Utilitarianism on ethic จริยธรรมของลัทธิประโยชน์นิยม
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ในทางปฏิบัติเราไม่แน่ใจว่าจะชักชวนให้ทุกคนเลิกการยึดมั่นถือมั่นได้อย่างเด็ดขาดเมื่อใด ในขณะนี้เราแน่ใจว่าคนส่วนมากในสังคมยังยึดถือกันต่าง ๆ นานา หาจุดร่วมกันยังไม่ได้ ดังนั้นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในขณะนี้ก็คือ ใช้หลักการดี ๆ ทุกอย่างมาช่วยกันในด้านต่าง ๆ เช่น ในการให้การศึกษาอบรมเด็กจนถึงหนุ่มสาวให้ใช้หลักการของ มิล ในการจูงใจคนสูงอายุที่มีประสบการณ์ในชีวิตมามากให้ใช้หลักการของคานท์ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การสอบสวน การตัดสินคดีความ ให้ใช้หลักการของเบนเธิม ในเวลาเดียวกันก็ให้ความสำคัญแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามประจำถิ่น ยกย่องให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ และชักชวนให้ผู้มาใหม่เลื่อมใสเพื่อความเป็นปึกแผ่น ส่งเสริมทุกศาสนาให้มีบทบาทอย่างอิสระจากการเมือง ดังนี้ เป็นต้น
ส่วนอภิจริยศาสตร์ก็ให้ใช้รูปของนักปราชญ์วิเคราะห์เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจอันดีต่อกัน แต่พัฒนากลายเป็นวิธีคิดแบบอรรถปริวรรต (hermeneutics) ได้ความคิดใหม่ออกมาเป็นปรัชญาหลังนวยุค (postmodernism) ซึ่งแบบออกเป็น 2 สาย คือ สายสุดขั้ว (extreme) ซึ่งชักชวนให้รื้อถอนของเก่าทั้งหมด (deconstruction) และสายมัชฌิมาสายกลาง (moderate) ซึ่งชักชวนให้ย้อนอ่านและไม่ค้านสิ่งใดเลย (Reread all, reject none) กล่าวคือ ไม่ควรจะละเลยหรือมองข้ามคุณค่าทางจริยธรรมและศีลธรรมไม่ว่าในรูปแบบใด ที่ยังทำให้ชีวิตมีความหมาย แต่เสวนากัน (dialogue) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าหรือเข้าใจของเดิมให้ลึกซึ้งกว่าเดิมยิ่ง ๆ ขึ้นไป