อ.ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต
จิตบำบัดในแนวทางหนึ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาจิตในส่วนที่อยู่ใน preconscious (สติกึ่งรู้ตัว กึ่งเหตุผล) เพื่อให้ก้าวไปสู่ conscious (สติที่มีเหตุผล) โดยเฉพาะ ความสุขที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดจากการได้มาของการเข้าใจเป้าหมายสูงสุดในชีวิต (final goal) เพราะจิตในส่วน unconscious (สติไร้สำนึก ไม่มีเหตุผล) เป็นส่วนที่พัฒนาได้ยากและไม่อาจคาดเดาผลได้
จิตบำบัดนี้เน้นการให้คำปรึกษาแบบอัตถิภาวะนิยม (Existential Psychotherapy) เป็นแนวทางการทำจิตบำบัดที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจเชิงปรัชญาถึง “ความหมายของการเป็นมนุษย์” ว่าอะไรสำคัญต่อ “ความมีชีวิตอยู่” โดยแนวคิดเหล่านี้เป็นผลงานจากนักปรัชญาและนักทำจิตบำบัดหลายท่านในอดีต ดังนั้น เทคนิควิธีการจึงมีความแตกต่างกันไปหลายรูปแบบ นักปรัชญาในลัทธินี้ ได้แก่ Soren Kierkegaard (ค.ศ.1813-55) ที่สอนให้มนุษย์เอาชนะความกลัวด้วยความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง (dare to) และ Friedrich Nietzsche (ค.ศ.1844-1900) ผู้สนับสนุนให้มนุษย์พัฒนาตนเองไปสู่อภิมนุษย์ (superman) , บิดาของลัทธิปรากฎการณ์วิทยา Martin Heidegger ( ค.ศ.1889-1976) ก็สอนให้คำนึงถึงชีวิต และการเข้าใจตัวเองในฐานะสิ่งที่อยู่ในโลก (being in itself และ being in the world)
ปรัชญาในลัทธินี้ ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยจิตแพทย์ หลายท่าน ได้แก่ Ludwig Binswanger (ค.ศ.1881-1966) Medard Boss (ค.ศ.1903-90) Victor Frankl (ค.ศ.1905-97) Rollo May (ค.ศ.1909-94) และ Irvin Yalom (ค.ศ. 1931- ) ได้เป็นผู้พัฒนาและเผยแพร่การบำบัดวิธีนี้อย่างกว้างขวาง
หลักการของการทำจิตบำบัดนี้เน้นให้คำปรึกษาเพื่อให้ผู้รับการบำบัดทำการคิด เข้าใจในมุมมองตามความเป็นจริง การเข้าใจในกระบวนทรรศน์ และ สร้างความตระหนักในสิ่งที่เหลืออยู่ของชีวิต (residue) มากกว่าสิ่งที่หมดไป สูญเสียไป (have not) และผู้บำบัดคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริง และการเผชิญหน้าเพื่อเดินทางสู่จุดหมายสูงสุดแห่งชีวิตด้วยตนเอง 4 ประการ
- Isolation : การตระหนักรู้ถึงความแปลกแยก แตกต่างของตนเอง (alien) กับความปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลก (oneness)
- Freedom : การตระหนักรู้ในอิสระของตน (free will) ความต้องการการยึดถือบางอย่างไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจ (focal thing)
- Meaningless :การพยายามหาความหมายของชีวิต สภาวะที่ตัวเองไร้ความหมาย การรู้จักตัวตนที่แท้จริง
- Death : การตระหนักรู้ถึงความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุขแท้
การให้คำปรึกษาแบบอัตถิภาวะนิยมนี้ ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องทำใจเป็นกลาง ไม่ชี้นำเป้าหมายสูงสุด แต่ต้องให้ผู้บำบัดแสดงความคิด ความเชื่อ และเหตุผลเบื้องหลังความคิดที่อยู่ในระดับจิตกึ่งสำนึกออกมา แล้วจึงค่อยๆ ให้คำชี้แนะ ชี้นำ (guidance) เพื่อให้เกิดการขยับของจิตเอง