ความดีและความงามนั้นมีลักษณะแตกต่างออกไปตามองค์ประกอบของแต่ละอย่าง รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าหลักการของความงามและความดีเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดวางการจัดการศึกษาตามความต้องการของสังคม โดยมีเป้าหมายให้เข้าใจหลักการของความงามและความดีที่ใช้เป็นหลักการดำรงชีวิตในสังคม ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างความดีและความงามที่มุ่งเน้นเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้พบว่ามีข้อบกพร่องในการจัดการศึกษาด้านคุณธรรมและจริยธรรม อันมีผลทำให้เกิดวิกฤติในด้านคุณธรรมขึ้นในสังคมไทย ทำให้เกิดมีแนวคิดในการปรับปรุงการจัดการศึกษาที่เน้นคุณธรรมและจริยธรรม และเป็นผลให้เกิดแนวคิดว่า การจัดการศึกษาควรมุ่งสอนให้เป็นคนดีก่อนที่จะสอนให้เป็นคนเก่ง
ประเด็นความดีที่แทรกเข้ามาคือ เกณฑ์มาตรฐานการวัดความดีงานที่มีคุณค่าของสังคมไทย ทรรศนะและความเห็นต่างที่เกี่ยวข้องกับความดีได้ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับความงดงามของความประพฤติตามกรอบของสังคมไทย ที่เจือปนด้วยทรรศนะทางความเชื่อที่แตกต่างด้วยพื้นฐานของความรู้ที่แตกต่าง จึงทำให้เห็นประเด็นความแตกต่างของบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ยิ่งสร้างความสงสัยในประเด็นปัญหาเรื่องความดีงามมากขึ้น
ความคิดทางปรัชญาเป็นการสร้างกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้โดยใช้เหตุผลทางการคิดที่ใช้ข้อมูลจากการรับรู้ในเรื่อง ความจริง ความดี และความงาม ที่ปรากฏหรือพบเห็นในแต่ละช่วงเวลา ในระยะแรกมีการสร้างกรอบความคิดว่า หากต้องการศึกษาเรื่องความจริง ความดี และความงาม ควรมองว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่มีอยู่จริงหรือเป็นเรื่องของสิ่งที่มีอยู่เฉพาะในความคิด หรือมีอยู่ในภาษาที่ใช้สื่อสาร ซึ่งเป็นความจริงที่มีปรากฏอยู่ในสามส่วน
แต่แนวคิดปรัชญาในระยะต่อมามีทรรศนะว่าเรื่องราวทั้งหมดทางปรัชญาเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นตามกรอบความคิดของแต่ละคน ที่ทุกคนบอกว่าเป็นความจริงนั้นเป็นความจริงเฉพาะส่วนของบุคคล ซึ่งรับรู้ได้ตามทักษะความชำนาญของตนเอง สิ่งที่ทุกคนนำมากล่าวจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์เฉพาะส่วนของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ความจริงสากล เพราะทุกคนไม่สามารถเข้าถึงความจริงสากลได้ ดังนั้น จึงควรร่วมมือกัน เพื่อสรุปความคิดเห็นที่ทุกคนได้รับรู้ไว้เป็นข้อมูลและแสดงความคิดเห็นให้ปรากฏแก่คนอื่นที่ไม่รู้ได้รู้โดยทั่วกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างความก้าวหน้าในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ความรู้ในโลกต่อไป
กรอบความดีทางสังคมมีสองลักษณะคือ ความดีตามรูปแบบของสังคมส่วนรวมและสังคมส่วนย่อย ซึ่งอาจมองได้ตามกรอบที่แต่ละคนได้ปฏิบัติตน ตามบทบาทที่แต่ละคนได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมด้วย คำที่ใช้เรียกในส่วนนี้ คือ ประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตน การปฏิบัติด้วยความเคารพในหน้าที่ของแต่ละคน และการปฏิบัติตามกรอบวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละเผ่าพันธุ์หรือกลุ่มชุมชน
ปัญหาความดีและความงามที่มุ่งเน้นในเป้าหมายที่แตกต่างกันนี้ทำให้สังคมไทยได้สร้าง “คำ” ขึ้นมาเพื่ออธิบาย แต่การสร้างคำในสังคมไทยที่ใช้เพื่อการสื่อความหมายถึงบุคคลที่ประพฤติตนอยู่ในกรอบขนบประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมไทย อีกทั้งเป็นผู้สร้างคุณูปการแก่สังคมไทย ดังนั้น คนที่ประพฤติและปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยส่วนรวมจึงถูกกำหนดให้เรียกว่าเป็นบุคคลที่มีความ “ดีงาม” ของสังคม
คำที่นิยมหยิบยกนำมาใช้นั้นเป็นการนำเอาคำที่มีความหมายว่า “ดี” ซึ่งหมายความถึง บุคคลที่ประพฤติปฏิบัติตนที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคมและคำที่มีความหมายว่า “งาม” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่กระทำดีมาโดยตลอดจนเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปในสังคม สังคมจึงยอมรับว่าการกระทำเช่นนั้นเป็น “ความงาม” ในการดำเนินชีวิต นอกจากจะสื่อความหมายว่า “งาม” แล้ว ยังคิดสรรหาคำที่ใช้สื่อความหมายใหม่โดยใช้ว่า “ดีงาม” ซึ่งมีความหมายรวมว่า “ดีและงาม” อยู่ในคำเดียวกัน
ในขณะเดียวกันท่ามกลางสภาวะหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์ต่างๆที่มีรสชาติหลากหลายในชีวิต พบว่าภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสารย่อมแตกต่างออกไปตามบริบทของผู้ใช้ การสื่อสารระหว่างกันจึงขึ้นอยู่กับบริบทของผู้ส่งสารกับผู้รับสาร หากผู้ส่งสารสามารถสื่อสารได้ชัดเจน ผู้รับสารมีความเข้าใจกับสาระที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อสารก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าผู้รับสารตีความผิดแผกไปจากบริบทที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อก็จะเกิดเป็นปัญหาที่จะไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุนี้คำที่ใช้ในภาษาจึงต้องมีการนิยามความหมายไว้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับความเข้าใจร่วมกัน ในขั้นเบื้องต้นทุกคนจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันต่อสารที่ใช้สื่อถึงกัน คำหนึ่งคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกันย่อมมีความหมายเป็นที่เข้าใจร่วมกันในขั้นเบื้องต้น แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปในช่วงระยะหนึ่งความเข้าใจของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าในสังคมภูมิภาคเดียวกัน ในบางครั้งอาจมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน ดังนั้น คำเก่า ๆ บางคำอาจไม่เป็นที่นิยมใช้ในการสื่อสารก็จะถูกลืมเลือนไป เมื่อนำคำนั้นกลับมาใช้สื่อสารใหม่ การตีความเพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายอาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทความเข้าใจของผู้ใช้สื่อสารและผู้รับสารเองก็ตีความคำที่รับมาตามประสบการณ์ทางภาษาของตนเอง
“ดีงาม” จีงเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้คำเพื่อการสื่อสาร ในการกล่าวถึงบุคคลคนใดบุคคลคนหนึ่งที่ต้องการยกย่องและบ่งชี้ว่า บุคคลผู้นั้น หรือบุคคลผู้นี้มีคุณงามความดีในการประพฤติตน และพฤติกรรมที่ได้กระทำมาในอดีต ในแต่ละช่วงวัยของชีวิตมีความเหมาะสม สมควรที่จะยกย่อง แต่มีประเด็นที่น่าสงสัยในความหมายของคำนี้คือ ทำไมจึงมีคำว่า “งาม” ตามหลังคำว่า “ดี” เพื่อเป็นการขยายความหมายเพิ่มขึ้นอีก ทำไมจึงเกิดความคิดในการใช้คำ คำนี้มีความคิดใดเป็นความคิดหลัก และความคิดหลักนี้มีอะไรเป็นหลักคิดเบื้องหลังของความคิดนั้น