Weigel, Valentin วาเลนทิน วายเกล
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ValentinWeigelวาเลนทิน วายเกล เป็นชาวเยอรมันเช่นกัน เกิดในแคว้นแซกโซนี สนใจปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์ปนไสยศาสตร์มาโดยตลอด สนใจคำสอนและวิธีเข้าฌานเป็นพิเศษ ความคิดของท่านจึงเป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งเหล่านี้ แม้จะสังกัดนิกายโปรเตสแตนต์ลัทธิลูเธอร์ แต่ก็ขัดแย้งกับนักศาสนศาสตร์ฝ่ายลูเธอร์อยู่เสมอ นิกายคาทอลิกก็ไม่ชอบ จึงแสวงหาความเข้าใจศาสนาด้วยตนเอง และพยายามแผยแผ่ในหมู่ชาวเยอรมัน
งานนิพนธ์ที่สำคัญได้แก่ หนังสือว่าด้วยชีวิตแสนสุข (ลต. Libellus de Vita Beata ,1609= A Booklet of a Happy Life) ;จงรู้จักตัวเรา(ยร. ErkennedichSelbst, 1615 = Know Thyself) ;โหราศาสตร์ที่กลายเป็นเทววิทยา (ลต. AstrologiaTheologizata, 1618 = Theologized Astrology) ;ปรัชญาที่เป็นเทววิทยา(ลต.PhilosophiaTheologica, 1618 = Theological Philosophy) ; การศึกษาทั่วไป(ลต.StudiumUniversale , 1618 = Universal Study)
วายเกลสอนว่า โดยอาศัยการเข้าฌาน เราจึงจะรู้ความจริง จะเข้าใจได้ว่าความเป็นจริงมีแต่หน่วยเดียว คือพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นองค์นิรวจนีย์ คืออธิบายไม่ได้(ineffable) ไม่มีขอบเขตและไม่จำกัด พระองค์จึงเป็นทั้งหนึ่งและหลาย ทรงเป็นหนึ่งในตัวพระองค์ แต่ทรงเป็นหลายในสิ่งอื่นทั้งหมด การสร้างมิได้หมายความว่าทรงกระทำอะไรให้มีขึ้น หากแต่ทรงสำนึกรวมทุกประเภทไว้ในตัว จนได้ชื่อว่าอนุจักรวาล ที่เรียกว่าสิ่งสร้างทั้งหลายนั้นก็คือพระเจ้าปนกับความเปล่า และเพราะมีความเปล่าปนจึงปรากฏเป็นหน่วย ๆ มากมายหลายหลาก แต่เมื่อพระเจ้าทรงสำนึกในตัวมนุษย์ ก็จะตระหนักได้ทุกอย่างในตัวมนุษย์ วายเกลไม่เห็นด้วยกับลูเธอร์ที่ว่าให้มีศรัทธาไว้แล้ว จะดีเอง แต่เชื่อว่ามนุษย์ต้องพยายามเข้าใจตัวเองเพื่อสำนึกได้ถึงธาตุแท้ในตัวคือพระเจ้า วายเกลใช้คำว่า อหังภาพหรือความเป็นฉัน (ยร.Ichheit The I-ness) เพื่อใช้เรียกธาตุพระเจ้าในตัวมนุษย์ซึ่งมนุษย์จะสำนึกโดยการเข้าฌาน เรื่องนี้ฟิกเทจะนำไปใช้เป็นพื้นฐานปรัชญามโนคตินิยมแบบอัชฌัตติกญาณของตน แต่เบิร์ม จะพัฒนาต่อไปในแนวทางของฌานนิยม ซึ่งเราจะพิจารณากันต่อไปข้างหน้า จึงเห็นได้ว่าลักษณะความคิดของวายเกลเป็นลัทธิสรรพเทวนิยมและฌานนิยมจึงถูกต่อต้านทั้งจากฝ่ายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์