อ.ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต
ในทางปรัชญา สิ่งหนึ่งที่เราจะศึกษาเพื่อเรียนรู้ความคิดของบุคคลสำคัญได้นั้น เราเรียนรู้ได้จากคำพูดของคนๆ นั้น คำพูด (word) เป็นสิ่งที่น่าจะวิเคราะห์เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีไว้ใช้นำทางชีวิตของเราได้ สำหรับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า พระปฐมบรมราชโองการและพระดำรัสต่างๆ ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเป็นส่วนที่น่าสนใจที่จะใฝ่รู้และตรึกตรองอย่างมีวิจารณญาณเพื่อเล็งให้เห็นคุณประโยชน์ในการที่เราจะประพฤติตนเป็นคนดีได้ อย่างไรก็ตาม การเข้าใจอย่างลึกซึ้งจะเป็นต้องตีความอย่างเหมาะสม มิใช่ตีความตามตัวอักษรแต่อย่างเดียว ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างการตีความเพื่อให้เห็นคุณค่าทางปรัชญาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่ ได้แก่
พระราชพงศาวดารใน รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ จดไว้ว่า ทั้ง ๔ รัชกาลทรงมีพระปฐมบรมราชโองการเหมือนกัน คือทรงมีพระราชดำรัสว่า
อันพรรณพฤกษชลธี แลสิ่งของในแผ่นดินทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณ์จารย์ราษฎรจะปรารถนาเถิด
จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๖ นั้น ก็มิได้จดรายงานถึงพระปฐมบรมราชโองการ
จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๗ จดพระบรมราชโองการ อันเป็นปฐมบรมราชโองการไว้ว่า
ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ
รัชกาลที ๘ ยังไม่ได้ทรงประกอบการพระราชพิธิบรมราชาภิเษก ตามโบราณราชประเพณี
พระปฐมบรมราชโองการของรัชกาลที่ ๙ คือ
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
บททดลองตีความ
เมื่อพิจารณาจากพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑-๒, ๔-๕ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการเช่นเดียวกัน ย่อมแสดงบริบทว่า พระปฐมบรมราชโองการนี้ เป็นคำพูดตามธรรมเนียมแต่โบราณ มีลักษณะเป็นจารีต และแสดงซึ่งพระราชอำนาจเหนืออาณาจักรและเขตแดนพระราชอาณาเขต ความทรงสิทธินี้เป็นของพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว หากแต่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในอันที่จะละไว้ซึ่งสิทธิเหล่านั้น เพื่อให้ราษฎรทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าครอบครองได้ แต่ในส่วนใดที่มีผู้ถือครองสิทธิอยู่แล้วนั้น พระองค์ก็ทรงพิทักษ์สิทธิของเขาผู้นั้นไว้ มิได้ริดรอนสิทธิผู้ใด การปกครองย่อมเป็นไปโดยธรรม
ส่วนพระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลที ๗ นั้น ย่อมตีความได้ว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่ในการครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงมีอำนาจเหนือดินแดนและทรัพย์ทั้งปวง แต่จะทรงปกครองโดยธรรม และเป็นที่พึ่งพา ป้องกันจากภัยต่างๆ อย่างเป็นธรรม และมีพระทัยเมตตาให้ราษฎรได้อาศัยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
พระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๙ นั้น ย่อมตีความได้ว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่จะครองแผ่นดินโดยธรรม และจะทรงทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรทุกหมู่เหล่า
จากการตีความนี้ จะเห็นบทบาทอย่างสำคัญของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในฐานะผู้นำ ผู้ปกครอง ที่เน้นการปกครองที่เป็นธรรม มีความกรุณาต่อราษฎร เป็นที่พึงพา เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองภัย และเป็นผู้ที่ทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ราษฎรมีความสุข
ผู้นำเช่นนี้ย่อมเป็นผู้นำคุณธรรม moral leadership เป็นผู้นำที่ดีที่สุดในการปกครอง เพราะเป็นผู้นำที่ใส่ใจผู้อยู่ใต้การปกครอง เป็นผู้ที่กระทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง (being for the other)
เมื่อเราตีความเชิงปรัชญาได้เช่นนี้ เราก็จะเห็นคุณค่าของคำหรือข้อความที่เราได้ตีความนั้น และเราสามารถที่จะวิธานไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า เราทุกคนมีฐานะเป็นผู้นำไม่ว่าในทางใดก็ทางหนึ่ง ในระดับใดก็ระดับหนึ่ง อาจเป็นผู้นำครอบครัว ชุมชน สังคม หรือระดับประเทศ ระดับนานาประเทศก็ได้ แต่จุดสำคัญที่จะเห็นได้ชัด ก็คือ การทำเพื่อผู้อื่น
เมื่อผู้นำมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการทำเพื่อผู้อื่น ผลที่เกิดขึ้นย่อมเป็นความสุขของทุกๆ คน อันเป็นความสุขแท้ตามความเป็นจริง (authentic happiness according to reality) นั่นเอง