๔. วิวัฒนาการของมาตรการความยุติธรรม
๔.๑ ความยุติธรรมคือการแก้แค้น ในสมัยแรกๆของมนุษยชาติจะพบหลักฐานทั่ว ๆ ไปว่าความยุติธรรมคือการแก้แค้น เช่น ถ้าญาติคนหนึ่งถูกรังแก ทุกคนในวงศ์ตระกูลจะต้องช่วยกันแก้แค้นมิฉะนั้นจะไม่ยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกรังแก วิธีแก้แค้นนั้นทำได้ตามใจ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียหายให้มากที่สุดเป็นใช้ได้ หรือถ้าคนในเผ่าถูกฆ่าตาย ทุกคนในเผ่าถือเป็นหน้าที่จะต้องแก้แค้น เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้ตาย ความรู้สึกที่ว่าต้องรักษาความยุติธรรมในทำนองนี้ยังมีอยู่แม้ในสมัยปัจจุบัน ผู้รักษากฎหมายบ้านเมืองหย่อนสมรรถภาพ ณ ที่ใด ประชาชนจะจัดการกันเองตามความยุติธรรมแห่งการแก้แค้น ภาพยนตร์จีนที่ถือการแก้แค้นเป็นคุณธรรม (แค้นนี้ต้องชำระ) เป็นเรื่องของวรรณกรรมจีนที่เกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ชมพึงตระหนักถึงเรื่องนี้และไม่ควรถือเอาเป็นตัวอย่างของคุณธรรมสำหรับคนในสมัยปัจจุบัน กฎหมายที่กำหนดให้ลงโทษเจ็ดชั่วโคตรก็จัดอยู่ในประเภทเดียวกันนี้
๔.๒ ความยุติธรรมคือการตอบโต้ ณ ที่ใดอารยธรรมก้าวหน้าพอสมควร ผู้มีอำนาจจะออกกฎหมายควบคุมการแก้แค้น เพราะเห็นว่าการปล่อยให้แก้แค้นกันเองตามใจชอบโดยไม่มีมาตรการควบคุมนั้นมักจะกระทำกันเลยเถิด ฝ่ายที่ถูกแก้แค้นก็จะรู้สึกว่าฝ่ายตนได้รับความอยุติธรรม เพราะฉะนั้นจะต้องคุมพรรคพวกมาแก้แค้นบ้าง แก้แค้นกันไปแก้แค้นกันมา ความเสียหายจะหนักเข้าทุกทีจนล่มจมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อยับยั้งการทำลายล้างกันเช่นนี้ ผู้มีอำนาจมักจะออกกฎหมายควบคุมโดยห้ามการแก้แค้นกันอย่างเสรีเสีย แต่อนุญาตให้ตอบโต้กันได้อย่างยุติธรรมเป็นทางการ เช่น ใครเป็นฆาตกรก็ควรให้เขาผู้นั้นถูกฆ่าตายตามกันไป ใครทำให้แขนเขาขาดก็ควรถูกตัดแขนให้ขาดตามกันไป กฎหมายในทำนองดังกล่าวปรากฏในตัวบทกฎหมายว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็นต้น กฎหมายของโมเสสที่ประกาศใช้ในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ก็เดินตามมาตรการความยุติธรรมดังกล่าวด้วย ผู้เขียนเชื่อว่ามาตรการความยุติธรรมของชนชาติโบราณทั่ว ๆ ไป และของเผ่าที่ล้าหลังในปัจจุบันก็คงเป็นไปในทำนองนี้เป็นส่วนมาก แต่ก็พึงสังเกตว่ามาตรการนี้มีความก้าวหน้าด้านมนุษยธรรมมากกว่ามาตรการแรกอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว ทั้งกษัตริย์แฮมเมอแรบบิ (Hammurabi) และโมเสสจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปกครองยอดเยี่ยม
๔.๓ ความยุติธรรมคือการชดใช้ ต่อมามนุษย์เราเริ่มเล็งเห็นว่า การตอบโต้โดยทำความเสียหายให้แก่ฝ่ายทำผิดนั้นมิได้ทำให้ฝ่ายตอบโต้ได้ดีอะไรขึ้นมาเลย เพราะของที่เสียไปแล้วก็แล้วไปเอากลับคืนไม่ได้ ควรจะให้สิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ชดใช้สิ่งที่เสียไปจะดีกว่า เช่นนี้จะเป็นความยุติธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกทำร้ายมากกว่า ผู้มีอำนาจจึงวางมาตรการปรับเป็นสิ่งของหรือเป็นจำนวนเงินขึ้น และเพื่อให้เข็ดหลาบก็มีการทรมานให้เจ็บปวดด้วย กฎหมายไทยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ เดินตามมาตรการนี้ ซึ่งก็ต้องนับว่าก้าวหน้ามากกว่ามาตรการเดิมอย่างมาก
๔.๔ ความยุติธรรมคือการให้โอกาสป้องกันตัว แต่เดิมฝ่ายที่ฟ้องเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายที่ถูกฟ้องซึ่งแม้ไม่ได้ทำผิดก็มักจะแก้ตัวไม่ได้ ต่อมาเมื่อมีการปรักปรำใส่ร้ายกันมากขึ้นจึงเห็นได้ว่าการลงโทษโดยไม่ให้โอกาสจำเลยแก้ตัวนั้นไม่ยุติธรรม จึงได้มีการออกกฎหมายเปิดโอกาสให้จำเลยได้ป้องกันตัวเองและถ้าโจทก์ไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอ ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย ดังนั้น มาตรการของศาลสถิตยุติธรรมในปัจจุบันย่อมถือว่า จำเลยไม่ผิดเว้นแต่จะมีหลักฐานผูกมัดเพียงพอ การปรับปรุงการศาลของพระปิยมหาราชเดินตามมาตรการนี้ และกฎหมายไทยยังยึดถือเป็นหลักจนตราบเท่าทุกวันนี้ ผลก็คือผู้ร้ายได้ใจไปตาม ๆ กัน นักเขียนการ์ตูน ประยูร จรรยาวงษ์ ล้อเลียนอยู่บ่อย ๆ ว่ากฎหมายชราภาพ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ต้องนับว่าดีที่สุดเท่าที่จะกำหนดได้ในระบบการศาล ช่องโหว่ที่มีอยู่ก็ต้องคิดหาวิธีอุดกันต่อไปอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
๔.๕ ความยุติธรรมคือการเสวนา ในสภาพปัจจุบัน นักแก้ปัญหาต้องไม่มองปัญหาอะไรเพียงด้านเดียว แต่จะต้องพยายามมองให้รอบด้านเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับสถานการณ์ตลอดจนตัวปัญหา และความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้จะได้หาทางสายกลางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์ ในเรื่องของความยุติธรรมก็เช่นกัน จะระบุลงไปเป็นสูตรสำเร็จรูปไม่ได้ว่าอย่างไรจึงจะยุติธรรม ควรใช้วิธีการวิเคราะห์ปัญหาและพิจารณาส่วนได้ส่วนเสียจากทุกทาง เพื่อประมวลหาความเหมาะสมแต่ละครั้ง นี่คือความยุติธรรมแบบเสวนา แม้จะเสียเวลายุ่งยากมาก แต่ก็ควรใช้เป็นหลักการอย่างยิ่งสำหรับสังคมปัจจุบัน การเสวนา (dialogue) เป็นการเจรจาเพื่อเข้าใจปัญหา ความคิดเห็น ความต้องการและสถานการณ์เกี่ยวข้อทุกอย่าง โดยมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจต่อกันเต็มที่ วิธีหลังนี้เกิดความยุติธรรมได้ยาก จึงควรฝึกการเจรจาแบบเสวนากันในทุกรูปแบบ ความยุติธรรมและความสงบสุขร่มเย็นจึงมีความหวังจะเกิดขึ้นได้ในสังคมปัจจุบันของเรา ด้วยนิยามยุติธรรมจากการเสวนาเพื่อให้แก่แต่ละคนตามสิทธิ จึงเรียกได้ว่ามีความเป็นธรรม (righteousness, fairness) พระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาโดยให้ฝึกฝนจาคะยิ่งกว่าจะเรียกร้องความยุติธรรมตามกฎหมาย พระเยซูทรงเน้นการให้อภัยถึง ๗๐ x ๗ ครั้ง
๕. ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการอบรมบ่มนิสัย
ไม่เคยมีโรงพยาบาลใดรับรองว่าสามารถรักษาคนไข้ให้หายได้ทุกคน ไม่เคยมีศาสนาใดรับรองว่าสามารถอบรมสมาชิกของตนให้เป็นคนดีได้ทุกคน การอบรมบ่มนิสัยด้วยวิธีการนี้ก็เช่นกัน ไม่กล้ารับรองว่าเกิดผลทันตาเห็น แต่ก็ประมาณการได้ว่าจะได้ผลทันทีบ้างเมื่อมีอบรมจบหลักสูตร สำหรับผู้เป็นบัวเหนือน้ำ ส่วนที่เหลือก็จะค่อย ๆ เห็นจริง หลังจากได้รับการฝึกฝนต่อไปก็จะทยอยกันรักที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต เปรียบเหมือนบัวในสระมีความพร้อมรับแสงอาทิตย์ต่างๆ กัน คือ
๕.๑ บัวเหนือน้ำ จิตใจพร้อมที่จะรับการอบรมได้ทุกรูปแบบ ฟังการอบรมแบบใดก็ชอบหมด รับได้หมด เห็นคุณประโยชน์ได้หมด โดยไม่ต้องจูงใจอะไรมาก
๕.๒ บัวปริ่มน้ำ จิตใจนานาจิตตัง เลือกฟังและเลือกชอบเฉพาะที่ถูกโฉลก จึงต้องมีไว้หลายๆแบบให้เลือก อาจจะมีสักแบบหนึ่งที่ชอบและนำไปใช้ได้ผลกับตน
๕.๓ บัวกลางน้ำ เป็นพวกมีจุดยืนของตนเอง ชอบฟังและเอาไปคิด ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ อยากฟังให้ครบทุกรูปแบบเสียก่อน เพื่อเอามาเปรียบเทียบกันให้เห็นจริงถ่องแท้ด้วยตนเองเสียก่อน จึงจะยอมทำตามด้วยจุดยืนของตนเอง ผู้อบรมจึงต้องมีความเพียรอดทน พร้อมตอบทุกคำถามที่เขาอยากจะถาม ครั้นมั่นใจจริงๆแล้วก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจให้อย่างเสียสละ กลายเป็นกำลังสำคัญในการอบรมคุณธรรมต่อไป
๕.๔ บัวปริ่มตม เป็นพวกไม่จริงใจ เชื่อในหลักการว่า “คนชั่วได้ดีมีถมไป” ภาษาฝรั่งเรียกพวกนี้ว่า แอพเผอคีวเรียน (Epicurean) คือโกงกินอย่างมีการวางแผนให้ได้มากที่สุดและนานที่สุด พวกเขาสามารถเสแสร้างแบบหน้าซื่อใจคด คนบาปในคราบนักบุญ ทำบุญเอาหน้า ภาวนาโกหก กินตามน้ำ ได้ไหนเอานั่น เขาสนใจศึกษาคุณธรรมโดยอาจจะเสแสร้างทำตัวเป็นผู้มีคุณธรรมเพื่อจับเส้นผู้มีคุณธรรมเอาไว้หากินได้แนบเนียนมากที่สุด พวกนี้ไม่เพียงแต่ไร้ศีลธรรมแต่เป็นผู้ทำลายศีลธรรมอย่างร้ายกาจ ไม่เพียงแต่หนักโลกแต่เป็นภัยต่อสังคมด้วย (วิธี Paradigm Shift ใช้ได้กับพวกนี้สำเร็จได้เป็นบางคน แต่ต้องใช้ความเพียรอดทนมาก และต้องยอมเข้าเนื้อ)
๕.๕ บัวใต้ตม ไม่อยู่ในบัว ๔ เหล่าที่อรรถกถาจารย์กล่าวถึง เพราะพวกเขาเป็นเพียงตม ไม่สนใจรับฟังการอบรม เขามีชีวิตเหมือนที่ภาษาฝรั่งเรียกพวกนี้ว่า เฮโดนิสต์ (Hedonist) พวกเขาดีกว่าพวกเอพเผอคีวเรียนตรงที่ไม่เสแสร้งและไม่คิดคดโกงหลอกลวงใคร ฝรั่งเรียกพวกนี้ว่า เขามีชีวิตเหมือนสุนัขตัวหนึ่ง (cynic ภาษากรีกแปลว่าสุนัข) คือหาความสุขเฉพาะหน้าไปขณะต่อขณะไม่วางแผนอนาคต ไม่คิดโลกหน้า เขาบอกตรงๆว่าจะเอาอะไร โลกนี้เป็นแค่เวทีละคร จบบทบาทเมื่อไรตัวละครก็กลายเป็นเลขศูนย์ พวกนี้เพียงแต่หนักโลกไม่ทำลายศีลธรรม แต่ก็เป็นตัวอย่างไม่ดีและชอบเย้ยหยันคนมีศีลธรรมให้เสียกำลังใจ
จากข้อมูลข้างต้นนี้ วิธีเปลี่ยนกระบวนทรรศน์จึงไม่อาจจะอวดอ้างได้ว่าเป็นวิธีเดียวหรือเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตอบปัญหาว่า “ทำอย่างไรคุณธรรมจึงกลับมาสู่แผ่นดินไทย” แต่ขอเสนอเป็นวิธีเสริมทุกวิธีดีๆที่มีอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นวิธีแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย จึงขอทำการศึกษาด้วยการวิจัยเชิงความคิด (conceptual research) จากประสบการณ์ต่างประเทศเท่าที่รู้ เพื่อเขียนเป็นคู่มืออบรมผู้สอนคุณธรรม (Training the trainers) ให้รู้จักใช้ความรู้ ความสามารถ และพรสวรรค์ของแต่ละคนในการเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ จะปลุกต่อมคุณธรรมให้ตื่นขึ้นและเจริญต่อไปเหมือนได้ปลูกฝัง เมื่อได้คู่มือแล้ว จะต้องมีการทดลองใช้เพื่อประเมินผลและปรับปรุงตามระเบียบวิธีวิจัยเชิงข้อมูลและสถิติต่อไป ถึงตอนนั้นก็จะประกาศได้ว่าใคร ณ ที่ใดไม่ชอบการอบรมวิธีอื่นๆที่มีอยู่ ขอให้ส่งมาให้เราได้ เฉพาะบัวเหล่า ๑-๓ เท่านั้น ส่วนเหล่าที่ ๔ และ ๕ นั้นต้องใช้กฎหมายกับการใช้วิธีผิดกฎหมายของพวกเขาเสียก่อน ต่อจากนั้นจึงจะให้เราไปช่วยเสริมได้ โดยติดต่อให้เราได้รู้จักกับพวกเขา แล้วเราจะหาวิธีตะล่อมตามเทคนิคของเรา คือเริ่มคุยอะไรก็ได้ที่พวกเขาสนใจ ขอให้เรามีโอกาสคุยกันเท่านั้น เราจะหาวิธีเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ด้วยเทคนิคของเรา ซึ่งจะได้ผลเป็นบางรายเหมือนการเยียวยาสุขภาพทางกาย
หมายเหตุ การแบ่งบัวเป็น ๕ เหล่าก็เพื่อใช้อธิบายจริยศาสตร์สากลเท่านั้น จะหาอย่างอื่นก็ไม่มีอะไรแบบเนียนเท่ากับดอกบัวซึ่งเป็นดอกไม้ของชาวเอเชียทั่วไป