อ.ดร.สิริกร อมฤตวาริน
…
การฟังอย่างตั้งใจ: ภูมิคุ้มกันทางสังคม
ภูมิคุ้มกันต่อการไม่รับรู้โลกภายนอกอย่างพอเพียงคือ การฟัง ซึ่งจะต้องเข้าใจในฐานะกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ มนุษย์มีความแตกต่างในเชิงคุณภาพการรับฟังเสียงและปัญหาของการฟังในแต่ละปัจเจกบุคคล มนุษย์จะรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกได้ก็ด้วยการมีความรู้อย่างพอเพียง ไม่ขาดแคลนจนกระทั่งไม่สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับโลกได้ ทั้งนี้ การศึกษาเป็นการรับมือที่ดีที่สุด โดยต้องพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ให้มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น กระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ได้พัฒนาเทคนิคการฟังอย่างตั้งใจ (deep listening) เพื่อให้เกิดการตั้งใจฟัง (attention) และจำแนกคำพูดของคู่สนทนาโดยไม่รีบด่วนสรุป (jump to conclusion) ซึ่งเป็นปัญหาอย่างสำคัญในการพูดคุยหรือกระบวนการกลุ่ม เพราะจะมีแต่ผู้พูดกับผู้รอจะพูดจนการเสวนาหรือการประชุมไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ Gordon (2011) ชี้ว่าการฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เราเข้าใจครอบฟ้า (Horizon) ของคน ๆ นั้นซึ่งแตกต่างกันกับคนอื่น มิใช่เพียงแค่การฟังให้รู้ความ แต่เป็นการฟังเชิงลึก การฟังด้วยใจและกำหนดว่า ณ ขณะนั้นมีเพียงผู้พูดที่อยู่ตรงหน้าเพียงคนเดียว โดยจะไม่ตีความ ตัดสิน ประเมินค่า หรือวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงการฟังเพื่อฟังและอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น การฟังจึงเป็นเครื่องมือสำหรับมนุษย์ในการทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม มโนคติด้านสุนทรียสนทนา (dialogue) ของ Martin Buber ที่ได้แสดงไว้ในหนังสือ Knowledge of Man: selected essays ปี 1998 ได้ให้ความสำคัญกับการฟังยิ่งขึ้นโดยเห็นว่าการฟังอย่างแท้จริง (truly listen) ทำให้สิ่งเป็นอยู่ (being) ของผู้อื่นมีความเป็นปัจจุบัน นั่นคือ มีการตอบสนองต่อผู้อื่นในฐานะบุคคลโดยภาพรวม (whole person) และสร้างพื้นที่ให้ผู้อื่นได้พูดด้วยคำ (word) และความหมาย (meaning) ของเขา เมื่อแต่ละคนเปิดใจให้กับความเป็นอยู่ของผู้อื่น ก็ย่อมที่จะไม่พยายามพูดแทนผู้อื่นหรือไปกำหนดรูปแบบการใช้ภาษา มโนทรรศน์ (concept) และรูปแบบการสื่อสาร (interpretive schemes) แก่ผู้อื่น การฟังเช่นนี้จึงเป็นการฟังที่ดีเลิศ (genuine listening) ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้ผู้อื่นได้สร้างภาษาและความหมายของตนเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างอย่างมากจากภาษาทั่วไป
การฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งเป็นวิธีการตั้งใจฟังและจำแนกคำพูดของคู่สนทนาโดยไม่รีบด่วนสรุป เน้นการใช้วิจารณญาณ ให้แต่ละคนสามารถมีศักยภาพในการฟังอย่างเต็มและมองหาการเข้าใจถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังคำพูดเหล่านั้น การรู้ความหมายที่อยู่ระหว่างบรรทัด อารมณ์ของผู้พูด ภาษากาย ความต้องการและเป้าหมายของผู้พูด สามารถจำแนกได้ว่าผู้พูดต้องการอะไรเป็นพิเศษ ความเอนเอียง ความเชื่อ และคุณค่าที่ผู้พูดยึดถือ จนถึงขั้นการฟังคนทั้งคน และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟังกับผู้พูดนำไปสู่การเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ จึงเหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้การฟังอย่างตั้งใจสำหรับเป็นพื้นฐานการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเกิดเป็นภูมิคุ้มกันต่อภาวะสังคมก้มหน้าได้
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะสำคัญเพื่อการฝึกฝนการฟังอย่างตั้งใจ ดังนี้
- การฟัง เป็นบาทแรกของการศึกษาเล่าเรียน จาก สุ จิ ปุ ลิ การฟังจึงถูกทอนความสำคัญลงไปในช่วงของการศึกษาสมัยใหม่ โดยเน้นการอ่านและคิด ส่งผลให้การฟังของคนรุ่นใหม่ลดศักยภาพลง จึงต้องเน้นการฝึกฝนอยู่เสมอ
- รูปแบบการฝึกที่ดี มี 3 ขั้น คือ ฝึกแยกแยะ ฝึกสนทนาคู่ และฝึกสนทนากลุ่ม
- ผู้ฝึก จะต้องทดลองทำซ้ำในชีวิตประจำวัน
- เนื้อหาการฝึก ควรมีแนวทางที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มของผู้ฝึก โดยเน้นเรื่องการฟังและความหมาย บริบทและความหมายระหว่างบรรทัด
- กลุ่มผู้ฝึก การฝึกเป็นกลุ่มอาจทำให้มีการโน้มน้าวว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่การฟังอย่างตั้งใจเป็นทักษะปัจเจก ต้องให้ฝึกเดี่ยวได้ก่อน