๓.๖ วิเคราะห์ ๔ เรื่องของคุณธรรมทุกข้อ
คุณธรรมแม่บท ๔ (ของแอร์เริสทาทเถิลล) ที่จริงไม่ใช่ตัวคุณธรรม แต่เป็นองค์ประกอบหรือ เงื่อนไขจำเป็นของคุณธรรมทุกข้อ ดังต่อไปนี้
๓.๖.๑ ความรอบคอบ (Prudence) หรือความรู้รอบ มิได้หมายถึงการมีความรู้มาก “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” มีถมไป ความรอบคอบจึงหมายถึงการเล็งเห็นหรือหยั่งรู้ได้ง่ายและชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติและอะไรไม่ควรประพฤติ การแสวงหาความรู้มีส่วนช่วยให้เกิดความรอบคอบ แต่ทว่าความรอบคอบอันลึกซึ้งส่วนมากเกิดจากการคิดคำนึงและประสบการณ์
๓.๖.๒ ความกล้าหาญ (Fortitude, Courage) กล้าหาญทางกายภาพ ได้แก่ กล้าเสี่ยงความยากลำบาก อันตรายและความตาย เพื่ออุดมการณ์ กล้าหาญทางจิตใจ ได้แก่ กล้าเสี่ยงการถูกเข้าใจผิด กล้าเผชิญการใส่ร้ายและการเยาะเย้ย เมื่อมั่นใจว่าตนกระทำความดี
๓.๖.๓ การรู้จักประมาณ หรือความพอเพียง (Temperance, Sufficiency) สัตว์มีสัญชาตญาณกระตุ้นให้กระทำกิจการบางอย่างเพื่อการอยู่รอดของมันเองและเผ่าพันธุ์ เมื่อหมดความจำเป็นสัญชาตญาณนั้นก็หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ มนุษย์มีสัญชาตญาณเช่นกัน แต่มนุษย์ยังมีความสำนึก สามารถสำนึกและปลุกสัญชาตญาณได้ตามใจ มนุษย์จึงมักจะใช้สัญชาตญาณเลยเถิดเกินความจำเป็นตามธรรมชาติ จนบางครั้งปลุกสัญชาตญาณเพื่อความพึงพอใจเท่านั้น การไม่รู้จักควบคุมพลังในตัวให้อยู่ในขอบเขตของจุดมุ่งหมายในชีวิต มักจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากมากแก่ตัวเองและสังคม เพราะเมื่อคนหนึ่งใช้สัญชาตญาณเกินขอบเขตอย่างไม่ถูกต้อง ก็มักจะก้าวก่ายสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อยากจะสร้างความมั่นคงให้แก่อนาคตของตนเองและของทายาท ก็จะหาวิธีสะสมสมบัติไว้มาก ๆ โดยวิธีไม่สุจริต เป็นต้น คุณธรรมการรู้จักประมาณช่วยให้รู้ว่าอะไรควรอยู่ในขอบเขตแค่ไหน การไม่ใช้สัญชาตญาณเลยจะทำให้เป็นคนไร้ความกระตือรือร้นและไร้ประโยชน์ การใช้สัญชาตญาณเกินขอบเขตก็มักจะก่อความเดือดร้อน จึงต้องฝึกให้รู้จักใช้ให้อยู่ในขอบเขตอันควรในแต่ละสภาพและฐานะของบุคคล
๓.๖.๔ ความยุติธรรม (Justice) (ความเป็นธรรม) ได้แก่ การให้แก่ทุกคนและแต่ละคนตามความเหมาะสม (giving each his due) ดังที่แอร์เริสทาทเถิลได้นิยามไว้ นั่นคือเราต้องรู้ว่าเรามีกำลังให้เท่าไร ควรให้แก่ใครเท่าไรและอย่างไร เช่น แก่ตัวเราเอง แก่บุคคลในครอบครัว แก่บุคคลในวงศ์ญาติ แก่เพื่อนฝูงมิตรสหาย แก่บุคคลร่วมงาน แก่ผู้บังคับบัญชา แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ฯลฯ ความยุติธรรมเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่างดังที่เพลโทว์ได้ให้ข้อสังเกตไว้ จึงเป็นแก่นหรือสารัตถะของคุณธรรมทุกชนิด ผู้ใดมีความยุติธรรมสูงย่อมเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมทุกอย่าง เมื่อเพียบพร้อมแล้วก็เรียกว่าได้บ่มนิสัยดีพร้อมสรรพ คุณธรรมบางอย่างอาจจะไม่ปรากฏออกมาให้เห็น เพราะไม่มีโอกาสจะแสดงออก แต่ถ้ามีโอกาสเมื่อใดก็พร้อมที่จะแสดงออกได้ทันทีอย่างถูกต้องเพียบพร้อม ผู้มีความยุติธรรมสูงจึงเป็นผู้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในตัว สังคมที่มีความยุติธรรมย่อมเป็นสังคมที่สงบสุขเพราะทุกคนมั่นใจได้ว่าตนเองจะได้รับสิทธิอันชอบธรรม หากมีผู้ใดละเมิดก็จะได้รับการลงโทษอันควรแก่โทษานุโทษ จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีใครอยากจะละเมิดโดยง่าย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากได้มีความพยายามที่จะนิยามความยุติธรรมเพื่อตอบสนองความเห็นแก่ตัวอยู่เนือง ๆ จึงมีปัญหาต้องขบคิดกันเรื่อยมาว่า อะไรคือความยุติธรรมที่เราจะต้องปฏิบัติในสังคม สมาชิกประเภทใดในสังคมสมควรได้สิทธิแค่ไหน ใครจะเป็นผู้กำหนดและเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้ชี้ขาด จึงนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่นักจริยศาสตร์ด้านต่าง ๆ จะต้องช่วยกันขบคิดกันว่า ควรให้บุคคลมีทรัพย์สินเท่าไรจึงจะยุติธรรม การต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้างจึงจะยุติธรรม การทำแท้งอย่างเสรีจะยุติธรรมหรือไม่ ใครควรเสียภาษีให้รัฐเท่าไรจึงจะยุติธรรม รัฐจะต้องช่วยคนจนอย่างไรจึงจะยุติธรรมและไม่เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองเกียจคร้าน เมื่อถูกขบวนการก่อการร้ายจู่โจมอย่างกรณีศูนย์การค้าโลกแห่งนิวยอร์ก พึงดำเนินการอย่างไรจึงจะยุติธรรม เป็นต้น ความยุติธรรมที่เหมาะสมจึงนิยมเรียกด้วยอีกชื่อหนึ่งว่าความเป็นธรรม (fairness)
One thought on “ฮันทิงทันกับการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์[4]”