ปัญญาพัฒนาเป็นกระบวนทรรศน์
ปัญญาของมนุษย์ทั้งโลกพัฒนาร่วมกันมาเป็น 5 ช่วงเรียกว่า 5 กระบวนทรรศน์ การเปลี่ยนกระบวนทรรศน์แต่ละครั้งเรียกว่าการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ (paradigm shift) ที่เรียกว่า ปรับเปลี่ยนก็เพราะเป็นการเปลี่ยนเพื่อปรับตัวให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ครั้ง จากกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ เป็นกระบวนทรรศน์โบราณ กระบวนทรรศน์ยุคกลาง กระบวนทรรศน์ยุคใหม่ (นวยุค) และกระบวนทรรศน์หลังนวยุค ดังต่อไปนี้
ปัญญาระดับกระบวนทรรศน์ที่ 1 ย่อมหาความสุขแท้โดยทำตามน้ำพระทัยของเบื้องบน ก็มีความสุขแท้ได้ระดับหนึ่งคือ ระดับไม่รู้จักเป็นตัวของตัวเอง หากเป็นตัวของตัวเองได้เมื่อใดก็จะต้องการความสุขแท้ระดับสูงกว่านั้น จึงแสดงว่าต่อมคุณธรรมยังทำงานไม่เต็มที่
ปัญญาระดับกระบวนทรรศน์ที่ 2 พยายามเป็นตัวของตัวเองโดยการรู้กฎเกณฑ์แทนน้ำพระทัยของเบื้องบน หากหากฎได้เองก็จะหาเรื่อยไปและมีความสุขกับการพัฒนาตัวเองตามกฎที่หาได้ เอง กลายเป็นเจ้าสำนัก มีความสุขกับการทำให้ลูกศิษย์ลูกหามีความสุข หากหากฎเองไม่ได้ก็จะทำตัวเป็นศิษย์สำนักใดสำนักหนึ่ง และทุ่มเทหาความสุขกับกฎที่ตนไม่ได้พบเอง มีความสุขกับการมั่นใจในคำสอนของเจ้าสำนักและปฏิบัติคำสอนตามตัวอักษร มีความสุขแท้ด้วยสัญชาตญาณของปัญญาระดับที่ 2 ก็จริง แต่ต่อมคุณธรรมยังทำงานไม่เต็มที่อยู่ดี
ปัญญาระดับกระบวนทรรศน์ที่ 3 บังเอิญพบศาสดาหรือศาสนาของศาสดาที่รับรองว่ามีโลกหน้าอันเป็นความ สุขบริสุทธิ์ไม่มีความทุกข์เจือปน ศาสดาทุกองค์มีวิธีสอนให้พัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นขั้นเป็นตอน แต่คนใจร้อนต้องการความสุขในโลกหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจการพัฒนาคุณภาพชีวิตในโลกนี้อันเป็นวิถีทางปกติของศาสนา จึงสังกัดกระบวนทรรศน์นี้และละเลยความสุขตามความเป็นจริงในโลกนี้อันเป็น เงื่อนไขสู่ความสุขแท้ตามความเป็นจริงในโลกหน้า ต่อมคุณธรรมยังทำงานไม่เต็มที่อยู่นั่นเอง
ปัญญาระดับกระบวนทรรศน์ที่ 4 มั่นใจในวิธีการของวิทยาศาสตร์จนกลายเป็นการยึดมั่นถือมั่น ซึ่งปิดกั้นการทำงานของต่อมคุณธรรมโดยไม่รู้ตัว ทำผิดโดยไม่รู้ว่าผิด ทำบาปโดยไม่รู้ว่าทำบาป เบียดเบียนโดยไม่รู้ว่าเบียดเบียน เอาเปรียบโดยไม่รู้ว่าเอาเปรียบ สร้างความทุกข์โดยคิดว่านำความสุขมาให้ ต่อมคุณธรรมมีโอกาสทำงานยังไม่เต็มที่ เพราะหลงตัวเองจนไม่ลืมหูลืมตาว่าคนอื่นจะเดือดร้อนกันปานใด
ปัญญาระดับกระบวนทรรศน์ที่ 5 ต่อมคุณธรรมทำงานเต็มที่เพราะตัดการยึดมั่นถือมั่นขาดสะบั้น มีหลักยึดเหนี่ยวแต่ไม่ยึดติด ปล่อยให้สัญชาตญาณปัญญาทำงานตามครรลองของมัน คือ สร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา ทุกขั้นตอนทำอย่างมีความสุขแท้ตามความเป็นจริง ผลก็คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่อยไป พัฒนาถึงขั้นใดก็จะเล็งเห็นด้วยสัญชาตญาณว่า ควรทำอะไรและอย่างไรต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีคนบอก เขามีความสุขที่จะรับทำมัน เมื่อทำแล้วก็มีความสุขและรู้ว่าทำอะไรต่อไปแล้วจะมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น คนอย่างนี้ไม่ต้องคิดถึงสวรรค์ เพราะมีสวรรค์ที่ไหนก็จะได้รับการต้อนรับอย่างดี สวรรค์ใดไม่ต้อนรับเขาก็ไม่เสียความรู้สึก เพราะใจของเขาเป็นสวรรค์น้อย ๆ อยู่แล้วเป็นเดิมพันตามที่กล่าวกันว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจเขานับถือศาสนาใดเขาจะนับถืออย่างมีความสุขสงบแท้ตามความเป็นจริง
…
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์
ผู้ที่มีกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์นอนเนื่องอยู่ในจิตสำนึกย่อมเชื่อว่า การอุบัติทั้งหลายเป็นไปตามน้ำพระทัยของเบื้องบนซึ่งไม่ถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ ใดทั้งสิ้น เรียกได้ว่า “ทำตามใจแป๊ะ” ย่อมมีแนวโน้มที่จะสำนึกว่าการทำดีอยู่ที่การพยายามรู้น้ำพระทัยของเบื้องบน เพื่อจะทำตาม ก็จะพยายามเกลี้ยกล่อมเจตจำนงของตนเองและของผู้ที่ตนมีหน้าที่อบรมให้คิด อย่างนั้นและทำอย่างนั้น เพราะถือว่าเป็นการทำดีได้คุณและป้องกันการทำชั่วให้โทษ เมื่อกระทำจนเคยชินก็จะกลายเป็นคุณธรรมจริยธรรม จะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณในปัญญาของเขาก็ถูกต้อง ครั้นเห็นใครไม่อยู่ในครรลองนี้ก็อยากให้เบื้องบนลงโทษและสมน้ำหน้า แต่ความจริงแล้วเขาเดินตามสัญชาตญาณพืช คือพยายามทำตามน้ำพระทัยของเบื้องบนเพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบที่ต้องคิดเอง
กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์แสดงออกในหมู่คนไทย โดยการปักใจเชื่อเจ้าเข้าทรงตามตัวอักษร เชื่อการเสี่ยงใบเซียมซี เชื่อหมอดูในรูปแบบต่าง ๆ (ทั้งนี้ไม่รวมพวกที่ไม่เชื่อแต่ไม่อยากลบหลู่ และพวกที่เชื่อโหราศาสตร์ตามหลักวิชาการของการดูดวงและดูลายมือ (เพราะพวกหลังนี้สังกัดกระบวนทรรศน์โบราณ) คนไทยกลุ่มนี้เรียนวิชาการเพื่อสอบผ่านได้ปริญญาและทำการงานตามกฎเกณฑ์เพื่อ รับค่าตอบแทน ในความสำนึกของพวกเขามีแต่น้ำพระทัยของอำนาจลึกลับตามที่พวกเขาเชื่อว่ามี คุณธรรมสำหรับพวกเขาคือทำตามที่รับรู้จากวิธีที่พวกเขาเชื่อถือ การอบรมใด ๆ จะไร้ผลหากไม่มีประกาศิตจากเบื้องบนที่พวกเขาเชื่อถือ ยกขึ้นมาอ้างให้พวกเขากลัวหรืออย่างน้อยเกรงใจได้ คุณภาพชีวิตของพวกเขาไม่สู้จะมี และพวกเขาก็ไม่สนใจที่จะมี พวกเขาสนใจแต่เพียงความคุ้มครองจากเบื้องบนเท่านั้น และพวกเขาก็พอใจเพียงแค่นั้น สัญชาตญาณที่ครอบงำพวกเขา คือสัญชาตญาณก้อนหิน รักษาตัวรอดเป็นยอดดีและนิ่งไว้สองไพเบี้ย ไม่คำนึงว่าใครจะเดือดร้อน หรือถูกเบียดเบียนรังแก ไม่สนใจบริการใครหรือช่วยเหลือใคร การเชื่อเบื้องบนอย่างนี้มีอันตราย เพราะอาจมีผู้ใช้เล่ห์เหลี่ยมอ้างเบื้องบนเพื่อใช้เขาเป็นประโยชน์ได้โดย ง่าย นโยบายที่มีผู้เสนออยากให้นิมนต์พระมาช่วยอบรมศีลธรรมในโรงเรียนหากไม่มี การอบรมพระให้เข้าใจเรื่อง “คนดีตามกระบวนทรรศน์” เสียก่อน ก็อาจจะได้พลเมืองที่มีคุณธรรมระดับดึกดำบรรพ์มาเพิ่มปัญหาแก่ประเทศชาติก็ ได้ จึงต้องมีโครงการอบรมพระที่มีความรู้เรื่องกระบวนทรรศน์หรืออลีนะในทิฏฐิสูตรยังไม่เพียงพอ ให้เพียงพอเสียก่อน ก็จะดี
ผู้ที่เชื่อและทำตามกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์จริง ๆ นั้น มีตั้งแต่มนุษย์ดึกดำบรรพ์จริง ๆ คือมนุษย์ที่มีชีวิตบนผิวโลกของเรานี้ตั้งแต่ 4 ล้านปีมาแล้วทุกคนจนถึงเมื่อประมาณ ก.ค.ศ. 3000 ปี ที่แสดงการเปลี่ยนกระบวนทรรศน์โดยพยายามแถลงกฎเกณฑ์ด้วยเรื่องเล่าปรัมปรา ตั้งแต่ ก.ค.ศ. 3000 ปีมาแล้วจนถึงวันนี้ก็ยังมีมนุษย์ที่มีชีวิตแบบดึกดำบรรพ์เหมือนมนุษย์ยุค ดึกดำบรรพ์ เพราะความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ในยุคล่าอาณานิคมมีนักผจญภัยจำนวนมากบุกป่าฝ่าดงดิบเข้าไปศึกษาและบันทึก ชีวิตแบบดึกดำบรรพ์เหล่านี้ไว้เป็นหลักฐานให้ศึกษา แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีคนจำนวนมากที่อยู่ท่ามกลางความเจริญ บางคนมีทรัพย์สินมากจากมรดก ด้ายชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทันสมัยยอดเยี่ยม มีการศึกษาดีอีกต่างหาก แต่ครั้นคิดจะทำอะไร หรือตัดสินอะไร ก็ทำตามกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ก็มีให้เห็นดาษดื่น
(คอลัมน์ : ใต้ร่มพระบารมี ขยายผลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (11) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,925 วันที่ 23 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557)
กระบวนทรรศน์โบราณ
ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับกระบวนทรรศน์โบราณ ก็ย่อมจะเชื่อว่าการอุบัติทั้งหลายเป็นไปตามกฎเกณฑ์ตายตัว แม้แต่เบื้องบนก็ไม่ได้รับการยกเว้น ย่อมมีแนวโน้มที่จะสำนึกว่าการทำดีคือการพยายามรู้กฎเกณฑ์ของสิ่งที่ตนจะ ต้องเกี่ยวข้อง จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและพ้นภัยเสียหาย จึงพยายามเกลี้ยกล่อมเจตจำนงของตนเองและของผู้ที่ตนมีหน้าที่อบรม ให้ชอบรู้กฎและสนุกกับการทำตามกฎ ยิ่งเคร่งเท่าใดก็ยิ่งสนุกเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการทำดีได้ประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎซึ่งถือว่าเป็นการทำชั่วให้ร้าย
เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีและไม่หากฎด้วยตนเอง จึงยกย่องผู้ที่ตนเชื่อว่ารู้กฎว่าเป็นเจ้าสำนักและมองว่าสำนักอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นคู่แข่งกับสำนักของตน ความดีคือการทำตามกฎ และการละเมิดกฎเป็นความเลว ความชั่ว และบาป เมื่อกระทำจนเคยชินก็กลายเป็นคุณธรรมจริยธรรม จะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณในปัญญาของเขาก็ได้ ครั้นเห็นใครไม่อยู่ในครรลองนี้ก็อยากให้ถูกธรรมชาติลงโทษ เจ้าสำนักและผู้ทำดีมาก ๆ ในสำนักก็จะได้ชื่อว่าเป็นบุคคลต้นแบบและนักบุญ คุณธรรมที่เจ้าสำนักระบุชื่อไว้ก็จะเป็นคุณธรรมต้นแบบ ทั้งบุคคลต้นแบบและคุณธรรมต้นแบบจะกลายเป็นประเด็นแข่งขันระหว่างสำนักที่ รู้จักกัน
กระบวนทรรศน์โบราณแสดงออกในหมู่คนไทย โดยการยึดติดคำสอนคำสั่งและคุณธรรมที่เจ้าสำนักชูขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของ สำนัก ซึ่งศิษย์สำนักจะพยายามท่องจำและจดจำทุกคำเพื่อเป็นมงคลประจำตัว และเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสำนักซึ่งก็ถือว่าเป็นมงคลอีกส่วนหนึ่ง คุณธรรมสำหรับคนกระบวนทรรศน์นี้คือการท่องจำและปฏิบัติคุณธรรมที่เป็น เอกลักษณ์ของสำนักให้เคร่งครัดไว้ ยิ่งเคร่งครัดมากเท่าใดก็ยิ่งมั่นใจในความดีมากเท่านั้น การอบรมที่เป็นวาระแห่งชาติจะต้องอาศัยเจ้าสำนักสนับสนุน ซึ่งก็จะได้คนดีตามที่เจ้าสำนักกำหนด แต่ถ้าเจ้าสำนักไม่ให้ความร่วมมือ หรือวางตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อวาระแห่งชาติ นโยบายแห่งชาติก็จะล้มเหลวอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ผู้นับถือศาสนาด้วยกระบวนทรรศน์นี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะต้องหาอาจารย์หรือ เจ้าสำนักหรือเจ้าลัทธินิกายเพื่อตัดสินชี้ขาดการเข้าใจคัมภีร์หรือเข้าใจคำ สอนของศาสนา เพราะไม่แน่ใจว่าตนจะเข้าใจคำสั่งสอนของคัมภีร์หรือศาสนาอย่างถูกต้อง ศาสดาจึงเก็บไว้ทำรูปเคารพบูชา คัมภีร์ศาสนามีไว้สำหรับเก็บในตู้หรือบนหิ้งเพื่อกราบไหว้บูชาเช่นกัน การศึกษาศาสนาจึงอยู่ลมปากของครูบาอาจารย์ที่ตนยึดถือว่าเป็นผู้เข้าถึงและ เข้าใจเจตนาของศาสดาแต่ผู้เดียว คนอื่นล้วนแต่ผิดเพียนทั้งสิ้น กรณีที่สุดขั้วบางที่ยกพวกตีกันเพราะตกลงกันไม่ได้ว่าอาจารย์หรือสำนักของ ใครสอนถูกต้องกว่ากัน ทั้ง ๆ ที่นับถือศาสนาเดียวกัน ไหว้ศาสดาองค์เดียวกัน และเทิดทูนคัมภีร์เล่มเดียวกัน คนประเภทนี้ไม่เสพติดศาสนา ไม่เสพติดศาสดา แต่เสพติดสำนักและเจ้าสำนัก นับเป็นการยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่ง และเป็นการยึดมั่นถือมั่นที่น่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตเท่าที่ควร เป็นประเภทอลีนะที่ศาสดาทั้งหลายชี้ว่าเป็นจุดสะดุดแห่งการแตกแยกแม้ในชาติ เดียวกันและศาสนาเดียวกัน ปัญญาทำงาน แต่ต่อมคุณธรรมยังไม่ทำงาน จึงยังไม่ได้ความสุขแท้ตามความเป็นจริง และยังอยู่ไกลจากเป้าของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กระบวนทรรศน์ยุคกลาง
ผู้ที่เชื่อว่ามีโลกหน้าที่มีแต่ความสุขสมบูรณ์แบบไร้ความทุกข์ใด ๆ เจือปน ย่อมมีแนวโน้มที่จะยอมสละอะไรก็ได้ในโลกนี้แม้แต่ชีวิตเพื่อแลกกับความสุข ดังกล่าวหรือจะสังเวยชีวิตของผู้อื่นมากเท่าไรก็ยอม ชาวคริสต์ในช่วงแรก ๆ แข่งกันขึ้นตะแลงแกงด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว หากมีใครชวนไปเสี่ยงชีวิตเพื่อปกป้องศาสนาพวกเขาก็จะแย่งกันสมัครตายเป็นคน แรก พวกเขาพยายามเกลี้ยกล่อมเจตจำนงของตน และของผู้ที่ตนมีหน้าที่อบรมให้พร้อมเสมอที่จะฉวยโอกาสดี ๆ ดังกล่าวโดยถือว่าเป็นยอดแห่งความเสียสละเพื่อศาสนา พวกเขาพร้อมใจกันยกย่องทุกคนที่ได้ฉวยโอกาสดังกล่าวว่าเป็นบุคคลต้นแบบที่ โชคดี และประสบผลสำเร็จสุดยอดในชีวิตของคนคนหนึ่ง และยกย่องการถูกฆ่าตายด้วยเหตุผลทางศาสนาเป็นสุดยอดแห่งคุณธรรม จะเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณในปัญญาของเขาก็ได้
กระบวนทรรศน์ยุคกลางแสดงออกในหมู่คนไทยบางคน โดยการยึดติดในศาสนาของตนในระดับคลั่งไคล้ คืออุทิศตัวให้แก่ศาสนาของตนจนลืมหน้าที่อื่น ๆ ในสังคมเสียสิ้น พร้อมที่จะดูแคลนศาสนาอื่น ๆ ทั้งหมดโดยถือว่าได้บุญแรง คุณธรรมสำหรับพวกเขามีอยู่ข้อเดียว คือ คลั่งไคล้ศาสนา จะอบรมให้มีคุณธรรมอะไรนอกเหนือไปจากนี้จะไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นบาปทั้งสิ้น
พลเมืองอเมริกันเริ่มโดยกลุ่มผู้เคร่งศาสนา (puritans) ลี้ภัยการกีดกันผู้นับถือศาสนาต่างนิกาย จึงรวมตัวกันอพยพไปตั้งหลักแหล่งเป็นอาณานิคมแรก ๆ ของผู้คลั่งไคล้ศาสนา พวกนี้พยายามตั้งสถานศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย โดยถือเอาการอบรมศีลธรรมตามศาสนาและนิกายของตนเป็นหลัก โทนี ดีวายน์ได้สรุปย่อวิธีอบรมคุณธรรมในสถานศึกษาของพวกเขาไว้ว่า ระหว่างศตวรรษที่ 18-19 ระบบการศึกษาได้สอดแทรกการสอนศีลธรรมเข้าไปในทุกวิชา เช่นในวิชาคัดลายมือ ครูจะให้คัดข้อความศีลธรรมที่ต้องการให้นักเรียนคุ้นเคย เช่น “พระเจ้ารักเรา” (Tony Devine, 2000, p.14.)
ชาวตะวันตกที่พากันอพยพไปตั้งหลักแหล่งเป็นพลเมืองรุ่นแรกของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ผู้เคร่งศาสนาชาวคริสต์ (Quakers,etc.) พวกเขาพยายามจัดระบบการศึกษาขึ้นตามมาตรฐานของยุโรปขณะนั้น โดยเน้นการอบรมบ่มนิสัยผู้เรียนให้เป็นคนดีมีศรัทธาต่อศาสนาคริสต์ นิกายเคร่งครัดที่ตนสังกัด พวกเขาได้สร้างมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งเช่น ฮาร์วาร์ด (Harvard) เพื่อสร้างผู้นำทั้งด้านศาสนา การศึกษา การเมือง และสังคม ให้ออกไปบริหารและขณะเดียวกันก็อบรมประชาชนให้เป็นคนดีตามมาตรฐานของตนโดยทำ งานเป็นทีมเดียวกัน เราจึงเห็นตัวอย่างผู้นำในสมัยนั้น เช่น ยอร์จ วอชิงตัน (George Washington) โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson), เบนจามิน แฟรงค์คลิน (Benjamin Franklin) ซึ่งโนอาห์ เว็บสเตอร์ (Noah Webster) ได้เขียนไว้เมื่อ ค.ศ. 1790 ว่า การศึกษามีภาระหน้าที่สำคัญที่สุดในการสร้างอุปนิสัยของประชาชน ศีลธรรมจะต้องเป็นฐานของการปกครอง…สร้างระบบรักษาศีลธรรมของประชาชนไว้ ย่อมง่ายกว่าคอยจับผิดแก้ไขด้วยการลงโทษลงทัณฑ์ผู้ละเมิดกฎระเบียบของสังคม (Frederick Rudolph, 1965, p.63.) ระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น จึงเน้นให้แทรกการอบรมจิตใจเข้าไปในทุกวิชาที่สอนทุกระดับชั้นเรียน เช่น ในวิชาคัดลายมือ ก็ให้พยายามหาคติพจน์มาให้นักเรียนคัดอย่างเช่น God helps only those who help themselves. Time and tide wait for no man. Early Birds catch worms เป็นต้น (Tony Devine, 2000, p.14.) ทั้งนี้โดยหวังว่า การได้ย้ำข้อธรรมและคติพจน์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ จิตใต้สำนึกจะเต็มไปด้วยความสำนึกดี ๆ อันจะเป็นกรอบกำกับการดำรงชีพไปจนตลอดชีวิต ซึ่งก็สังเกตได้ว่า นโยบายการศึกษาของวัฒนธรรมอื่น ๆ ทั่วโลกที่อยู่ในช่วงกระบวนทรรศน์ที่ 3 ก็ตั้งสถานศึกษาขึ้นโดยมีเป้าหมายและวิธีการอบรมสั่งสอนคล้ายคลึงกัน การศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยในสมัยที่อยู่ในที่ดินวัด ก็มีลักษณะคล้าย ๆ กันอย่างนี้
กระบวนทรรศน์นวยุค
ผู้ที่เชื่อว่าวิธีการวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่สามารถรับรองความจริงทุก เรื่อง ย่อมมีแนวโน้มที่จะสำนึกว่าการทำดีคือการส่งเสริมหาความจริงและเผยแพร่ความ จริงที่นักวิทยาศาสตร์รับรองเท่านั้น เพราะเชื่อมั่นว่าวิธีการนี้จะช่วยขจัดไสยศาสตร์ที่ทำให้มนุษยชาติเสียเวลา และทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ บางคนที่คิดอย่างนี้อย่างรุนแรงเพราะมีอำนาจก็จะใช้อำนาจบังคับให้ทำดีใน ลักษณะนี้ ถึงกับมีบทลงโทษตั้งแต่สถานเบาคือกลั่นแกล้งจนถึงสถานหนักคือประหารชีวิต พวกเขาถือว่าเป็นคุณธรรมจริยธรรมระดับสูง จะเรียกว่าสัญชาตญาณในปัญญาของพวกเขาก็น่าจะได้
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์คู่คี่กันมาในประวัติศาสตร์ แต่การวางแผนอบรมศีลธรรมนั้นต่างฝ่ายต่างพัฒนาวิธีการและกลยุทธ์เอง มิได้เลียนแบบกันแต่ประการใด แต่หลังจากนี้ไปประเทศสหรัฐอเมริกาจะนำหน้าประเทศไทย เพราะประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมและปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ เป็นกระบวนทรรศน์นวยุคก่อนประเทศไทย
นักนวยุคนิยมเน้นมนุษยนิยม ดังนั้นจึงนิยามคุณธรรมว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ โดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสำคัญ นักจริยธรรมของกระบวนทรรศน์นี้ต่อมาแบ่งแยกกันเป็น2 สายที่ต่างก็สนับสนุนการเมืองสายละระบอบ สายแรกถือหลักการว่าปัจเจกต้องอุทิศตนเพื่อความมั่นคงของสังคม นั่นคือทาสต้องอุทิศความเป็นปัจเจกเพื่อให้รัฐฝ่ายใต้มั่นคง จึงสนับสนุนการเมืองระบอบสังคมนิยม สายหลังถือหลักการว่าสังคมต้องอุทิศตนเพื่อค้ำประกันเสรีภาพของปัจเจก จึงสนับสนุนการเมืองระบอบเสรีประชาธิปไตย ระบอบการเมือง 2 ระบอบที่แข่งขันกันนี้ตั้งป้อมข่มขู่กันจนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองจน เกือบทำลายล้างชาติและเกิดสงครามโลกจนเกือบทำลายล้างมนุษยชาติ
ประเทศไทยในช่วงวิกฤติในทำนองเดียวกันนั้น เลือกเข้าข้างเสรีประชาธิปไตยและต้องทำการปราบพี่น้องชาวไทยที่ประกาศเข้า ฝ่ายตรงข้ามและทำสงครามกองโจร ยังความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย
เนื่องจากชาวตะวันตกรู้จักและใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ล้ำหน้าชาติอื่นทั้ง หลาย พวกเขาจึงปรับกระบวนทรรศน์เป็นนวยุคและปรับนโยบายการอบรมศึกษาไปด้วย ในช่วงแรกยังคงรักษาอุดมการณ์แห่งชีวิตโดยมีศาสนาเป็นเป้าหมายอยู่ดังเดิม เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการอบรมสั่งสอนจากการยัดเยียดมาเป็นการให้ซึมซับเข้าไป ในจิตใจด้วยวิธีใหม่คือ วิธีพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์ การอบรมบ่มนิสัยจึงปรับจากวิธีสร้างศรัทธามาเป็นวิธีสร้างองค์ความรู้ให้ เป็นระบบ และมีเหตุผลโยงใยถึงกันได้เป็นระบบเครือข่าย (network)ผู้อบรมแต่ละคนจะสร้างคุณธรรมต้นแบบ (basic virtues)ขึ้นตามที่ตนเข้าใจและเชื่อว่าจะใช้อบรมได้เหมาะสมที่สุด โดยพยายามหาเหตุผลมาชักแม่น้ำทั้ง 5 เพื่อจูงใจให้ผู้ฟังเชื่อตาม ใครทำเองไม่ได้ก็อาศัยใช้ของผู้ที่ตนเชื่อว่าน่าจะใช้ได้ผลดีที่สุด จึงมีการจับกลุ่มกันเป็นสำนักเหมือนผู้ใช้กระบวนทรรศน์โบราณ วิธีการอบรมดังกล่าวได้ชื่อว่าการอบรมคุณธรรม (Virtue Education)
กระบวนทรรศน์หลังนวยุค
เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนครั้งล่าสุดของมนุษยชาติ ซึ่งฮันทิงทันถือว่าเป็นผลของการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ที่ทำให้กำแพง เบอร์ลินทะลุได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ที่ทำให้สงครามเย็นผ่านพ้นไปอย่างใจหายใจคว่ำ เพราะเชื่อกันว่าจะต้องเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เสียก่อน ผู้ถือกระบวนทรรศน์นี้ย่อมมีแนวโน้มที่จะสำนึกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือการทำดี และการทำชั่ว ได้แก่ การปล่อยปละละเลยให้คุณภาพชีวิตตกต่ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีความสุข คือสัญชาตญาณในปัญญา มันเป็นสัญชาตญาณของปัญญาที่ปรับตัวมาจนถึงจุดสุดยอดของชีวิต และในฐานะที่เป็นสัญชาตญาณสูงสุด การกระทำใด ๆ ในครรลองนี้จึงถือได้ว่า ให้ความสุขสุดยอดแก่มนุษย์ทุกคน จึงเป็นสิ่งน่าเสียดายสุดขีดหากมีผู้ไม่รู้เรื่องนี้ซึ่งเป็นเรื่องของ มนุษย์โดยแท้ ส่วนผู้รู้และไม่ปรับตัวให้ถึงขั้นระดับสัญชาตญาณสูงสุดของมนุษย์ ย่อมได้ชื่อว่าน่าสมเพชและน่าสงสารอย่างที่สุด เพราะเขามีสภาพเหมือนใกล้เกลือกินด่าง มีโอกาสแต่ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องฉวยโอกาสไขว่คว้ารับเอาความสุขสูงสุดที่ มนุษย์พึงมีพึงได้ งานวิจัยนี้จึงพยายามหาข้อพิสูจน์มาชี้แจงให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ถึงข้อ เท็จจริงข้อนี้ในชีวิต และเกลี้ยกล่อมให้รับเป็นนโยบายแห่งชีวิตด้วยความเชื่อมั่น ถึงจุดนี้เรียกว่าจี้ถูกต่อมคุณธรรม และเขาจะอยากทำดีอย่างมีความสุข
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักวิเคราะห์สังคมและการเมืองมากมาย พยากรณ์ถึงอนาคตของมนุษยชาติ ส่วนมากได้พยากรณ์ว่าจะเกิดสงครามล้างโลกด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือหนังสือ The Clash of Civilization เขียนโดย Huntington ที่ให้ข้อคิดว่า ทางรอดของมนุษยชาติคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ ซึ่งผู้วิจัยได้วิเคราะห์ไว้แล้วในบทที่ 2 และ 3
ขณะนั้นปรัชญาหลังนวยุคแบบสุดขั้ว (extreme postmodernism) จากฝรั่งเศสกำลังเผยแพร่ไปตามมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาและตามสื่อมวลชน ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งรวมตัวกันคิดหา วิธีปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา และใช้อำนาจหน้าที่จัดการการศึกษาแผนใหม่ โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาของมนุษยชาติได้ตามคติของปรัชญาหลังนวยุคแบบสุดขั้ว ออกมาเป็นแผนการศึกษาแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ตามรายงานในเอกสาร Values Clarification ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1972 ว่า “ให้นักเรียนตระหนักถึงความรู้สึกของตนเอง ความคิดของตนเอง ความเชื่อของตน และระบบคุณค่าของตนเอง” นั่นคือในห้องเรียนศีลธรรมแทนที่ครูจะระบุว่านักเรียนพึงเรียนรู้และปฏิบัติ คุณธรรมข้อใดบ้าง กลับกลายเป็นว่าครูจะต้องรับฟังและรับรู้จากนักเรียนแต่ละคนว่า เขาชอบอะไรและต้องการอะไร นักเรียนไม่ต้องรู้คุณค่าทางศีลธรรมไม่ต้องกำหนดว่าเขาพึงประพฤติตนอย่างไร บ้าง เพียงแต่บอกว่าอยากทำอะไรบ้างก็พอแล้ว “ครูถูกห้ามมิให้วางกรอบกำหนดขอบเขตความอยากของนักเรียน นักเรียนบอกได้อย่างเสรีว่า ตนยกย่องคุณค่าใดโดยชี้แจงเหตุผลประกอบได้อย่างตามใจชอบ ครูต้องระวังตัวไม่ให้เผลอวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันขาด การสอนศีลธรรมแบบนี้รับรองได้ว่านักเรียนไม่เครียดในห้องเรียน เพราะนักเรียนจะรู้สึกว่า การเลือกความประพฤติก็เหมือนการเลือกรับประทานอาหารตามรสนิยม จิตใจปลอดโปร่งสบายดี (William Bernett, 1994, p.56.)
ความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกา
ชาวสหรัฐอเมริกาใช้การอบรมคุณธรรมมาจนถึงประมาณ ค.ศ. 1960 จึงมีผู้เสนอความคิดว่าการอบรมคุณธรรมยังตอบสนองกระบวนทรรศน์นวยุคไม่เพียง พอ เพราะเมื่อศึกษาจิตวิทยาด้วยวิธีวิทยาศาสตร์กันมากขึ้น ก็พบว่าคุณภาพชีวิตของมนุษย์ต้องการเสรีภาพมากกว่านั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพใน ตนได้อย่างเต็มที่ เมื่อเป็นเช่นนั้นในการอบรมบ่มนิสัย ครูไม่ควรเสนอชุดคุณธรรมต้นแบบหรือแม้แต่บุคคลต้นแบบ ซึ่งจะเป็นการนำร่องทำให้ผู้รับการอบรมลดความกระตือรือร้นที่จะคิดหาด้วยตน เองให้เหมาะกับพรสวรรค์ของตน บทบาทของครูจึงควรจำกัดอยู่แค่กระตุ้น และชี้แนะให้ผู้รับการอบรมแต่ละคนคิด และกำหนดเป้าหมายและวิถีชีวิตของตนเอง ครูมีหน้าที่รับรู้และบันทึกไว้ เพื่อหาคำแนะนำอย่างเหมาะสมให้แต่ละคนได้มุ่งมั่นหาวิธีดำเนินการเพื่อบรรลุ เป้าหมายได้อย่างดีที่สุด เมื่อจบหลักสูตรครูก็จะประเมินให้คะแนนตามระดับความสำเร็จในการบรรลุเป้า หมายที่วางไว้ วิธีอบรมบ่มนิสัยแบบนี้จึงได้ชื่อว่า Clarification Education (การอบรมแบบถ้อยแถลง)
การอบรมแบบถ้อยแถลงได้รับความนิยมและแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว 10 ปีต่อมากลายเป็นที่ยอมรับว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้เขียนตำราและคู่มือประกอบการเรียนการสอนมากมาย เฉพาะ Values Clarification : A Handbook of Practical Strategies for Teachers and Students เล่มเดียวขายได้ถึง 600,000 หน่วย(Sidney Simon, 1972.)
ผลลัพธ์ด้านบวกก็คือ คนรุ่นใหม่ (จำนวนหนึ่ง) ชื่นชอบและตื่นเต้นมากที่รู้สึกว่าได้รับการปลดปล่อยจากการครอบงำโดยระบบ ความคิดของผู้อาวุโส พวกเขารู้สึกได้รับเกียรติและได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำอะไรก็ได้รับการสนับสนุนและได้รับการยกย่องว่าดีไปหมด ผลลัพธ์ด้านลบมีมากกว่า คือ เกิดกระแสทำตามใจตัวเองอย่างถูกกฎหมายมากมาย โคลเบิร์ก เขียนหนังสือลือชื่อสนับสนุนขบวนการดังกล่าว บางกลุ่มก็ยังผลกระทบที่น่าหนักใจและยังผลมาจนทุกวันนี้ เช่น กลุ่มฮิปปี้ กลุ่มฆ่าตัวตาย กลุ่มเสพยาเสพติด กลุ่มเสรีทางเพศ เป็นต้น ฮาร์มีนได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ไว้ว่า
การเน้นด้านปล่อยวางคุณค่า (value neutrality) ของการอบรมแบบถ้อยแถลงนั้นเชื่อได้ว่าลบล้างศีลธรรมที่เคยมีมาลงไปอย่าง มาก…คิดย้อนหลังไปแล้วก็น่าเสียดายที่เราชะล่าใจปล่อยผี โดยปล่อยวางคุณค่ากันเกินไป อันที่จริงก็เป็นสามัญสำนึกที่ดีอยู่แล้วที่กล่าวได้ว่าการทำให้จริงดีกว่า การทำให้เท็จ การดูแลกันดีกว่าการทำร้ายกัน ความภักดีดีกว่าการทรยศ และการแบ่งปันดีกว่าการขูดรีด (Merrill Harmin, 1988, pp.24-30.)
อ่าน ขยายผลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง