Westermarck on goodness ความดีของเวสเทอร์มาร์ค
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เวสเทอร์มาร์ค (Edward Westermarck 1862-1939) เป็นชาวอังกฤษ ถือลัทธิสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) คือ จากการศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรมต่าง ๆ ของมนุษยชาติ เวสเทอร์มาร์คลงความเห็นว่ามาตรการความประพฤติไม่เป็นปรนัย แต่เป็นอัตนัยโดยขึ้นอยู่กับความเป็นมาของแต่ละวัฒนธรรม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีและจริยธรรมขึ้นในแต่ละวัฒนธรรมก็คือ อารมณ์สะเทือนใจของคนจำนวนมากในวัฒนธรรมนั้น ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจกันรุนแรงและทั่วไปเช่นนี้ ก็จะเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยายว่าไม่ควรปล่อยให้มีเหตุการณ์เช่นเดียวกันนั้นเกิดขึ้นซ้ำอีก จึงพร้อมใจกันถือกฎบางอย่างด้วยความพร้อมเพรียงกัน กฎนั้นจะถ่ายทอดสู่อนุชนเรื่อยไป แม้ต่อไปนาน ๆ จะจำเหตุการณ์นั้นไม่ได้แล้วก็ไม่สำคัญ เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของกฎอยู่ที่การถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ
เหตุการณ์วันมหาวิปโยคของไทย (14 ตุลาคม พ.ศ. 2516) อาจจะถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ ดังนั้น มาตรการทำดีจึงมิใช่อยู่ที่การยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ควรเลือกส่วนดีจากทุกวัฒนธรรมมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวเพื่อพัฒนาตนและสังคม