ปรัชญาอินเดียสามารถแยกศึกษาออกได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ ปรัชญาอินเดียโบราณ (Ancient Indian philosophy) คือ ปรัชญาอินเดียในช่วงสมัยอารยันซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่ศาสนา และปรัชญาอินเดียร่วมสมัย (Contemporary Indian philosophy) คือปรัชญาอินเดียในช่วงรอยต่อของสมัยมุสลิมกับสมัยอาณานิคมซึ่งมีแรงจูงใจอยู่ที่สภาพสังคมและการเมืองของอินเดียในขณะนั้น โดยศึกษาได้จากคัมภีร์ทางศาสนาเช่น พระเวท พระไตรปิฎก จากสูตรต่างๆ เช่น โยคะสูตร จากมหากาพย์สำคัญเช่น มหาภารตะ จากงานวรรณกรรมสำคัญเช่น ธรรมศาสตร์ อรรถศาสตร์ กามสูตร อีกทั้งงานเขียนของนักปรัชญาอินเดียร่วมสมัย เช่น คีตาญชลี ของ รพินทรนาถ ฐากูร
ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดีย สำนักปรัชญาหลักของอินเดียมีทั้งหมด 9 สำนัก แต่ละสำนักนั้นมีความคิด เรื่องความจริง โลกและชีวิตแตกต่างกันออกไป แต่ยังมีลักษณะบางประการที่สำนักปรัชญาอินเดียเหล่านี้มีร่วมกัน ในประเด็นต่อไปนี้
1) ความสำคัญของภาคปฏิบัติ ทุกสำนักมีร่วมกันคือการให้ความสำคัญต่อภาคปฏิบัติ (practical necessity) สาเหตุที่ภาคปฏิบัติมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก็เพราะปรัชญาอินเดียทุกสำนักพยายามที่จะค้นหาว่าชีวิตควรดำเนินไปอย่างไรไม่ใช่เพียงหาความรู้เพื่อความพึงพอใจ แต่เป็นการแสวงหาหนทางหรือระเบียบของชีวิตที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่สูงสุดของชีวิต (ปุรุษารถะ)
2) ทรรศนะที่มองโลกในแง่ร้าย หรือทุนิยม (pessimism) ทุกสำนักของปรัชญาอินเดียมีความเห็นว่าโลกหรือชีวิตนั้นมีความทุกข์ ทรรศนะเช่นนี้มิใช่การมองโลกในแง่ร้ายแต่เป็นการมองโลกตามความเป็นจริง แม้ว่าจะมองโลกและชีวิตเริ่มต้นที่ความทุกข์ แต่ไม่ได้กล่าวว่าชีวิตนั้นจะต้องจบลงด้วยความทุกข์ นักปรัชญาอินเดียพยายามที่จะแสวงหาทางออกจากความทุกข์โศก และไม่มีแนวความคิดที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถพ้นจากความทุกข์ได้ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นทรรศนะที่มองโลกในแง่ดี (optimism) ก็ได้
3) ความเชื่อเรื่องสังสารวัฏ และกฎแห่งกรรม นอกจากจารวากที่เป็นพวกวัตถุนิยมแล้ว สำนักปรัชญาอินเดียทุกสำนักมีความเชื่อว่าสังสารวัฎและชีวะหรืออาตมันไม่มีจุดเริ่มต้น (ทฤษฎีอนาทิตาวะ) ไม่มีพระเจ้า (อิศวร) ที่เป็นจุดเริ่มต้น (abinitio) ของเอกภพหรือสังสารวัฏ และความเชื่อเรื่องพระเป็นเจ้า ยังมีปรากฏอยู่ในปรัชญาอินเดียหลายสำนัก
4) ทรรศนะเรื่องเป้าหมายของชีวิต (ปุรุษารถะ) เนื่องจากปรัชญาอินเดียมุ่งเน้นการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเป้าหมายของชีวิตโดยทั่วไปจึงหมายถึง บางสิ่งที่มนุษย์พยายามที่จะปฏิบัติ แสวงหาเพื่อให้ได้มาหรือพยายามที่จะบรรลุถึง ซึ่งเป็นคุณค่าที่มนุษย์ยึดมั่น สามารถกล่าวได้ว่าทรรศนะเรื่องเป้าหมายของชีวิตหรือปุรุษารถะนี้ถือเป็นทฤษฎีคุณค่าในปรัชญาอินเดียมี 4 ประการ คือ อรรถะ กามะ ธรรมะ และโมกษะ
อรรถะ หมายถึง ความร่ำรวย หรือความสมบูรณ์พร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ หรือความมั่งคั่งทางวัตถุ (ในความหมายกว้างอาจขยายความถึงความรู้ด้วยก็ได้)
กามะ ตามตัวอักษรหมายถึงความปรารถนา (desire) ในปุรุษารถะนี้จะหมายถึง ความเพลิดเพลินทางประสาทสัมผัส หรือความพึงพอใจที่เกิดจากการได้สนองตอบความต้องการหรือแรงปรารถนา
ธรรมะ หมายถึง การถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความดี
โมกษะ หมายถึง การหลุดพ้นที่เป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมัน หรือการหลุดพ้นจากความทุกข์หรือสังสารวัฏโดยสิ้นเชิง
ปรัชญาอินเดีย แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1) อาสติกะ (Orthodox systems) คือ ปรัชญาฝ่ายฮินดู 6 สำนักหรือที่เรียกว่า สัฑทรรศนะ อันได้แก่ นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมามสาและเวทานตะ ปรัชญาที่ทั้ง 6 ระบบเสนอแนวคิดที่อ้างถึงคำสอนในพระเวทมากน้อยแตกต่างกันออกไป
สำนักนยายะ ให้ความสำคัญกับเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ (ประมาณะ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรรกวิทยา มี นยายะสูตร ท่านเคาตมะผู้ก่อตั้งสำนักเป็นผู้รจนา
สำนักไวเศษิกะ วิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ และเสนอทฤษฎีพหุนิยม (ปทารถะ) มี ไวเศษิกสูตร ท่านกณาทะ ผู้ก่อตั้งสำนักเป็นผู้รจนา
สำนักสางขยะ เป็นทวินิยมที่พยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของมนุษย์ (ปุรุษะ) กับโลกภายนอก (ประกฤติ) และอธิบายวิวัฒนาการของโลก มี สางขยสูตร ท่าน กปิละ ผู้ก่อตั้งสำนักเป็นผู้รจนา (แต่สูญหายไปแล้ว มีตำราสำคัญที่ก่าแก่ที่สุดของสำนักนี้ คือ สางขยการิกา ท่านอีศวรกฤษณะเป็นผู้รจนา)
สำนักโยคะ วิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์และอธิบายวิถีทางในการเข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ มีโยคะสูตร ท่านปตัญชลีเป็นผู้รจนา
สำนักมีนามสา เป็นสำนักที่อธิบายความและให้ความสนใจในพระเวท ทั้งพยายามนำเสนอและพิสูจน์ความจริงในพระเวท มี มีมามสาสูตร ท่านไชมิมนิเป็นผู้รจนา
สำนักเวทานตะ ให้ความสำคัญกับอุปนิษัทโดยการอธิบายและแสดงความสมเหตุสมผลของคำสอนในอุปนิษัท มี พรหมสูตร หรือเวทานตะสูตร ท่านพารายณะเป็นผู้รจนา
2) นาสติกะ (unorthodox systems) เป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่จารึกไว้ในคัมภีร์พระเวทนั้นเป็นความจริงและเป็นที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์หรือท้าทาย จึงไม่มีสำนักปรัชญาใดที่อ้างถึงคัมภีร์พระเวท ได้แก่ พุทธ เชนและจารวาก
สำนักจารวาก ถือเป็นปรัชญาสำนักเดียวที่มีความแตกต่างจากปรัชญาอินเดียสำนักอื่นอย่างชัดเจนคือมีลักษณะเป็นวัตถุนิยม
ปรัชญาเชน พยายามแสดงถึงหนทางในการหลุดพ้นจากพันธะแห่งกรรมโดยให้ความสำคัญกับหลักอหิงสาคือการไม่เบียดเบียน
ปรัชญาพุทธ ใช้การวิเคราะห์ธรรมชาติของจิต โดยใช้ธรรมชาติของความทุกข์และแนวทางในการหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ