อ.ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต
A.I. ในแง่ความเป็นเครื่องมือ มันคือสุดยอดประโยชน์ ผลจากวิทยาศาสตร์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์
ในแง่ของความสัมพันธ์ A.I. จะทำให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ในระดับ I and Thou จนถึงจุดเปราะบางที่ A.I. กลายเป็นตัวกระทำการได้เอง อำนาจในการตัดสินใจด้วยเหตุผลจะทำให้มนุษย์หมดศักดิ์ศรีลง เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเหตุผลที่สุด
อีกประเด็นที่น่าคิดคือ แนวคิดของปรัชญาสำนักปรากฎการณ์วิทยา (phenomenology) และผู้นำหน้าแห่งกระบวนทรรศน์หลังนวยุค (postmodern) คนสำคัญคือ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (1889-1976) ได้แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือ Being and Time (1927) ว่าจิตของมนุษย์ (dasein) นั้นมีลักษณะเป็นองค์รวม และการสนใจในเนื้อหาของจิตนั้นจะต้องสนใจในฐานะจิตของตัวเราเอง (the mine-self)
ความตายเป็นการเติมเต็มการมีอยู่ของจิต (dasein’s existence) การเข้าใจว่าจิตนั้นมีความสัมพันธ์กับความตายจะทำให้เราเข้าใจจิตได้ในฐานะ the whole หากแต่ตัวเราเองไม่อาจมีประสบการณ์กับการตายของตนเอง เราเพียงมีประสบการณ์จากความตายของผู้อื่น
ไฮเดกเกอร์จึงชี้ว่าจิตของเรารับรู้ความตายได้ผ่านการมีประสบการณ์กับความตายของผู้อื่น ซึ่งความรู้สึก (sense) ที่เราได้สัมผัสกับความตายของคนอื่น ๆ นั้นเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ที่จำเป็นในชีวิต แต่เราใช้ช่วงเวลามากกว่านั้นในการไว้อาลัย (mourn) จากการจากไปของผู้วายชนม์ และคิดถึงภาวะที่มีผู้วายชนม์นั้นขณะยังมีชีวิตอยู่
ความตายไม่ได้แสดงว่าตัวมันคือการสูญเสีย แต่ความสูญเสียเป็นเพียงประสบการณ์ของผู้ที่ยังคงอยู่ เขาจึงทุกข์กับความสูญเสียนั้น แต่เราจะไม่ทุกข์จากการตายของเราเอง เราเป็นเพียงผู้มีประสบการณ์อยู่ข้างๆ เท่านั้น (there alongside)
Death is thus the “possibility of the impossibility of any existence at all”
เมื่อมองในแง่มุมนี่ เราจึงต้องพิจารณาว่า A.I. สามารถมีประสบการณ์กับความตายหรือไม่ หากมีได้ A.I. มีความรู้สึกสูญเสียได้ไหม ถ้าได้ก็แสดงว่ามีจิตที่เป็นองค์รวม ก็จะเท่าเทียมกับจิตมนุษย์ได้