ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอปท. (14)
กีรติ บุญเจือ
ความสุขแท้นั้นเป็นฉันใด
เราได้นิยามกันไว้ว่า ความสุขคือการได้ทำตามสัญชาตญาณ ปราชญ์แอร์เริสทาทเถิล(Aristotle) ได้จำแนกสัญชาตญาณของมนุษย์(human instinct,appetitus)ออกไว้เป็น 4 ระดับ คือ ระดับสสารเช่นก้อนหิน ระดับพืช ระดับอารักขายีน และระดับปัญญา
มนุษย์มีส่วนหนึ่งเป็นสสารและอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสสารอย่างเต็มที่ จึงบางครั้งอยากจะหาความสุขอย่างก้อนหิน คืออยู่เฉยๆเงียบๆไม่ต้องการให้ใครรบกวน หากเป็นก้อนหินเสียก็แล้วไปไม่มีใครว่า มันเป็นความสุขแท้ของก้อนหินและก้อนสสารทั้งหลาย แต่นี่คุณเป็นคน มันกลายเป็นความเกียจคร้านน่ารำคาญ มันไม่ใช่ความสุขแท้ของคุณและของใครทั้งนั้น มันไม่ใช่ความสุขที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปรารถนาให้คุณแสวงหา
มนุษย์มีส่วนหนึ่งเป็นพืช จึงมีสัญชาตญาณอยากมีความสุขอย่างพืช คือไชชอนรากไปดูดสิ่งพึงประสงค์จากทุกแหล่งอย่างไม่รู้จักพอ ยิ่งได้ยิ่งมีความสุขและอยากได้มากขึ้นไปอีก หากคุณเป็นพืชเราไม่ว่ากระไร มันเป็นความสุขแท้ของคุณและคุณมีสิทธิ์เต็มที่ เราเชียร์คุณและชื่นชมกับความอวบเขียวขจีของคุณ แต่สำหรับมนุษย์มันคือความโลภชัดๆ มันไม่ใช่ความสุขแท้ตามความเป็นจริง (Authentic happiness according to reality) พืชถ้าคิดได้ก็น่าจะอิจฉาเราที่มีโอกาสดีกว่ามันในการเลือกเอาความสุขที่น่าเลือกกว่าที่พืชต้องเลือกอยู่ในวงจำกัดจำเจ
มนุษย์เท่านั้นมีสัญชาตญาณปัญญา สัญชาตญาณปัญญาให้ค่าความสุขที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นความสุขแท้ ถ้าใครได้เข้าใจและลงมือปฏิบัติ ต่อมคุณธรรมของเขาจะแตก เขาจะอยากทำดีด้วยตัวของเขาเอง เพราะเขาเข้าใจดีว่ามันเป็นหนทางแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นทางแห่งความสุข ไม่ต้องรอให้พัฒนาเสร็จ แม้ขณะกำลังทำการพัฒนานั้นเอง ก็มีความสุขอยู่ตลอดเวลาแล้ว แหละนี้คือความสุขในความหมายที่ได้ตรัสประทานไว้ว่า “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาประชาชนชาวสยาม”
ทำอย่างไรรึ? ต้องศึกษาให้เข้าใจ และสมัครเข้ารับการอบรมบ่มเพาะจนเป็นนิสัย
ไม่มีวิธีอื่นบ้างเลยรึ? ไม่มี!