
อรรถปริวรรต คำสันกฤต อรฺถ คำมคธ อตฺถ แปลว่า เนื้อความ รวมกับคำสันสกฤต ปริวรรต และมคธ ปริวัตฺต แปลว่า หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนไป แปรไป รวมกันเป็นอรรถปริวรรต จึงแปลได้ว่า การแปรเนื้อหาจากความหมายตามตัวอักษร เป็นความหมายตามความต้องการของผู้ใช้ร่วมกัน
อรรถปริวรรตศาสตร์ (Hermeneutics) คือ วิชาว่าด้วยการตีความหมาย กินความถึงวิธีการ รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการตีความหมายหรือวิเคราะห์ความหมายของภาษา รากศัทพ์ภาษาอังกฤษมาจากภาษาลาตินว่า hermeneutica ซึ่งต่อมาภาษาต่าง ๆ ในยุโรปก็ดัดแปลงให้เข้ารูปศัพท์ศาสตร์ของตน จึงได้คำ hermeneutics ในภาษาอังกฤษ รูปศัพท์ละตินเดิมมาจากคำกรีก ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อวิชามาแต่เดิม แต่เป็นศัพท์สามัญแปลว่าคำพยากรณ์ของผู้เข้าถึงสิ่งเหนือธรรมดา ซึ่งมักจะต้องมีผู้รู้ตีความออกมาอีกทีหนึ่ง เช่น ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าบนภูเขาเดลฟาย (Delphi) มีวิธีพยากรณ์ได้แม่นยำมากโดยทำพิธีให้มีพระผู้หญิงสูดควันจากซอกหินเพื่อให้หมดสติและเพ้อออกมา มีพระผู้ชายทำหน้าที่ตีความว่าเทพอพอลโลต้องการตอบคำถามอย่างนั้น ๆ เป็นต้น [2]
ตีความหมายเพื่อต้องการอะไร การตีความหมายเพื่อต้องการให้รู้ว่า
๑) ตีความคำ เพื่อให้รู้ว่าคำนั้นเกี่ยวกับอะไร เรื่องอะไร(ควรศึกษาจากนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์)
๒) ตีความประโยค เพื่อให้รู้ว่าประโยคนั้นมีสถานการณ์อะไร อะไรเกิดขึ้น (เพิ่มด้วยวิชาตรรกวิทยาและปรัชญาภาษาอุดมคติ)
๓) ตีความข้อความ เพื่อให้เข้าใจว่าข้อความนั้นมีคุณค่าทางไหนและอย่างไร (เพิ่มด้วยวิชาสัญศาสตร์)
๔) ตีความเรื่องเล่า (narrative) เพื่อเข้าใจความหมายเบื้องหลังของเรื่องเล่านั้น (เพิ่มด้วยปรัชญาภาษาสามัญ)
๕) ตีความเพื่อขจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความระแวงและความเข้าใจผิด จึงควรตีความดีกว่าปล่อยทิ้งไปจนเกิดความเสียหาย (เพิ่มด้วยปรัชญาโลกาภิวัตน์หรือหลังนวยุคนิยมสายกลาง)
๖) เพื่อตอบสนองความอยากรู้ความหมายของมนุษย์ ดังที่แมร์โลปงตี(Merleau-Ponty) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “คนถูกสาปให้อยากรู้ความหมาย” (Man is condemned to meaning) (เพิ่มด้วยปรัชญาทั่วไป) [3]
การตีความควรตีความหมายเรื่องใดบ้าง
๑) ทุกเรื่องที่ตีความหมายแล้วเกิดประโยชน์หรืออาจป้องกันความเสียหายได้ ย่อมอยู่ในข่ายทั้งสิ้น
๒) การใช้ภาษาทุกครั้งต้องการการตีความหมาย หากกระทำอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ โดยความเคยชิน หรือสัญชาตญาณ
๓) กฎหมายต้องตีความหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมและความเป็นธรรมตลอดจนป้องกันการเอาเปรียบกัน ตามเจตนาของผู้มีอำนาจตรากฎหมาย
๔) วรรณกรรมและศิลปกรรม ต้องการตีความหมายเพื่อประเทืองปัญญาและเสวยอารมณ์
๕) ปรัชญาต้องการตีความหมายเพื่อประเทืองปัญญาและเสวยความประหลาดใจ
๖) ศาสนา ต้องการตีความหมายเพื่อเข้าถึงความลี้ลับที่ผู้ยังเข้าไม่ถึงจะได้เข้าถึงบ้าง
๗) ตีความทุกอย่างที่น่าสนใจ
๘) ตีความทุกสัดส่วนของภาษาต้องการตีความหมาย ภาษาจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการตีความหมายทุกสัดส่วน ซึ่งจะต้องตีความตั้งแต่หน่วยย่อยที่สุดไปหาหน่วยใหญ่ที่สุดดังนี้ หน่วยเสียง(phoneme) หน่วยคำ(morpheme) คำ(word) ประโยค(sentence) ข้อความ(passage) ตัวบท(text) บทภาษา(discourse) ประเด็น (topic) เรื่องเล่า(narrative)
บทบาทของอรรถปริวรรตในปรัชญาอาจแบ่งออกได้ ๓ ระยะ คือ
๑) ระยะตัวก่อตัว เริ่มเห็นคุณค่าของวิธีอรรถปริวรรตในการช่วยทำให้ความเข้าใจชัดเจน แต่ยังติดอยู่กับความคิดเป็นระบบแบบเดิม
๒) ระยะพัฒนา ผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของวิธีอรรถปริวรรตพยายามพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
๓) ระยะเข้าสู่โลกาภิวัตน์ เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้อรรถปริวรรตตามที่นักคิดในอดีตได้ช่วยกันพัฒนาเรื่อยมาตามลำดับ ทำเกิดความแตกฉานมากขึ้น พร้อมทั้งวิเคราะห์และวิจารณ์เพื่อพัฒนาวิธีอรรถปริวรรตให้มีประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป
เนื่องจากความคิดทางด้านปรัชญาได้ดำเนินการมาอย่างเป็นระบบ เพื่อการมองหาภาพรวมของความเป็นจริง เพื่อใช้เป็นจุดยืนในการมองโลกและชีวิตในทุกประเด็น โดยถามทุกอย่างที่ถือว่าเป็นความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ที่วิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นความรู้วิทยาศาสตร์ และสถานภาพของวิทยาศาสตร์ด้วย ทั้งถามถึงคุณค่าของทุกอย่างที่มนุษย์สนใจ และสถานภาพของปรัชญาเอง ดังนั้นการมองหาความเป็นจริงที่ผ่านมา แม้ต้องตีความผ่านเรื่องเล่าปรัมปรา ได้มีผู้เสนอวิธีการตีความหมาย ๕ นัย[4] คือ
๑. ตีความตามตัวอักษรหรือโดยพยัญชนะ (Literary Interpretation) คือเข้าใจตามที่ภาษาสื่อตรง ๆ เช่น สุริยเทพแต่งงานกับเจ้าแม่ธรณีเกิดลูกเป็น ฟ้า ลม ส่วนเทพสมุทรและเทพบาดาลเป็นน้องชาย ก็เข้าใจตามนั้นจริง ๆ
๒. ตีความโดยสัญลักษณ์ (Symbolical Interpretation) คือ เข้าใจว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เรื่องเล่าปรัมปรากล่าวถึงนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความเป็นจริงที่ต้องการสอนเท่านั้น มีนักปราชญ์ที่เข้าใจกฎเกณฑ์และความเป็นไปของธรรมชาติได้มากกว่าระดับไสยศาสตร์ แต่ภาษายังพัมนาไม่ทันความต้องการทางวิชาการ นักปราชญ์เหล่านี้จึงพยายามหาทางออกโดยสอนด้วยสัญลักษณ์ให้เข้าใจว่าในธรรมชาติมีพลังหลายอย่าง ต่างก็มีกฎเกณฑ์ของตน พลังย่อย ๆ บางครั้งก็เสริมกันบางครั้งก็ขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตามพลังต่าง ๆ ก็อยู่ร่วมจักรวาลกันได้เพราะมีพลังสุริยะเป็นผู้ประสาน จึงยกให้เป็นเทพบิดรหรือเทวราช อย่างไรก็ต้องแยกให้ได้ว่าส่วนใดน่าจะเรื่องเล่าปรัมปราแท้ ๆ ส่วนใดเป็นภาษาไสยศาสตร์และภาษาไร้กฎเกณฑ์แทรกเข้ามา
๓. ตีความโดยอรรถ (Idiomatic Interpretation) คือตีความตามสำนวนภาษาที่ใช้ แง่นี้เป็นเรื่องความละเอียดลออที่จะต้องพิจารณาเป็นสำนวน ๆ ไป เพราะเรื่องเล่าทั้งหลายมักใช้สำนวนโวหารเป็นช่วง ๆ เพื่อไม่ให้จืดชืดน่าเบื่อ บางครั้งตั้งใจเปรียบเทียบ บางครั้งก็ตั้งใจพูดให้เกินความจริงแบบมหากาพย์ และบางครั้งตั้งใจบอกตรง ๆ ตามตัวอักษร เป็นต้น
๔. ตีความตามที่พิสูจน์ได้ด้วยเหตุผล (Rational Interpretation) เป็นวิธีที่นักนวยุคนิยมชอบใช้ ทำให้ความหมายถูกตีกรอบอยู่ในระบบที่กำหนดขึ้น ขาดความตล่องตัวอันควร ซึ่งเรื่องนี้นักหลังนวยุควิจารณ์อย่างกว้างขวางทั่วไปอยู่แล้ว
๕. ตีความด้วยวิจารณญาณ (Critical Interpretation) คือต้องฝึกสมองให้มีวิจารณญาณทั้งเชิงวิเคราะห์ ประเมินค่า เปรียบเทียบ แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า ประมวลขึ้นเป็นข้อเสนอแนะและชี้แนะสังคม โดยใช้อรรถปริวรรต (hermeneutics) อันทันสมัยเป็นหลัก
[1] กีรติ บุญเจือ อรรถปริวรรต คู่เวรคู่กรรมปรัชญาหลังนวยุค, พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๑ .
[2] กีรติ บุญเจือ. ปรัชญอรรถปริวรรตของมนุษยชาติ(ช่วงพหุนิยม), เล่ม ๖ ในชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น. พิมพ์ครั้งที่ ๑ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, ๒๕๔๖), หน้า ๑ : บรรทัดที่ ๖ – ๑๔.
[3] เล่มเดิม, หน้า ๒๗ – ๒๘.
[4] กีรติ บุญเจือ, “ย้อนอ่านปรัชญากังขาของมนุษยชาติ”(ช่วงวิจารณ์ระบบเครือข่าย), เล่ม ๕ ในชุดบรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น, หน้า ๗๘- ๗๙.