Will as ideal state, the รัฐในอุดมคติคือเจตจำนง
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ฌองฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau 1712-1778) ถืออภิปรัชญาว่า มนุษย์ทุกคนดีโดยธรรมชาติ นิสัยเลวทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมานั้นเป็นผลลัพธ์จากการเมืองที่ไม่ถูกต้อง การเมืองที่ไม่ถูกต้อง คือ การเมืองที่ไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พัฒนาธรรมชาติอันดีงามของตนเองโดยเสรี รัฐในอุดมคติสำหรับรุสโซได้แก่รัฐที่ปกครองตามเจตจำนงส่วนรวม (genaral will) ของพลเมืองทั้งหมดในรัฐดังกล่าว ทุกคนมีโอกาสพัฒนาสมรรถภาพและความรู้สึกนึกคิดทุกด้านอย่างเสรี ซึ่งตามอภิปรัชญาของรุสโซแล้ว จะได้มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบเป็นส่วนมาก
โชเพนฮาวเออร์(1788-1860) ถืออภิปรัชญาว่า ความต้องการและการดิ้นรนทั้งหลายของมนุษย์ เกิดจากเจตจำนงที่จะมีชีวิต (the Will-to-live) ซึ่งเป็นความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ดังนั้น ความต้องการและการดิ้นรนของมนุษย์จึงเป็นสัญชาตญาณไร้เหตุผล ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งวุ่นวาย รัฐในอุดมคติจึงได้แก่รัฐที่หาวิธีให้พลเมืองดับการดิ้นรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีที่โชเพนฮาวเออร์คิดว่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ ส่งเสริมการบำเพ็ญพรตและการซาบซึ้งในศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรี
ฟรีดริช นีทเฉอ (Friedrich Nietzsche 1844-1900) ถืออภิปรัชญาว่า ความต้องการและการดิ้นรนทั้งหลายของมนุษย์ เกิดจากเจตจำนงที่จะมีอำนาจ (the Will-to-power) ไม่เห็นด้วยกับโชเพนฮาวเออร์ที่ว่า รัฐในอุดมคติได้แก่รัฐที่ส่งเสริมการดับพลังดิ้นรน แต่เห็นตรงกันข้ามว่า รัฐในอุดมคติจะต้องส่งเสริมให้พลังดิ้นรนนี้แสดงออกได้อย่างเสรี สนับสนุนให้มนุษย์ดิ้นรนไปสู่การเป็นอภิมนุษย์ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ รัฐในอุดมคติจึงจำเป็นจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง สามารถบริหารได้อย่างเด็ดขาด และพลเมืองทุกคนเต็มใจสนับสนุนผู้นำให้สามารถผลักดันอารยธรรมของมนุษย์ให้ก้าวหน้าไปสู่ความเป็นอภิมนุษย์ รัฐในอุดมคติของนิทแฉอ จึงนับได้ว่าเป็นต้นตำรับของลัทธิฟาสซิสม (fascism)