ทฤษฎีความต้องการลำดับขั้นของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of need, 1943)
อ.ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต
มาสโลว์ (Abraham H. Maslow, 1908-1970) เกิดที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Wisconsin ในสาขาจิตวิทยาจนจบปริญญาโท ได้รับแนวคิดพฤติกรรมนิยม ต่อมาได้รับฟังความคิดเห็นจาก Alfred Adler นักจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์ จึงได้มีแนวคิดเรื่องจิตมนุษย์ (Human mind) แบบของตนเอง ตั้งชื่อว่า Humanistic psychology สนใจเรื่องคนที่รู้จักตัวเองที่แท้จริง (self-actualizing people)
ต่อมาได้ร่วมงานกับ Max Wertheimer นักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ จึงสนใจสุขภาพทางจิต (mental health) และศักยภาพของมนุษย์ (human potentiality) ทำให้สนใจเรื่องการจูงใจเพื่อให้มนุษย์แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถ โดยเชื่อว่า แรงจูงใจนั้นจะต้องเกิดจากความต้องการของมนุษย์ และได้ทำการจำแนกลำดับความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น โดยได้นำเสนอว่า ความต้องการของคนเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการจูงใจ และความต้องการนั้นแบ่งออกได้เป็นระดับต่างๆ โดยแบ่งรูปแบบความต้องการไว้เป็น 3 ด้านคือ
- ความต้องการที่ต้องการอยู่เสมอและไม่มีวันสิ้นสุด เป็นความต้องการที่เมื่อได้รับการตอบสนองแล้วก็ยังมีความต้องการนั้นต่อไป เช่น ความต้องการในปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
- ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง จะเป็นสิ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อแรงจูงใจและมีแนวโน้มที่จะสร้างให้เกิดพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้น
- ความต้องการมีลำดับของความสำคัญแตกต่างกัน ความต้องการมีหลายด้าน บุคคลมีการแบ่งระดับความสำคัญ ความเร่งด่วนต่อชีวิตแตกต่างกันไป และจะแสดงพฤติกรรมที่นำไปสู่ความต้องการที่มีความสำคัญมากกว่าก่อนเสมอ
มาสโลว์เชื่อว่าบุคคลจะต้องตอบสนองต่อความต้องการในระดับล่างก่อนจึงจะค่อยๆ ตอบสนองต่อความต้องการขั้นสูงอื่นๆ ต่อไป
- ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs) เป็นความต้องการในปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำ อากาศ ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การพักผ่อน ความต้องการทางเพศ เป็นต้น เมื่อได้รับการตอบสนองก็จะลดระดับความต้องการลง และมุ่งสู่ความต้องการขั้นต่อไป
- ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (safety and security needs) เป็นความต้องการด้านความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ถูกทำร้ายหรือเกิดอุบัติเหตุต่างๆ
- ความต้องการทางสังคมและความรัก (social and love needs) บุคคลที่ได้รับการเติมเต็มในความต้องการทางร่างกายและมีความมั่นคงในชีวิตแล้ว จะเกิดมีความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นที่ยอมรับถึงความมีตัวตนจากคนรอบข้าง ต้องการได้รับความรักความเอาใจใส่จากบุคคลในครอบครัว เพื่อน
- ความต้องการการยกย่อง (esteem needs) เป็นความต้องการทางสังคมในขั้นสูงถึงการยอมรับและยกย่องตนเองในฐานะผู้ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เกียรติยศ ได้รับการนับหน้าถือตา เกิดเป็นความภาคภูมิใจในตนเอง
- ความต้องการความเป็นจริงในชีวิต (self-actualzation) เป็นความต้องการขั้นสูงสุดของบุคคลในการที่จะรู้ถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่แสวงหาขั้นสูง รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ต้องการ ตลอดจนทราบถึงศักยภาพของตนเองและความสามารถที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ มีการกำหนดเป้าหมายที่ท้าทายและมีความมุ่งมั่นที่จะกระทำสิ่งนั้น
มาสโลว์ได้เสนอหลักจิตวิทยาในมุมมององค์รวม (holistic approach) เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ (human existence) การจูงใจตามแนวทางของมาสโลว์จึงเน้นการเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์
One thought on “Maslow’s Hierarchy of need”