ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วารสาร อปท (11)
กีรติ บุญเจือ
ราชปรัชญาอยู่ในกรอบของปรัชญาที่ทันสมัยที่สุดระดับโลก
นักปรัชญาและนักคิดทั้งหลายระดับโลกเห็นพ้องต้องกันว่า ปรัชญาที่ทันสมัยที่สุดระดับโลกขณะนี้คือปรัชญาที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น (philosophy of detachment) ซึ่งในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้ในวิภัชชวาท(พระพรหมคุณาภรณ์, พุทธธรรม, 708) พระไตรปิฎกเรียกความยึดมั่นถือมั่นว่า อลีนะ (ดู ทิฐิสูตร) ซึ่งนิยามไว้ว่าได้แก่การถือคติว่า “อิทเมวสจฺจํโมฆมํญญํ” นี้แลจริง อย่างอื่นโมฆะหมด อนาลีนะความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นคติที่ตรงกันข้ามกับอลีนะ จึงนับได้ว่าเป็นผลหรือเป้าหมายของปรัชญาวิภัชชวาท ซึ่งนักคิดตะวันตกเรียกเป็นหลายชื่อตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น postmodern philosophy (และต้องสายกลางเท่านั้น), poststructuralism, postcolonialism, new pragmatism แต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความไม่ยึดถือมั่น โดยร่วมมือกันต่อต้านความคิดที่ว่า ความรู้มีเพียงด้านเดียวและระบบเดียวตายตัว ยังผลให้มีผู้อยากครอบครองทั้งระบบ พยายามโฆษณาชวนเชื่อและตะล่อมยัดเยียดให้ผู้คนทั้งหลายในสังคมเชื่อ เพราะในความเชื่อเช่นนี้ ใครทำได้สำเร็จมากเท่าใดก็จะมีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้เกียจคร้านแสวงหาความรู้มากเท่านั้น
ฟูโกต์ (Foucault)จึงได้กล่าวเชิงประชดไว้ว่า Knowledge is power ความรู้คือพลัง ซึ่งดูเหมือนกับว่าดี เพราะมีพลังมากก็สามารถช่วยชาติได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็สมควรประชดไว้ เพราะถ้าผู้มีความรู้มากนั้นคิดจะใช้ความรู้นั้นเพื่อหลอกใช้ผู้ด้อยความรู้และด้อยโอกาสกว่าตนและกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตนโดยทุกวิถีทาง ก็จะกลายเป็นการทุจริตใหญ่โตอย่างเอาผิดไม่ได้ ผู้มีความรู้ มีอำนาจ และมีอิทธิพลพร้อมสรรพ หากตั้งใจจะทุจริตแล้ว ก็ยากที่เอาผิด ทางกฎหมายได้ จึงหวังว่าเขาจะมีจาคะ คือจิตอาสาเสียสละ แม้มีโอกาสทุจริตได้อย่างลอยนวลก็ไม่ยอมฉวยโอกาส คนอย่างนี้มีด้วยหรือ ทำอย่างไรจึงจะมีให้มหาประชาชนได้ชื่นใจและยกย่องสรรเสริญได้อย่างสนิทใจ ราชปรัชญามีคำตอบ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ทันสมัยล่าสุดระดับโลก ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการหาความสุขกับการสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ แสวงหา ต้องช่วยกันหาวิธีอบรมผู้รับผิดชอบสังคมขณะนี้ ผู้จะรับผิดชอบสังคมในอนาคต และมหาประชาชนชาวสยามทุกคน ให้เลือกหาความสุขตามนโยบายสหวิทยาการของสมเด็จพระเทพรัตนสยามบรมราชกุมารี