การอบรมสั่งสอนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
อ.ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต
การอบรมสั่งสอนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (educating for life-long learning) วิธีสอนแบบการปลูกกุหลาบ เฝ้าดูแล รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย จนได้เวลาที่เหมาะสมตามฤดูกาลก็จะผลิดอก สวยงาม ดูจะตรงกันกับเป้าหมายของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนทั้งในห้องและนอกห้องเรียน ศึกษาเรียนรู้ทั้งในด้านความรู้ ปัญญาและอารมณ์ เขาจะต้องแสวงหา สังเกตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา จากหนังสือหรือสื่อต่างๆ แม้แต่การเรียนรู้จากการทำงาน เพื่อช่วยให้เข้าใจและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้ากันได้กับคนอื่นๆ โดยแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันในสมรรถนะการเรียนรู้เนื่องด้วยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่
- ความสามารถในการเรียนรู้ การทำเข้าใจสิ่งต่างๆ เนื่องจากระดับการพัฒนาของสมองในช่วงอายุต่างๆ ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน เช่น เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ได้เร็วและมากกว่าผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่จะคิดแบบตรรกะได้ดีกว่าเด็ก
- ประสบการณ์ ผู้ที่มีประสบการณ์หรือเคยรู้ในเรื่องนั้นๆ ก็จะสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน
- กระบวนทรรศน์ บุคคลมีความเชื่อและสมรรถภาพคิด เกิดเป็นกระบวนทรรศน์ในการคิด เขาจะมีความสามารถในการคิด วิเคราะห์เป็นกระบวนการอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนหรือมีความคิดรวบยอดได้