ซอกแซกหามาเล่า (234)
กีรติ บุญเจือ
ความเป็นมาของพระวรสารของชาวคริสต์
ศาสนาคริสต์มีคัมภีร์ของตนจริงๆตั้งแต่ปีค.ศ.393โดยการประกาศของสังคายนาแห่งฮิปโปว์(Council of Hippo) ซึ่งประกาศว่าคัมภีร์ของศาสนาคริสต์จริงๆแบ่งออกเป็น 27 เล่ม คือ พระวรสาร 4 เล่ม(มัทธิว มาระโก ลูกา ยอห์น), ประวัติศาสตร์ 1 เล่ม(กิจการอัครสาวก), จดหมายเปาโล 14 ฉบับ(โรม, 1โครินธ์, 2โครินธ์, กาลาเทีย, เอเฟซัส, ฟีลิปปี, โคโลสี, 1เธสะโลนิกา, 2เธสะโลนิกา, 1ทิโมธี, 2ทิโมธี, ทิตัส, ฟีเลโมน, ฮีบรู), จดหมายคาทอลิก 7 เล่ม(ยากอบ, 1เปโตร, 2เปโตร, 1ยอห์น, 2ยอห์น, 3ยอห์น, ยูดา),และวิวรณ์
สังคายนาแห่งฮิปโปว์ กระทำกันที่เมืองฮิปโปว์ในแค้วนคาร์เถจ(Carthage)ภาคแอฟริกา(Province of Africa)ของมหาอาณาจักรโรมันในปีค.ศ.393 หมายความว่าศาสนาคริสต์ได้รับอิสรภาพโดยกฤษฎีกาของจักรพรรดิเขินสแทนทีนมาได้ 80 ปีพอดี และหลังมรณกรรมของเปาโลถึง250 ปี(“เขิน” ใช้อักษรสูงเพียงเพื่อบอกว่าเป็พยางค์สั้น เบา ไม่เน้น ให้ออกเสียงกลางๆ ไม่จำเป็นต้องขึ้นเสียงสูงเป็นเขิ๋น ทั้งนี้เพื่อช่วยการเรียนภาษาอังกฤษของเยาวชนไทย) คริสตชนขณะนั้นเริ่มรู้สึกความสำคัญของตนและอำนาจโรมันกำลังถดถอยเพราะอนารยชนเริ่มกดดันหนักรอบด้าน ขณะนั้นเซนต์ออเกิสทีน(St. Augustine)กำลังดำรงตำแหน่งเป็นสังฆราชแห่งฮิปโปว์(Hippo)อยู่ รู้สึกอึดอัดใจที่เห็นชาวคริสต์ฮึกเหิมในการเผยแผ่ข่าวดีกันมาก อยากได้รับการยกย่องให้เป็นเปาโลคนใหม่ก็คงจะมี ว่างั้นเถอะ ที่น่ากลุ้มใจมากๆก็คือ ต่างก็พยายามหาสาวกและศิษยานุศิษย์สนับสนุนจนตั้งเป็นแก๊งเบ่งทับกันก็มี ออกัสทีนซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญา นักการศาสนาและนักบริหารจึงวิเคราะห์ออกว่าสาเหตุมาจากการที่ทุกฝ่ายมุ่งทำการเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ เผยแผ่ข่าวดีของพระเยซู แต่อ้างหลักฐานต่างกันที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยมีเหตุผลสนับสนุนว่าเป็นงานเขียนหรือบันทึกที่ได้ฟังมาจากสาวกหรือคนใกล้ชิดกับสาวกองค์ใดองค์หนึ่งของพระเยซู หรือมิฉะนั้นก็อ้างว่าเขียนโดยเปาโลเองหรือโดยศิษย์สนิทของเปาโล เป็นต้น สันตะปาปาที่กรุงโรมขณะนั้นขึ้นตำแหน่งถ่ายทอดกันมาเป็นอันดับที่ 38 แล้ว ได้วังลาเตรัน(Lateran)ซึ่งจักรพรรดิโรมันมอบให้เป็นสันตะสำนัก ก็มิได้แสดงท่าทีว่ารับรู้ปัญหาและคิดจะจัดการอย่างไรกับปัญหา ออกัสทีนแสดงความรับผิดชอบโดยเชิญบรรดาสังฆราชเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เห็นปัญหาร่วมกันมาปรึกษาหารือโดยทำตัวเป็นประธานและเจ้าภาพรับรอง ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติให้กำหนดสารบบคัมภีร์พันธสัญญาใหม่(Canon of the New Testament)ตามที่เซนต์แอธเธอแนสเฉิส(St. Athanasius) สังฆราชแห่งแอลเลิกแซนเดรีย(Bishop of Alexandria) ได้ทำไว้และเสนอเป็นความเห็นส่วนตัวให้ใช้เมื่อปีค.ศ.367 สันตะสำนักที่กรุงโรมไม่เคยคัดค้านแต่แสดงความเห็นชอบและใช้เรื่อยมาจนทุกวันนี้ คริสตจักรทั้งหลายทั่วโลกทุกวันนี้ก็พากันรับรองเป็นเอกฉันท์ การที่จะมีการพบหลักฐานต่อมาว่าบางเล่มที่มีการระบุว่าใครเป็นผู้เขียนอาจจะไม่ใช่ผู้เขียนจริงซึ่งก็เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันเชิงวิชาการอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเป็นคัมภีร์ในสารบบร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นเอกฉันท์ นับว่าโชคดีมาก
จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสืบสาวดูว่า ในเมื่อพระเยซูเองมิได้แสดงความสนใจให้มีการจดบันทึกคำเทศน์(แก่สาธารณชน)และคำสอน(แก่สาวก) และจนแล้วจนรอดก็ไม่เห็นมีสาวกองค์ใดจะสนใจบันทึกคำสอนของพระองค์ไว้เป็นหลักฐาน ดูเหมือนสาวกจะเข้าใจว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์จะอยู่ค้ำฟ้า จะทรงเป็นผู้เทศนาเองจนถึงสิ้นโลก สาวกมีหน้าที่เพียงติดสอยห้อยตามประดับเกียรติเท่านั้น ครั้นพระเยซูสิ้นพระชนม์ลงอย่างไม่คาดฝันจนฝันสลาย ครั้นเชื่อว่าพระเยซูได้ฟื้นคืนชีพและเชื่อว่าได้เห็นพระองค์เหาะขึ้นสวรรค์ไปต่อหน้าต่อตาราวเหตุการณ์ในฝัน แต่จำคำสั่งได้ก้องหูว่าให้แยกย้ายกันไปประกาศข่าวดีทั่วทุกมุมโลกก็คงมโนเอาว่าเป็นเรื่องหมูๆ พระเยซูทรงสั่งให้ไป ทรงสัญญาว่าจะมีพระจิตวิญญาณบริสุทธิ์ติดตามไปดูแลทุกฝีก้าว มีเรื่องเล่าทำนองปรัมปราว่าสาวก12องค์ก่อนจะแยกย้ายกันไปรอบทิศเพื่อประกาศข่าวดี ได้พบกันเป็นการอำลาและตกลงเสนอคำสอนกันองค์ละข้อรวมเป็น12ข้อ ให้ท่องจำกันให้แม่นยำเพื่อแน่ใจได้ว่าสอนตรงกัน เรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า Apoltles’ Creed ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า 1.ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพทรงเนรมิตฟ้าดิน 2.ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสต์พระบุตรหนึ่งเดียวของพระบิดาพระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย 3.ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ทรงบังเกิดจากพระนางมารีย์พรหมจารี 4.ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปิลาต ทรงถูกตรึงกางเขนสิ้นพระชนม์และถูกฝังไว้ 5.เสด็จสู่แดนมรณะวันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย 6.เสด็จสู่สวรรค์ประทับเบื้องขวาพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ 7.แล้วจะเสด็จมาพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย 8.ข้าพเจ้าเชื่อในพระจิตวิญญาณบริสุทธ์ 9.พระศาสนจักรศักดิ์สิทธ์สากล 10.ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์ 11.การอภัยบาป 12.การกลับคืนชีพของร่างกาย และชีวิตนิรันดร
เปาโลสอนเรื่องเหล่านี้ตามโอกาสและไม่เคยกล่าวถึง12ข้อเลย มีหลักฐานกล่าวว่าเกิดขึ้นอย่างเก่าแก่ที่สุดไม่เกินศตวรรษที่8 ในรูปของการปฏิญาณตนเป็นคริสตมามกะก่อนเข้าพิธีล้างบาป ทำให้น่าเชื่อว่าเป็นสูตรกำหนดข้อเชื่ออันเป็นเงื่อนไขแยกได้ว่าใครเป็นคริสตชนแท้ ไม่ทราบได้ว่าใช้ปฏิบัติกันมานานตั้งแต่เมื่อใด อาจจะมีมาตั้งแต่สมัยแรกๆเลยก็เป็นได้อยู่ และก็เชื่อได้ด้วยว่าสาวกรุ่นแรกที่ยังไม่มีเปาโลรวมอยู่ด้วย ได้ตกลงกันอย่างง่ายๆว่า ให้สอนอย่างน้อย12ข้อนี้ก็ถือว่ารู้ข่าวดีตามเงื่อนไขของพระเยซูแล้ว เชื่อได้ว่าน่าจะมีหลายสูตรที่มีความหมายเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน สังคายนาศตวรรษที่ 8 หรือก่อนนั้นจึงลงมติกันเลือกสูตรหนึ่งขึ้นประกาศให้เป็นทางการ เพื่อจะได้ใช้ให้เหมือนกันอย่างมีเอกภาพภายในคริสตจักร
แต่ทว่าจะประกาศข่าวดีในมหาอาณาจักรโรมันที่มีชาวกรีกเป็นครูและมีชาวโรมันปกครองด้วยกฎหมายโรมัน ใช่ว่าจะง่ายอย่างที่คิด เพราะจะเจอนักคิด นักแซว และหัวหมอ สารพัดปัญหาที่จะต้องหาทางออก ค่อยๆรู้สึกความจำเป็นต้องมีล่ามคอยแปล มีเลขานุการที่ปรึกษาทางวิชาการไว้ช่วยจำ พวกหลังนี้แหละที่จะรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีหลักฐานบันทึกและหลักฐานอ้างอิงช่วยการตอบคำถาม บันทึกจึงค่อยๆเกิดขึ้น และมีการแชร์กันโดยลอกของกันและกัน เมื่อเปาโลมาเข้ากลุ่มตอนแรกๆก็ได้พบสภาพนี้ และได้เรียนรู้ข้อตกลงเงื่อนไขต่ำสุดสำหรับผู้เข้าเป็นสมาชิก ส่งเสริมข่าวดีที่มีประมาณ12ข้อดังกล่าวข้างต้น ปัญหาข้อแรกที่เปาโลเผชิญก็คือสมาชิกส่งเสริมข่าวดีที่เป็นชาวยิวเคร่งครัดมาก่อนเรียกร้องให้รวมบทบัญญัติของโมเสสเข้าไปด้วย แต่สมาชิกที่มิได้นับถือศาสนายิวเคร่งครัดมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสายที่มาจากวัฒนธรรมกรีก ไม่อยากให้บังคับในส่วนนั้นซึ่งเปาโลเห็นด้วย แม้จะเคยเป็นยิวที่เคร่งครัดมาก่อน ปัญหายืดเยื้ออยู่ 5 ปี ในที่สุดเปโตรแสดงความรับผิดชอบโดยเรียกประชุม 2 ฝ่ายถกปัญหากันในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งน่าจะเป็นที่บ้านของมาระโกซึ่งมารดาเป็นม่ายมีฐานะดี เมื่อเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นกันพอสมควรแล้ว เปโตรก็ใช้ตำแหน่งหน้าที่ชี้ขาดว่า คัมภีร์เดิมของศาสนายิวให้รักษาไว้เป็นปรัชญาต่อไป ส่วนการปฏิบัติตามบทบัญญัติของโมเสสนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขบังคับ แต่ให้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ในเมื่อใช้ปรัชญายิวได้ เปาโลถือว่าปรัชญากรีกที่ตนได้เรียนรู้มาจากบ้านเกิดแห่งทาร์เสิส(Tarsus)ก็น่าจะใช้ได้ด้วย ซึ่งจะมีความสำคัญสำหรับเสนอข่าวดีแก่ผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมกรีกที่เปาโลรู้จักดีเพราะคลุกคลีกันมาแต่เกิดที่ทาร์เสิสอันเป็นเมืองที่เจริญด้วยวัฒนธรรมและอารยธรรมกรีก ชีวิตของเปาโลระหว่างค.ศ.50-67 จึงเป็นเวลาแห่งการเผยแผ่ข่าวดี 12 ข้อและช่วยสร้างเนื้อหาในรูปของจดหมายซึ่งจะมีผู้รวบรวมผูกขึ้นเป็นพันธสัญญาใหม่อันเป็นคัมภีร์ที่แท้จริงของศาสนาคริสต์ที่จะต้องเกิดขึ้นหลังความตายของเปาโล อันจะเป็นรากฐานสำคัญให้ศาสนาคริสต์พัฒนามาได้จนทุกวันนี้ เราได้ศึกษาความเป็นมาของจดหมายของเปาโลพอสมควรแล้ว ในตอนนี้เราจะสำรวจความเป็นมาที่น่าสนใจของพระวรสารทั้ง 4 ซึ่งก็จะมีความพิลึกกึกกือไปอีกแบบหนึ่ง
เอกสารก่อนจะเป็นพระวรสาร
เพื่อความสะดวกในการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ ให้เราเรียกจดหมายของเปาโลก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาใหม่(คัมภีร์เฉพาะของศาสนาคริสต์)ว่าเอกสารสายเฮลเลอนิสติก(เพราะตั้งใจให้คนอิ่มด้วยวัฒนธรรมเฮลเลอนีสติคอ่าน) และส่วนอื่นๆทั้งหมดว่าเอกสารสายยูเดออิค(เพราะตั้งใจเขียนให้คนอิ่มวัฒนธรรมยิวอ่าน) ก็จะวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้นว่า เอกสารก่อนจะเป็นพระวรสารเป็นเอกสารสายยูเดออิค โดยเริ่มเป็นข้อเขียนที่แยกออกได้เป็น 3 ประเภทคือ บทเทศน์ คติพจน์ และนิทานเปรียบเทียบ
1.บทเทศน์(kerygma) ผู้บันทึกเชื่อว่าเป็นแถลงการณ์(manifesto, proclamation) ของพระเยซูต่อสาธารณชนที่ตนเองจำมาได้หรือฟังจากผู้ที่จำมาได้ เช่น เทศนาบนภูเขาซึ่งประกาศโอกาสดี 8 ประการ ประกาศว่าอาณาของพระเจ้ามาถึงแล้ว
2.คติพจน์(saying, aphorism) ผู้บันทึกเชื่อว่าเป็นสูตรคำสอนของพระเยซู เช่น
– Follow me จงตามเรามา
– Son of Man บุตรมนุษย์
– Blessed are those who…..โอกาสดีแก่…….
– Those who want to save their life will lose it; and those who lose their life will save it.
– How hard it will be for those who have wealth to enter the Kingdom of
God.
– No one can serve two masters at the same time.
– If a Kingdom is divided against itself, that kingdom cannot stand.
3.นิทานเปรียบเทียบ(parable) ผู้บันทึกเชื่อว่าพระเยซูเจ้าเองได้ทรงเล่าไว้เช่นเรื่องผู้หว่านเรื่องลูกล้างผลาญ
ต่อมามีผู้เอาเอกสารทั้ง 3 เรื่องรวมเข้าด้วยกัน นักประวัติศาสตร์นิยมเรียก บ่อเกิดคิว(Q-Source) อันเป็นเอกสารที่ผู้นิพนธ์พระวรสารต่างก็มีในมือและใช้เป็นฐานสำหรับเรียบเรียงชีวิตและคำสอนของพระเยซูตามความรู้ความสามารถของแต่ละท่าน
ความสำคัญของบ่อเกิดคิว
เป็นเอกสารแรกที่บันทึกชีวิตและคำสอนของพระเยซูและเป็นเอกสารเดียวที่มีให้อ่านและลอกต่อๆกันไปได้ จึงเป็นที่ปรารถนาของผู้ตั้งใจเผยแผ่คำสอนและบทบาทของพระเยซูอย่างเช่นเปาโล แต่ก็อย่าฝันหวานว่าพอเปาโลตกลงใจอุทิศชีวิตเพื่อประกาศข่าวดีของพระเยซูก็มีก๊อปปี้ของเอกสารคิวอ่านได้จบแล้วจึงลงมือทำอุดมการณ์ของตนต่อพระเยซู หาเป็นเช่นนั้นไม่ ตอนแรกๆคงมีแค่โน้ตนิดๆหน่อยๆ อยู่ไปๆจึงค่อยๆมีเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ซึ่งเปาโลก็คงได้ติดตามและเสริมขึ้นตามโอกาส ก็ไม่ทราบว่าจนถึงวันถูกประหารชีวิตเปาโลจะได้รู้เอกสารคิวสักเท่าใด คริสตชนที่มีศรัทธาในพระเยซูก็ตั้งหน้าและอดใจรอรู้เพิ่มตอนต่อตอนจนถึงเวลาที่มาระโกเผยแผ่ผลงานเรียบเรียงของตนที่นิยมเรียกกันว่าพระวรสารโดยมาระโกตั้งแต่ประมาณค.ศ.65 นั่นแหละ จึงนิยมใช้แทนเอกสารคิว ทำให้ฉบับเอกสารคิวค่อยๆสูญหายไปจนหมด คงเหลือแต่พระวรสารและคัมภีร์พันธสัญญาเล่มอื่นๆที่จะทยอยเผยแพร่ออกมาตามลำดับ รวมทั้งคัมภีร์ข้างเคียงจำนวนหนึ่งซึ่งภายหลังจะได้ชื่อว่าคัมภีร์นอกสารบบ(Apocrypha) ก่อนมีการกำหนดสารบบในปีค.ศ.393 ทุกคัมภีร์มีน้ำหนักและบทบาทพอๆกันทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการกำหนดรู้ว่าเมื่อมีความขัดแย้งกันในเรื่องข้อเชื่อควรทำอย่างไรพอกำหนดสารบบแล้วก็หมดปัญหาส่วนนี้ไป แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาหลังปีค.ศ.393 ก่อนหน้านั้นชาวคริสต์กระหายรู้เรื่องของพระเยซู ใครอ้างว่ารู้อะไรใหม่มาเพิ่มก็จะกรูกันไปฟัง ใครอ้างว่ามีเอกสารเขียนอยู่ในมือก็อยากจะขอลอกหรือขอซื้อฉบับลอกที่มีผู้ลอกไว้ขาย กลายเป็นการฉวยโอกาสหารายได้ก็มีให้เห็น และก็มีผู้อ้างตามใจชอบกันมาก ทำให้อยากรู้ว่าเอกสารคิวที่รวบรวมเรื่องราวของพระเยซูที่ใช้เสมอคัมภีร์ในขณะที่ยังไม่มีคัมภีร์นั้นกล่าวถึงเรื่องอะไรไว้บ้าง
เนื้อหาบ่อเกิดคิวอย่างพิสดาร
อย่าลืมว่าเอกสารคิวขณะที่ถูกใช้เป็นคัมภีร์ของชาวคริสต์ก่อนมีพระวรสารให้อ่านนั้น เป็นข้อความที่อยู่กันอย่างกระจัดเกระจาย ใครมีก็มีอยู่ในมืออย่างกระท่อนกระแท่น ไม่แน่ใจว่าก่อนมีพระวรสารทั้ง4 นั้นมีใครมีบ่อเกิดคิวครบถ้วนอยู่ในมือสักคนหนึ่งหรือไม่ แม้ผู้เรียบเรียงพระวรสารแต่ละท่านก็ใช้เท่าที่แต่ละท่านมีให้ใช้ และเลือกใช้ตามแต่จะเห็นควร แม้ในปัจจุบันก็คงรวบรวมได้เท่าที่รู้ ไม่เชื่อว่าจะครบถ้วนจริงๆได้เมื่อใด ก็ให้พอใจเท่าที่นักวิชาการจะทำได้ก็แล้วกัน เป็นอันตกลงตามนี้ก็หมดเรื่อง
เท่าที่ The New Jerome Biblical Commentary รวบรวมได้มีดังต่อไปนี้
- ยอห์นพูด กับประชาชนที่มารับพิธีล้างจากตนว่า สัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำท่านทั้งหลายให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึง จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด และอย่ามาอ้างว่า เรามีอับราฮัมเป็นบิดา ข้าพเจ้าขอบอกแก่ท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าจะทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมก็ได้ บัดนี้ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่ให้ผลดีจะถูกโค่นและโยนลงในไฟ
- ผู้ที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้าจะมาและข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของท่านผู้นั้น เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลายด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ เขากำลังถือพลั่วอยู่ในมือแล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ
- พระเยซูเจ้าทรงถูกปีศาจประจญในเวลาสี่สิบวัน ตลอดเวลานั้นพระองค์มิได้เสวยสิ่งใดเลย ในที่สุดทรงหิว ปีศาจจึงทูลพระองค์ว่า ถ้าท่านเป็นบุตรพระเจ้า ก็จงสั่งให้หินก้อนนี้กลายเป็นขนมปังเถิด พรเยซูเจ้าตรัสตอบว่า มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น ปีศาจจึงนำพระองค์ไปยังที่สูงแห่งหนึ่ง แสดงให้พระองค์เห็นอาณาจักรต่างๆของโลกทั้งหมดในคราวเดียว และทูลพระองค์ว่า ข้าพเจ้าจะให้อำนาจและความรุ่งเรืองของอาณาจักรเหล่านี้ทั้งหมดแก่ท่าน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้ผู้ใดก็ได้ตามความปรารถนา ดังนั้นถ้าท่านนมัสการข้าพเจ้า ทุกสิ่งจะเป็นของท่าน พระเยซูตรัสตอบปีศาจว่า มีเขียนให้ในพระคัมภีร์ว่า จงนมัสการองค์พระเป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน และรับใช้พระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น ปีศาจนำพระองค์ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม วางพระองค์ลงที่ยอดพระวิหาร แล้วทูลว่า ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงกระโจนลงไปเบื้องล่างเถิด เพราะมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าจะทรงสั่งทูตสวรรค์ให้พิทักษ์รักษาท่าน และยังมีเขียนอีกว่า ทูตสวรรค์จะคอยพยุงท่านไว้มิให้เท้ากระทบหิน แต่พระเยซูเจ้าตรัสตอบปีศาจว่า มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า อย่าทดลององค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านเลย เมื่อปีศาจทดลองพระองค์ทุกวิถีทางแล้ว จึงแยกจากพระองค์ไป รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาสม
- พระเยซูเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายที่ยากจนย่อมเป็นสุข เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของท่าน ท่านที่หิวในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะอิ่ม ท่านที่ร้องไห้ในเวลานี้ย่อมเป็นสุข เพราะท่านจะหัวเราะ
- ท่านทั้งหลายเป็นสุข เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังท่าน ผลักไสท่านดูหมิ่นท่านรังเกียจนามของท่านประหนึ่งนามร้ายเพราะท่านเป็นศิษย์ของบุตรแห่งมนุษย์ จงชื่นชมในวันนั้นเถิด จงโลดเต้นยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านนั้นยิ่งใหญ่นักในสวรรค์ บรรดาบรรพบุรุษของเขาเหล่านั้นเคยกระทำเช่นนี้กับบรรดาประกาศกมาแล้ว
- จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน
- ผู้ใดตบแก้มท่านข้างหนึ่ง จงหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้เขาตบด้วย ผู้ใดเอาเสื้อคลุมของท่านไป จงปล่อยให้เขาเอาเสื้อยาวไปด้วย จงให้แก่ทุกคนที่ขอท่าน และอย่าทวงของของท่านคืนจากผู้ที่ได้แย่งไป
- ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด
- ถ้าท่านรักเฉพาะผู้ที่รักท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังรักผู้ที่รักเขาด้วย ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ยังทำเช่นนั้นด้วย
- พระบิดาทรงพระกรุณาต่อคนอกตัญญูและต่อคนชั่วร้าย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด
- อย่าตัดสินเขาแล้วพระเจ้าจะไม่ทรงตัดสินท่าน ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าก็จะทรงใช้ทะนานนั้นตวงตอบแทนให้ท่านด้วย
- พระเยซูเจ้าตรัสอุปมาให้เขาเหล่านั้นฟังว่า คนตาบอดจะนำทางคนตาบอดได้หรือ เพราะทั้งคู่จะตกลงไปในคูมิใช่หรือ
- ศิษย์ย่อมไม่อยู่เหนืออาจารย์ แต่ทุกคนที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดีแล้วก็จะเป็นเหมือนอาจารย์ของตน
- ทำไมท่านจึงมองเห็นเศษฟางในตาของพี่น้องชัดเจน แต่ซุงทั้งท่อนในตาของท่านกลับไม่รู้สึก ไฉนท่านจึงกล่าวกับพี่น้องได้อย่างหน้าตาเฉยว่า มาฉันจะเขี่ยเศษฟางออกจากตาของคุณ ทั้งๆที่ตาของท่านมีซุงอยู่ทั้งดุ้น คนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย จงเอาท่อนซุงออกจากตาของตัวเองเสียก่อนเถิด แล้วค่อยเขี่ยเศษฟางออกจากตาของพี่น้องต่อภายหลัง
- ต้นไม้ที่เกิดผลไม่ดีย่อมไม่ใช่ต้นไม้พันธุ์ดี และต้นไม้พันธุ์ไม่ดีย่อมไม่ให้ผลดีเช่นกัน เรารู้จักต้นไม้แต่ละต้นได้จากผลของต้นไม้นั้น เราย่อมไม่เก็บผลมะเดื่อเทศจากพงหนามหรือเก็บผลองุ่นจากกอหนาม คนดีย่อมนำสิ่งที่ดีออกจากขุมทรัพย์ที่ดีในใจของตน ส่วนคนเลวย่อมนำสิ่งที่เลวออกมาจากขุมทรัพย์ที่เลวของตน เพราะปากย่อมกล่าวสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา
อ่านต่อบทความหน้า มีส่วนที่เหลืออีกกว่า 3 เท่า