ต้นกำเนิดของอาณาจักรเปอร์เซีย จากหลักฐานโบราณคดีระบุว่า เมื่อ 15,000 ปีก่อน มีชนเผ่าล่าสัตว์เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบสูงอิหร่าน ที่ตั้งประเทศอิหร่านปัจจุบัน และพัฒนาเป็นสังคมเกษตรกรรมขึ้น
ตลอดเวลากว่า 2,500 ปี ที่ราบสูงอิหร่านถูกรุกรานซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากชนเผ่าต่างๆ จนกระทั่ง 500 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรเปอร์เซียก็เป็นปึกแผ่นภายหลังกษัตริย์ไซรัสมหาราช แห่งราชวงศ์อาเคเมเนียน พิชิตพวกมีเดียลงได้
เหตุผลหนึ่งที่ ไซรัสมหาราช สร้างอาณาจักรเปอร์เซียสำเร็จ เพราะพระองค์ทรงยอมให้กลุ่มชนต่างๆ ใต้การปกครองดำรงชีพตามวิถีตัวเอง ดินแดนเปอร์เซียจึงมีวัฒนธรรมหลากหลาย โดยมีศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) เป็นศาสนาหนึ่งของชาวเปอร์เซีย (อิหร่านปัจจุบัน) มีอเวสตะ (Avesta) เป็นคัมภีร์ของศาสนา แบ่งเป็น 5 หมวด คือ 1) ยัสนะ (Yasna) ว่าด้วยการบูชา ประกอบด้วย 18 คาถา 2) วิสเปเรท (Vispered) ว่าด้วยการสวดอ้อนวอนเทพเจ้าทั้งปวง ใช้คู่กับหมวดยัสนะ 3) เวททิทัท (Vendidad) ว่าด้วยพิธีกรรม และกล่าวถึงจักรวาล ประวัติศาสตร์ และเรื่องนรกสวรรค์ 4) ยัษฏส์ (Yashts) ว่าด้วยการสวดบูชาฑูตสวรรค์ 21 องค์และวีรบุรุษของศาสนา 5) โชรทะ-อเวสตะ (Khorda-Avesta) คู่มือสวดมนต์สำหรับศาสนิกชนทั่วไป (ราชบัณฑิตยสถาน, 2552: หน้า 80)
เปอร์เซียมีสายสัมพันธ์กับไทยมายาวนานไม่ต่ำกว่า 400 ปีก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากหลักฐานอย่างเหรียญกษาปณ์ ดวงตรา ลูกปัด เครื่องใช้ ฯลฯ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หลักที่ 1 พบคำว่า “ปสาน” ซึ่งมาจากคำ “บอซัร” หรือ “บาซาร์” ที่แปลว่า ตลาดห้องแถว ตลาดขายของแห้งในภาษาเปอร์เซีย
อีกหลายปีต่อมา แขกสองพี่น้องนาม เฉกอะหมัด และ มุฮัมหมัดสะอิด เดินเรือมาตั้งห้างร้านค้า ขายในกรุงศรีอยุธยา และหนึ่งในนั้นกลายเป็นต้นตระกูลขุนนางที่มีบทบาทยิ่งในประวัติศาสตร์สยามประเทศ ในยุคนั้นมีของเพียง 2 สิ่งที่ราชสำนักอยุธยานำเข้าจากดินแดนเปอร์เซีย คือ พรม กับน้ำดอกไม้เทศ หรือ “กุล้อบ” ที่คนไทยออกเสียงเพี้ยนเป็น “กุหลาบ” และกลายเป็นชื่อเรียกดอกกุหลาบในเวลาต่อมา (ข่าวสดรายวัน, 2551: 18 ม.ค. หน้า 28)
วัฒนธรรมของอารยธรรมเปอร์เซีย แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1) อารยธรรมเปอร์เซียเก่า ก่อนนับถือศาสนาอิสลาม และ 2) อารยธรรมเปอร์เซียใหม่ตามวิถีชีวิตอิสลาม คำว่า “อิสลาม” หมายถึง การนอบน้อมมอบตนอย่างสิ้นเชิงต่อพระเจ้าคืออัลเลาะห์ เพื่อความสันติสุขศาสนาอิสลามจึงได้แก่วิถีที่นอบน้อมมอบตนต่อพระอัลเลาะห์เพื่อสันติสุข จริยธรรมแบบศาสนาอิสลาม คือประมวลกฎศีลธรรมจากคัมภีร์ อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม
มาร์เกอริต เดล คุยดีเซ (2551) ได้กล่าวถึงเรื่องราวที่ว่าด้วยชาวอิหร่านผู้ยังคงยึดมั่นในรากเหง้า ถึงแม้จะผสมผสานกับวัฒนธรรมอิสลามในเวลาเดียวกัน แต่ความเป็นเปอร์เซียของอิหร่าน อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอิสลามและตะวันตกส่วนหนึ่ง ความเป็นเปอร์เซียอีกส่วนหนึ่งอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอัตลักษณ์ อัตลักษณ์นี้หล่อหลอมขึ้นจากองค์ประกอบที่ขัดแย้ง ทางหนึ่งคือร่องรอยของความรื่นรมย์ในชีวิตแบบเปอร์เซียแห่งความเป็นเปอร์เซียที่มักจะเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลาม และอีกทางหนึ่งคือความเชื่อในชะตากรรม บทสวดอธิษฐานที่ยังคงถักทอร้อยรัดอยู่ในอาภรณ์แห่งความเคร่งครัด และเสียงเพลง บทกวี ความรัก เหล้าองุ่น (ศิลปะการเอาตัวรอดในวิถีเปอร์เซีย) ผลหมากรากไม้ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากวัฒนธรรมเปอร์เซีย
ชะฮีด อัลลามะฮ์ อายาตุลลอฮ์ มุรตะฎอ มุเฎาะฮารี (2555) กล่าวไว้ว่า ในตอนต้นหล่อหลอมให้เกิดหลักคิดแบบการตีความแบบอิสลามภายใต้สาระความรู้ของรหัสยวิทยา (Mysticism) ที่มีสองแง่มุม คือ ด้านปฏิบัติ (Practical) และด้านทฤษฎี (Theoretical) ด้านปฏิบัติของรหัสยวิทยา (Practical of Mysticism) คือส่วนของการปฏิบัติที่อธิบายถึงความสัมพันธ์และหน้าที่ต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ปฏิบัติต่อตนเอง ต่อโลกและต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นการปฏิบัติด้วยจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า “การจาริกทางจิตวิญญาณ” เพราะว่ามนุษย์มีความปรารถนาที่จะบรรลุถึงจุดสูงสุดอันเป้าหมายของความเป็นมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว การเดินทางในลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องมีผู้ชี้นำทางจิตวิญญาณที่มีประสบการณ์ แนวคิดนี้เป็นความเชื่อของพวกฟูชีชน ที่ถือว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงขั้นเอกานุภาพได้ด้วยวิธีการคิดเชิงปรัชญา แต่ถ้าเป็นเรื่องของจิตใจมนุษย์สามารถบรรลุขั้นเอกานุภาพได้ด้วยการผ่านวิธีการชำระและขัดเกลาจิตวิญญาณของเขาให้บริสุทธิ์ โดยการขจัดความปรารถนาใฝ่ต่ำของเขา และดำเนินไปในแนวทางจาริกทางจิตวิญญาณเท่านั้นจึงจะบรรลุได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับจริยศาสตร์ ที่กล่าวว่า บุคคลควรจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร
ซูฟี กำเนิดจากสังคมมุสลิมในกรอบความคิดและการปฏิบัติของอิสลาม โดยอาศัยทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในได้แก่ 1) คำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาจิตใจ ชี้ชวนให้ตีความเชิงนามธรรม 2) การปฏิบัติตนของศาสดาและสาวกที่ใช้ชีวิตแบบสมถะและทุ่มเทกับการปฏิบัติศาสนกิจ 3) แนวโน้มสังคมที่ฟุ่มเฟือยและหย่อนศีลธรรม 4) การพัฒนาทางวิชาการ กฎหมาย และศาสนศาสตร์ที่เน้นรูปแบบการปฏิบัติภายนอก ปัจจัยภายนอกอีกส่วนคือ เป้าหมายชีวิตและการปฏิบัติที่ประกอบด้วยความคิดและวิธีปฏิบัติจากวัฒนธรรมต่าง ๆ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2552: หน้า 544 -547)
หลักความเชื่อพื้นฐานของอิสลาม มี 6 ประการ ประกอบด้วย 1) ศรัทธาในอัลลอฮ์ 2) ศรัทธาในบรรดามลาอิกะฮ์ 3) ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ 4) ศรัทธาในบรรดาเราะซูล 5) ศรัทธาในปรโลก และ 6) ศรัทธาในการกำหนดของอัลลอฮ์ และหลักปฏิบัติ 5 ประการ ประกอบด้วย 1) การปฏิญาณตน 2) การละหมาด 3) การจ่ายซะกาต 4) การถือศีลอด 5) การบำเพ็ญฮัจญ์
หลักคิดตามกรอบความรู้ของรหัสยวิทยาทำให้เกิดคำที่ต้องการระบุถึงบุคคลที่ปฏิบัติตนตามแบบ “ซูฟีชน” คือ นักอุทิศตนและนักพรต เหตุที่ถูกเรียกว่า “ซูฟี”เนื่องจากการบำเพ็ญพรตและตัดขาดกับทางโลกและกลุ่มรักสันโดษ จึงไม่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอ่อนนุ่น แต่แต่งกายด้วยขนสัตว์ที่เย็บอย่างหยาบๆ และดูเก่า คำว่า “ซูฟี” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกเพื่อเรียก อะบูฮาชิมแห่งกูฟะฮ์ ในช่วงศตวรรษที่ 2 แห่งฮิจเราะฮ์ และอีกคำหนึ่งเรียกว่า “อาริฟ” ซึ่งความหมายว่า ผู้รู้จักพระเจ้า ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจเราะฮ์
ใน รุไบยาต วรรณคดีของเปอร์เซียประพันธ์โดย ฮะกิม โอมาร์ คัยยาม ซึ่งเป็นมหากวีและนักปราชญ์คนสำคัญของชาวเปอร์เซีย ได้แสดงให้เห็นร่องรอยการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่ได้อย่างหลากหลาย ทั้งรูปแบบในการประพันธ์ปรากฏการใช้รหัสยวิทยาเพื่อการสื่อสารอย่างชัดเจน
ความดีและความงามในทรรศนะนักปรัชญาเปอร์เซีย และศาสนาอิสลาม จึงถูกสื่อในเชิงสัญญะจากผู้ที่ปฏิบัติตนแบบซูฟีชน ซึ่งยึดถือเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติที่ดี ดังนั้นมาตรการการตัดสินความดีและความงามในทรรศนะนักปรัชญาเปอร์เซียคือการปฏิบัติที่ดีตามกรอบของศาสนาอิสลาม