ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อปท. (12)
กีรติ บุญเจือ
ราชปรัชญากำราบความเป็นเกินจริง
โบดริยาร์(Jean Baudrillar) เป็นนักปรัชญาทันสมัยคนหนึ่งของฝรั่งเศส เรียกโลกมายาที่ผู้ทรงอิทธิพลสร้างขึ้นหลอกชาวโลกปัจจุบันว่า “โลกแห่งความเกินจริง” (world of hyper-reality) นักคิดทันสมัยคือผู้เห็นกลลวง จึงต้องช่วยกันปลดเปลื้องชาวโลกจากสภาพมายาดังกล่าว เพื่อมีสติยึดมั่นอยู่กับความเป็นจริง(reality)อย่างมีสติ โดยสร้างกรอบความคิดขึ้นมาใหม่ (the new paradigm) เป็นกรอบที่ 5 ล่าสุดของมนุษยชาติ ผมได้สำรวจพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนแล้วพบว่า พระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาทันสมัยที่เข้ากรอบกระบวนทรรศน์5และช่วยเสริมกระบวนทรรศน์5 ของโลกได้อย่างมีคุณค่า มีข้อสะดุดใจผมอยู่นิดเดียวว่า หลักการและกรอบของปรัชญาที่ทางตะวันตกถือว่าเพิ่งค้นพบนั้นความจริงมีสอนอยู่อย่างโจ่งแจ้งแล้วในพระไตรปิฎก คืออนาลีนะเป็นหลักการ และวิภัชชวาทหรือวิเคราะห์แยกคุณโทษเป็นวิธีดำเนินความคิด ส่วนว่า “๘๔พระบรมราโชวาท” ที่มีผู้รวบรวมและเข้ากรอบปรัชญาหลังนวยุคสายกลางอย่างเหมาะเจาะนั้น มีเพียงข้อเดียวที่อ้างถึงพระไตรปิฎก คือ พระดำรัสในวันวิสาขบูชาโลก ซึ่งทรงมีพระเจตนากล่าวกับชาวพุทธทั่วโลกโดยเฉพาะ ครั้นมาคิดได้ว่า พระองค์ทรงเป็นองค์พระประมุขของพลเมืองไทยที่นับถือหลายศาสนา และทรงประกาศพระนโยบายเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา พระองค์ทรงพระวินิจฉัยเหมาะสมในการประทานพระบรมราโชวาทให้เป็นแนวปฏิบัติแก่ประชากรของพระองค์ทั่วหน้าและเสมอหน้า โดยไม่ทรงเลือกข้างหรือเดียดฉันท์ชาติพันธุ์และศาสนาลัทธิความเชื่อ ส่วนที่ว่าใครหรือกลุ่มใดจะนำไปขยายความหรือต่อยอดตามความเชื่อและ/หรือคำสอนของตนแต่ละคนอย่างไรก็พึงทำได้ตามอัธยาศัย ผมก็เลยโล่งใจและสบายใจอย่างยิ่งในการขยายผลพระราชปรัชญาต่อไปได้ตามความรู้ที่ได้เล่าเรียนและค้นคว้ามาตลอดชีวิตภายใต้พระมหากรุณาธิคุณและพระราชูปถัมภ์ซึ่งขอทูลไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดไป จึงขอถือโอกาสเชิญชวนทุกท่านทุกศาสนาและลัทธิ มาร่วมแรงร่วมใจร่วมความคิดศึกษาปรัชญาทันสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยวิธีทันสมัยแห่งสหวิทยาการจากพระดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป คือศึกษาให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงนำไปปฏิบัติกันเป็นทีมด้วยความมั่นใจในประสิทธิผล เริ่มด้วยการวิเคราะห์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปฐม