
ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต:
การศึกษาปรัชญากระบวนทรรศน์ยุคกลาง (medieval paradigm philosophy) เน้นมโนคติทางปรัชญาที่เกี่ยวเนื่องด้วยศาสนาคริสต์ในยุคกลางของยุโรป ราว ค.ศ. 529 จนถึง ค.ศ. 1700 อย่างไรก็ตาม กรอบแนวคิดปรัชญากระบวนทรรศน์เชื่อว่า ปรัชญากระบวนทรรศน์ยุคกลางเน้นความเชื่อ การถาม-ตอบที่เป็นหนทางไปสู่โลกหน้า (next world) หรือชีวิตหลังความตาย (after life) โดยการศึกษาปรัชญากระบวนทรรศน์ยุคกลางของตะวันตก นับจากปี ค.ศ.529 ซึ่งศาสนาคริสต์ได้รับการยกเป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมัน และมีการห้ามนับถือศาสนาอื่นทำให้อิทธิพลของศาสนาคริสต์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกว่า 1,000 ปี หากแต่ปรัชญากระบวนทรรศน์ยุคกลางในศาสนาอิสลามนับเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.622 ซึ่งเป็นปีที่ 1 แห่งฮิจเราะห์ศักราช และ ปรัชญากระบวนทรรศน์ยุคกลางในศาสนาพุทธ นับเริ่มตั้งแต่ปี ก.ค.ศ.543 ซึ่งเป็นปีที่ 1 แห่งพุทธศักราช
คำถามสำคัญแห่งยุคคือ การประนีประนอมปรัชญากับศาสนาทำได้อย่างไร โดยมีข้อเสนอสำคัญคือ
- ไม่มีการประนีประนอม ศาสนาประเสริฐกว่าปรัชญา อย่าเสียเวลาสนใจปรัชญา พึงเร่งบำเพ็ญกุศลอย่างเคร่งครัด
- ประนีประนอมด้วยลัทธิเพลโทว์ใหม่ (Neo-Platonism)
- ประนีประนอมด้วยลัทธิอย่างอริสโตเติล (Aristotelianism)
ในยุคกลางนี้ได้เกิดแนวคิด Si Vis Pacem, Para Bellum แม้นหวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์ (พระราชนิพนธ์ “เสือป่า”) อย่างไรก็ตาม ในยุคกลางไม่ได้ผลิตความรู้ปรัชญาเฉพาะเพียงแต่เท่านี้ หากแต่ได้สร้างสรรค์ความรู้ต่างๆ ไว้และได้มีการจำแนกไว้ จนทำให้เกิดการตั้งมหาวิทยาลัยตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ต่อมาในยุคสมัยใหม่ได้ขยายตัวเป็นคณะและสาขาวิชาจำนวนมากนั่นเอง
เค้าโครงความรู้ในยุคกลางแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ได้แก่
- Emergence การเกิดขึ้น เป็นเนื้อหาว่าด้วยการกำเนิดสรรพสิ่ง จักรวาลวิทยา (cosmogony) การสร้าง และ ความเป็นพระเจ้า
- Order ลำดับของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจำเพาะและผลตามที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาผ่านกฎ (law) และความสัมพันธ์ (Relation) ที่นำไปสู่กฎ ภาวะสมดุลของกฎกับความเป็นจริง
- Control การกำกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ ในปัจจุบันเพื่อให้สมดุล โดยเน้น การจัดลำดับสูงต่ำของสรรพสิ่ง (order) การจัดการอำนาจระหว่างกัน (power) ความเป็นหน้าที่ (duty) และ ความรับผิดชอบ (responsibility) โดยมีความชอบธรรมและความยุติธรรมเป็นเนื้อหาสำคัญ
- Result ผลที่เกิดขึ้นจากลำดับและการกำกับนั้น พิจารณาตามหลักเจตนา (intention) หลักอรรถประโยชน์ (utilization) และ หลักผลลัพธ์ (outcome)
การเรียนรู้จะต้องเรียนไปตามลำดับและคิดย้อนทวนไปมาในแต่ละประเภทได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับคำถามจะต้องพิจารณาเสียก่อนกว่า คำถามนั้นเป็นเรื่องในประเภทใหญ่ใด เรื่องใด และจึงค่อยพิจารณาเนื้อหาคำตอบ การตอบภายในประเภทเดียวกัน คือ การแสดงความเป็นจริง หากขยายไปสู่ประเภทที่มีลำดับก่อนหน้า เช่น คำถามอยู่ในประเภท Control เนื้อหาด้าน order แล้วขยายกรอบคิดไปถึงประเภท Order เนื้อหา law หรือ relation จะเท่ากับเป็นการทดสอบ/ตั้งทฤษฎีใหม่ นั่นเอง
One thought on “what is about knowledge in medieval paradigm”