหลังนวยุค-1”