อ.ดร.วิบูลย์ แสงกาญจนวนิช
อรรถปริวรรตศาสตร์ หรือ การตีความ นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความว่า อรรถปริวรรตศาสตร์ ซึ่งหมายถึง ศาสตร์แห่งการตีความ โดยมีประวัติศาสตร์สำคัญคือ แดนออเออร์ (J. C. Dannhauer, 1603-66) นำเอาคำว่า Hermeneutics มาใช้เป็นคนแรกในกลางศตวรรษที่ 17 เพื่อใช้ตีความคัมภีร์ทางศาสนา กฎหมายและวรรณคดีโดยมีเป้าหมายเพื่อหาความถูกต้องทางภาษาและประวัติศาสตร์
ต่อมา ชไลเออมาเคอร์ (Friedrich Schleiermacher 1768-2838) บิดาแห่งการตีความสมัยใหม่ได้พัฒนาการตีความต่อไปเพื่อให้ทราบเจตนารมณ์ของผู้แต่งตำรานั้นโดยถือว่าผู้แต่งตำรากับผู้ตีความวิจารณ์ตำรานั้นมีจินตนาการต่างกัน ผู้ตีความตำรานั้นน่าจะเข้าถึงความรู้สึกของผู้อ่านตำรานั้นได้ดีกว่าผู้แต่งตำรา การตีความจึงถูกนำมาใช้ตีความตำราทั่วไปโดยไม่จำกัดแต่เฉพาะตำราทางศาสนา กฎหมายและวรรณคดีอีกต่อไป
ดรอยเสน (J.G Droysen 1808-84) ได้นำเอาการตีความมาใช้กับตำราทางประวัติศาสตร์ และสรุปว่าความรู้ที่ได้จากการตีความแตกต่างจากความรู้ที่ได้จากการสังเกตทดลอง คือ แยกความรู้ทางสังคมศาสตร์ออกจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในลักษณะที่ว่าการตีความให้ความรู้มากกว่าการทดลอง
ดิลเทย์ (Wilhelm Dilthey 1833-1911) จึงได้พัฒนาศาสตร์แห่งการตีความ โดยสรุปว่า การตีความไม่ควรจำกัดให้ใช้เฉพาะกับตำราแต่ควรนำมาใช้ตีความพฤติกรรมมนุษย์ รวมถึงวัฒนธรรมและสังคมด้วย
แนวทางการตีความ ได้แก่
- ตีความคำ เพื่อให้รู้ว่าคำนั้นเกี่ยวกับอะไร เรื่องอะไร (นิรุตศาสตร์ และภาษาศาสตร์)
- ตีความประโยค เพื่อให้รู้ว่าประโยคนั้นอยู่ในสถานการณ์อะไร เกิดอะไรขึ้น ( ตรรกวิทยาและปรัชญาภาษาอุดมคติ)
- ตีความข้อความ เพื่อให้เข้าใจว่าข้อความมีคุณค่าทางใดและอย่างไร(สัญวิทยา)
- ตีความเรื่องเล่า เพื่อเข้าใจความหมายเบื้องหลังของเรื่องเล่า (Narrative) นั้น (ปรัชญาภาษาสามัญ)
- ตีความเพื่อขจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความระแวงและความเข้าใจผิด จึงควรตีความดีกว่าปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความเสียหาย (ปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง)
- ตีความเพื่อตอบสนองความอยากรู้ความหมายของมนุษย์ เป็นการตีความเพื่อแสวงหาความหมายใหม่