การเรียนรู้อย่างปรัชญา
เมื่อศึกษาปรัชญาแล้ว จะเป็นนักปรัชญาแบบไหนดี
- ความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียวที่ถูกต้อง ฝ่ายอื่นล้วนผิดทั้งสิ้น
- รอบรู้ทุกคำตอบ เห็นความขัดแย้งในทุกคำถาม ไม่ยึดติดสิ่งใด เพียงเห็นเป็นเกมฝึกสมอง
- รอบรู้รอบด้าน หาคำตอบที่เหมาะสมไว้เป็นหลักเฉพาะตัว
วิชาปรัชญาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด เพียงชี้ปัญหาและคำตอบเท่าที่เป็นไปได้เพื่อให้ผู้อื่นตัดสินใจเลือกอย่างรอบคอบไปแก้ปัญหา
ปรัชญามีปัญหาอยู่ตลอด มีคำตอบจากทุกฝ่าย แม้ไม่ชอบก็ต้องรับฟังไว้ก่อน มีความคิดเห็นของตนเองและเคารพความคิดเห็นผู้อื่น บทบาทของปรัชญาคือ การเป็นผู้ชี้แนะ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
กระบวนทรรศน์ปรัชญา
การเรียนปรัชญาเป็นเรื่องๆ ไป ทำให้เนื้อหาปรัชญามีมาก กีรติ บุญเจือ (2546) จึงได้ประมวลแนวทางการเรียนปรัชญาเป็นการศึกษาด้านปัญญา และได้เสนอแนวคิดกระบวนทรรศน์ทางปรัชญา (philosophical paradigm of thought) คือ วิวัฒนาการทางความคิดพื้นฐานหรือความคิดร่วมของสังคมในแต่ละยุค มีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ที่อยู่ในกระบวนทรรศน์นั้น
กระบวนทรรศน์จึงเป็นวิวัฒนาการในการมองปัญหาของมนุษย์ เมื่อใช้วิจารณญาณประเมินจากประวัติศาสตร์ปรัชญาเป็นสำคัญพบว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการทางปัญญามาแล้ว 4 ครั้ง โดยหลักการพัฒนาการทางปัญญา (Development of thought) และแบ่งออกเป็น 5 กระบวนทรรศน์ปรัชญา ได้แก่
- กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ (primitive paradigm) ถือว่ามนุษย์คนแรกก็เริ่มคิดได้ เมื่อ 2-3 ล้านปีที่แล้ว และสืบต่อความคิดมาอย่างต่อเนื่อง ความกลัวภัยธรรมชาติทำให้คิดหาคำตอบว่าภัยธรรมชาติมาจากไหน
- มนุษย์คิดว่าความน่ากลัวของภัยธรรมชาติเกิดจากอำนาจลึกลับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด มนุษย์จึงได้พยายามเอาใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบนด้วยการแสดงความเคารพสักการะเบื้องบนโดยหวังว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองพวกเขาให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติทั้งปวง พยายามเอาใจเบื้องบนให้ท่านพึงพอใจมากที่สุด ท่านจะได้เมตตาตน ไม่ให้เกิดภัยธรรมชาติแก่ตน
- จึงได้คติแห่งยุคว่า “ทุกอย่างอยู่ที่น้ำพระทัยของเบื้องบน”
- โลกตามทรรศนะนี้ได้ชื่อว่ากลีภพ (chaos)
- กระบวนทรรศน์ยุคโบราณ (ancient paradigm) มองทุกอย่างว่ามาจากกฎเกณฑ์ตายตัว ซึ่งอาจเป็นกฎไสยศาสตร์ ตำนานปรัมปรา หรือระบบเครือข่ายของเจ้าสำนัก
- มนุษย์ในยุค 1,000 ปีก่อนคริสตศักราช ไม่พอใจกับความรู้เท่าที่รู้ เริ่มมีปัญหาว่าเราจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหลายในธรรมชาติโดยไม่ต้องอ้างเบื้องบนจะได้ไหม คำตอบ คือ ได้ พวกเขารับรู้ว่าโลกมีกฎมีระเบียบ ซึ่งปัญญาเข้าถึงได้จากการสังเกต และเก็บรวบรวมข้อมูล จนสามารถสรุปได้ว่า ภัยธรรมชาติมักเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเป็นวงจรของธรรมชาติ นั่นคือ มีกฎธรรมชาติ (law of nature) ที่ตายตัวไม่เข้าใครออกใคร
- ความรู้ได้ถูกรวบรวมเพื่อสรุปเป็นระเบียบแบบแผนไว้ และกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าประสงค์ในการที่มนุษย์จะได้มีความสุขในโลกนี้ โดยรู้และทำตามกฎธรรมชาติ
- จึงได้คติแห่งยุคว่า “Ipse dixit” “ดังท่านว่าไว้”
- โลกตามทรรศนะนี้ได้ชื่อว่าเอกภพ (cosmos)
- กระบวนทรรศน์ยุคกลาง (medieval paradigm) มนุษย์เริ่มพบว่าแม้จะรู้กฎธรรมชาติและปฏิบัติตามแล้วก็ยังคงมีความทุกข์จึงพยายามหาความสุขอย่างมีความหวัง
- ศาสนาได้เข้ามามีบทบาทหลัก เกิดความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างที่กระทำในโลกนี้ก็เพื่อส่งผลดีในโลกหน้า เกิดความศรัทธาต่อศาสนาและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์คำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด
- มนุษย์จึงสละโลก บำเพ็ญพรต ศึกษาคัมภีร์
- ต้องอดทนและหมั่นกระทำความดี หลีกเลี่ยงความชั่ว เพราะจะมีความสุขในโลกหน้าที่รออยู่
- จึงมีคติแห่งยุคว่า “ความดีบัญญัติไว้ตามคัมภีร์”
- กระบวนทรรศน์นวยุค (modern paradigm) เริ่มเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากการค้นพบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะทำให้รู้กฎเกณฑ์ทั้งหมดของโลก
- วิทยาศาสตร์จะแก้ปัญหาทุกอย่างของมนุษย์ได้ และโลกนี้จะน่าอยู่ดุจสวรรค์โดยไม่ต้องรอโลกหน้า
- ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้น
- ศาสนาเป็นสิ่งมอมเมาประชาชน
- คติแห่งยุคว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการวิทยาศาสตร์”
- กระบวนทรรศน์นวยุค เชื่อมั่นในระบบเครือข่ายความรู้ของมนุษย์ชาติว่า
กฎของเอกภพประสานกันเป็นระบบเครือข่าย (network) แน่นอนตายตัวเพียงระบบเดียว ปัญญาของมนุษย์สามารถเข้าใจกฎและระบบเครือข่ายได้ตามความเป็นจริง มนุษย์สามารถสร้างภาษาอุดมการณ์เพื่อสื่อความรู้ได้ตรงตามความเข้าใจ

ภาพ 4.1 เครือข่ายความรู้
- กระบวนทรรศน์หลังนวยุค (postmodern paradigm) เริ่มเมื่อปรัชญาของคานท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) ได้เสนอว่ามนุษย์รู้ความจริงก็จากกระบวนการของสมอง ดังนั้นมนุษย์จึงไม่รู้ความเป็นจริง
- วิทยาศาสตร์พัฒนาโลก แต่ก็ทำลายล้างโลกด้วยสงครามโลก 2 ครั้ง
- วิทยาศาสตร์ค้นพบกฎของความไม่แน่นอน แล้วจะมีสิ่งใดที่แน่นอน
- เพราะมนุษย์ยึดมั่นถือมั่น ทำให้จับกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกัน และแยกกลุ่มกับคนที่คิดไม่เหมือนกันเกิดการแข่งขันให้มีพวกมากเข้าไว้เพื่อจะได้มั่นคง ปลอดภัย จนกลายเป็นความขัดแย้งกัน
- โลกต้องมุ่งสร้างสันติภาพและการเน้นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- ต้องลดความยึดมั่นถือมั่น ผ่านการวิเคราะห์ วิพากษ์และการตีความใหม่
- คติแห่งหลังนวยุคสุดขั้ว คือ “จงรื้อถอนความหมาย”
- คติแห่งหลังนวยุคสายกลาง คือ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อความสุขแท้ตามความเป็นจริง”
ปรัชญาคือ วิชาว่าด้วยปัญญา จึงสนใจวิวัฒนาการทางความคิดพื้นฐานหรือความคิดร่วมของสังคมในแต่ละยุคเรียกว่า กระบวนทรรศน์ซึ่งมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้ที่อยู่ในกระบวนทรรศน์นั้น การเรียนรู้ปรัชญาด้วยปรัชญากระบวนทรรศน์จึงเป็นวิวัฒนาการในการมองปัญหาของมนุษย์ และเป็นแนวทางในการใช้วิจารณญาณประเมินคำตอบจากกระบวนทรรศน์ของคนในแต่ละยุคสมัยที่ยังคงสืบทอดความคิดมาจนถึงปัจจุบัน
สรุป
มนุษย์มีกระบวนทรรศน์ความคิดมาตั้งแต่แรกเริ่มมีมนุษย์ แบ่งกระบวนทรรศน์ทางปรัชญาเป็น 5 กระบวนทรรศน์ ซึ่งมีคำถามและหลักคำตอบของแต่ละกระบวนทรรศน์เอง การเปลี่ยนกระบวนทรรศน์เกิดขึ้นเมื่อไม่พอใจต่อคำตอบเดิมจากระบวนทรรศน์เก่า
2 thoughts on “ปรัชญาศึกษา: บทที่ 4 กระบวนทรรศน์ปรัชญา”