ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อปท. (13)
กีรติ บุญเจือ
ความหมายของ Sufficiency
“พอ”ย่อมาจากพอแล้ว ไม่ยอมให้มีน้อยกว่านี้ ไม่ต้องการภาวะด้อยพัฒนา(under-development)ไม่ต้องการภาวะด้อยโอกาส ไม่ต้องการความขาดแคลนต้องขอความช่วยเหลืออย่างไม่รู้จบสิ้น หากยังไม่พอตามพระราชปณิธานก็ต้องคิดอ่านช่วยกันจัดหาให้ทุกคนมีพอให้จงได้ส่วนคำว่า “เพียง”ย่อมาจากเพียงแค่นี้ ไม่ต้องการมากกว่านี้ ไม่ต้องการความเป็นเกินจริง(no hyper-reality) ไม่ต้องการความสุขจากโลกมายาที่เกินจำเป็น เพราะมันไม่ใช่ความสุขแท้ตามความเป็นจริงของมนุษย์ผู้มีปัญญา หากรู้ตัวว่ามีเกินไปแล้วก็ต้องช่วยกันขจัดอย่างชอบธรรม มีความสุขแท้ได้ตาม๘๔พระบรมราโชวาทแหละดีที่สุด เพราะจะสามารถครองตน ครองคน ครองงานตามเป้าหมายเชิงปรัชญาที่ทรงพระราชทานไว้ณวันขึ้นครองราชสมบัติว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาประชาชนชาวสยาม” ดังนั้น “พอเพียง”รวมกันจึงหมายความว่า ไม่ขาดไม่เกิน พอดีๆ สมน้ำสมเนื้อสายกลางที่ไม่ใช่บวกกันหารสอง แต่เป็นการเอาเฉพาะส่วนดีจาก 2 สุดขั้วมารวมกันตรงกลางแล้วพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นๆอย่างไม่รู้จบ จึงต้องค้ำประกันทั้ง 2 ด้านให้ได้ คือไร้ความเป็นเกินจริง (no hyper-reality) และไร้ความไม่เป็นจริง(no sub-reality) ค้ำประกันได้สำเร็จก็จะเกิดภาวะพอเพียงขึ้นโดยอัตโนมัติ ทรงบัญญัติศัพท์ขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพตั้งแต่พ.ศ.2517 ว่า self-sufficiency=ความพอเพียงเฉพาะตน 24ปีต่อมาทรงปรับยกพระราชปรัชญาขึ้นให้เป็นพระนโยบายระดับชาติ โดยทรงปรับศัพท์กุญแจ(key-word) โดยตรัสว่า “เศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า self-sufficiency คือ self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง” (พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2541)ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่พึงจำกัดให้พอเพียงเฉพาะส่วนตนที่ระบุด้วยคำว่า “self” ให้กว้างเป็น Sufficiency ซึ่งในภาษาไทยยังคงใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ต่อไปตามเดิม โดยให้มีขอบข่ายขยายวงกว้างเสมอกับพระปฐมบรมราชโองการ คือ มหาประชาชนชาวสยามทั้งชาติ
และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 คือ 1 ปีต่อมาทรงรับรองว่า “เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ…เพื่อก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์”
ไม่มีอะไรจะสงสัยได้เลยว่าพระราชปรัชญาที่ทรงรับรองต้องเป็นปรัชญาทันสมัยระดับโลกเท่านั้นจึงจะสมกับพระปณิธานตามพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ