Utilitarianist community as ideal state รัฐในอุดมคติคือประชาคมประโยชน์สูงสุด
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
หากพลเมืองมั่นใจว่าผู้บริหารรัฐทุกคนมุ่งทำงานนี้เต็มที่เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ย่อมมีความพอใจกันเป็นส่วนมาก หากรับรองว่าจะส่งเสริมความสุขในโลกหน้าด้วย ประโยชน์สูงสุดก็จะรอบด้าน ผู้ริเริ่มเสนออุดมการณ์เช่นนี้มี 2 ฝ่ายที่สำคัญคือ
- เจมเรอมี เบนเธิม (Jeremy Bentham 1748-1832) เนื่องจากเป็นทั้งนักจิตวิทยาและนักกฎหมาย จึงใช้ความรู้ทั้ง 2 อย่างเป็นพื้นฐานสำหรับวางมาตรการรัฐในอุดมคติของตน โดยเสนอว่ารัฐในอุดมคติก็คือ รัฐที่ให้โอกาสพลเมืองทุกคนแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถระงับการก้าวก่ายผลประโยชน์ของกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ การปกครองระบอบใดสามารถสร้างระบบกฏหมายและสร้างระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพในเรื่องดังกล่าว เป็นระบอบที่ดีที่สุดซึ่งเบนเธิมคิดว่าระบอบใดก็คงทำได้ไม่ดีเท่าระบอบประชาธิปไตย เพราะทุกคนมีสิทธิปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเสมอหน้ากัน พลเมืองทุกคนในรัฐจะขยันแข่งขันกันทำงานเพื่อหาความสุขตามความพอใจของแต่ละคน และในเวลาเดียวกันก็ไม่กล้าก้าวก่ายสิทธิและผลประโยชน์ของผู้อื่น เพราะกลัวจะถูกลงโทษ และตัวเองเสียผลประโยชน์ รัฐที่มีลักษณะเช่นนี้จะดำเนินไปอย่างราบรื่นสงบสุข เหมือนเครื่องจักรที่ดำเนินได้เรียบร้อย โดยที่ทุกส่วนใช้พลังไปตามครรลองของตน ลัทธิของเบนเธิมได้ชื่อว่าลัทธิประโยชน์นิยม (utilitarianism) ด้วย เพราะสอนให้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวกันทุกคน
- จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill 1806-1873) มีความเห็นขัดแย้งกับเบนเธิมว่า รัฐในอุดมคติควรเป็นรัฐที่สามารถอบรมให้พลเมืองทุกคนตัดสินใจทำอะไรลงไป เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของรัฐเป็นหลัก เพราะการมีจิตใจสูงเช่นนี้จะทำให้พลเมืองแต่ละคนได้ผลประโยชน์มากกว่าการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยตรง คำสอนของมิลล์ก็ได้ชื่อลัทธิว่าประโยชน์นิยมเช่นกัน