University of Paris มหาวิทยาลัยปารีส
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
การเกิดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในยุโรป เริ่มจากระบอบนครรัฐได้ค่อย ๆ คืบคลานเข้าครอบครองยุโรปพร้อมกับความร่ำรวยของพ่อค้า และความยากจนของชนชั้นขุนนาง เมืองใหญ่ ๆ ค่อย ๆ ตกอยู่ในอำนาจของคหบดีทีละเมือง ๆ และภายในเมืองดังกล่าวผู้มีอาชีพแต่ละอาชีพก็จะพยายามจับกลุ่มกันเป็นสมาคม (guild) เพื่อช่วยกันรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของบุคคลในอาชีพเดียวกัน
สำนักอาสนวิหารซึ่งก้าวหน้าในด้านวิชาการมากขึ้น ก็ย่อมจะมีนักศึกษามากขึ้นและจะมีอาจารย์มากขึ้นตามลำดับ บรรดาอาจารย์ทั้งหลายสำนึกได้ว่า การสอนก็เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง จึงรวมกันตั้งกลุ่มเป็นสมาคมอาจารย์ขึ้น แล้วก็เรียกร้องและก็วางระเบียบเพื่อรักษา ผลประโยชน์ของอาชีพของอาจารย์ขึ้นตามลำดับ จนที่สุดได้รับอนุมัติให้ปกครองกันเอง กำหนดหลักสูตรกันเอง กำหนดมาตรฐานการศึกษากันเอง กำหนดวิธีสอบและกำหนดให้ปริญญาบัตรกันเองและผู้ประทานปริญญาบัตรก็คืออธิการบดี (หัวหน้าคณาจารย์) แทนที่จะเป็นผู้อำนวยการดังเช่นแต่ก่อน ผู้อำนวยการยังมีต่อไปซึ่งก็ได้แก่ พระสมณราชหรือตัวแทนที่สมณราชแต่งตั้ง มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและควบคุมการใช้สถานที่ตลอดจนเก็บค่าบำรุง
มหาวิทยาลัยปารีสนับว่าสำคัญที่สุดในขณะนั้น เพราะเมื่อสำนักอาสนวิหารโนตร์ดามแห่งปารีส(Notre dame de paris) ได้รับอนุมัติเป็นมหาวิทยาลัยจากสันตะปาปาโดยผ่านสมณทูตประจำฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1215 แล้ว สำนักอื่น ๆ ก็ขอรวมในฐานะเป็นวิทยาเขตด้วย เช่น สำนักอารามเซนต์วีกเทอร์และสำนักอารามบนเนินแซงต์เจอเนอวีแอฟ (Mont Ste. Genevieve) เป็นต้น ต่อมาสำนักศึกษาของคณะเดอมีนิเคินและคณะแฟรงเลิสเคินก็ขอเข้าร่วมด้วย มีอาจารย์และนักศึกษาจากแว่นแคว้นต่าง ๆ มาศึกษากันเป็นจำนวนมาก เมื่อศึกษาจบแล้วก็จะออกไปเป็นอาจารย์ของสำนักต่าง ๆ ทั่วยุโรป
มหาวิทยาลัยปารีสจึงได้รับการสนใจจากสำนักสันตะปาปาเป็นพิเศษ มหาวิทยาลัยปารีสแบ่งอาจารย์ออกเป็น 4 คณะ คือคณะศิลปศาสตร์ (Faculty of Arts) มีหน้าที่สอนหลักสูตรพื้นฐานเหมือนวิชาการศึกษาทั่วไปในปัจจุบัน สำหรับเตรียมนักศึกษาเข้าเรียนต่อในคณะอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งมีด้วยกัน 3 คณะ คือ คณะกฎหมาย คณะแพทยศาสตร์ และคณะเทววิทยา ในการศึกษาแต่ละหลักสูตร นักศึกษาลงทะเบียนเรียนแล้วก็มีสิทธิเลือกอาจารย์ได้ตามใจชอบ อาจารย์จึงต้องปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะไม่มีลูกศิษย์
ครั้นเรียนจบหลักสูตรจะได้รับใบรับรอง (ลต. Licentia) ให้เป็นอาจารย์ (ลต.Magister) ได้ โดยจะต้องผ่านการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของตนต่อหน้าคณาจารย์ของคณะและผู้สนใจฟัง ทั้งอาจารย์และผู้ร่วมฟังมีสิทธิจะซักถามได้อย่างเสรีจนเป็นที่พอใจของคณาจารย์ส่วนมากของคณะจึงจะถือว่าสอบได้ การสอบวิทยานิพนธ์แต่ละครั้งจึงกินเวลาเป็นวัน ๆ และมีผู้เข้าฟังและซักถามมาก ทุกคนในมหาวิทยาลัยทุกแห่งใช้ภาษาละตินเป็นภาษากลางและใช้กันได้คล่องแคล่วทั้งในการเรียนการสอนและในชีวิตประจำวัน
ผู้จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะต้องรู้ภาษาละตินมาแล้วอย่างคล่องแคล่วโดยรู้วรรณคดีละตินมาพอสมควรด้วย เรียนตามหลักสูตรศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยประมาณ 4-7 ปีก็จะมีสิทธิสอบวิทยานิพนธ์ หากผ่านก็จะมีสิทธิสอนในฐานะอาจารย์ผู้ช่วยสอน (Tutor) และมีสิทธิเรียนในคณะที่สูงขึ้นไปในเวลาเดียวกัน จะเป็นอาจารย์ประจำได้ต้องมีตำแหน่งว่างและผ่านการคัดเลือก ส่วนมากจะต้องได้ปริญญาเอกเสียก่อน เว้นแต่ในกรณีพิเศษ
สำหรับคณะเทววิทยา (ซึ่งศึกษาปรัชญาควบคู่ไปด้วย) จะต้องศึกษาพระคัมภีร์ 4 ปี วิเคราะห์และวิจารณ์จตุรบรรพแห่งทรรศนะของพีเทอร์ ลัมบาร์ดและถกปัญหาในชั้นอีก 2 ปี จึงจะได้รับปริญญาตรี (ลต. Baccalaureates) ต่อจากนั้นก็เขียนวิทยานิพนธ์และเสนอตัวป้องกันต่อหน้าสาธารณชน หากผ่านก็จะได้ปริญญาโท (ลต.Licentiates) ต่อจากนั้นก็เป็นอาจารย์ช่วยสอน (ลต.Tutor) ของอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ระหว่างนั้นต้องหาโอกาสนัดเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งจะมีทั้งอาจารย์และนักศึกษาชอบเข้าร่วมฟังและทุกคนมีสิทธิซักถาม ต้องทำเช่นนี้บ่อย ๆ จนคณาจารย์ของคณะพอใจเป็นเอกฉันท์ จึงจะได้รับปริญญาเอก (ลต. Laureates) บางคนจึงเป็นอาจารย์ช่วยสอนจนแก่เฒ่าก็ยังไม่ได้ปริญญาเอกสักทีก็มี
และเพราะเหตุนี้เอง ปริญญาเอกจึงเป็นยอดปรารถนาของนักวิชาการ อาจารย์ที่ได้ปริญญาเอกแล้วก็ยังนัดถกปัญหาเช่นนี้เป็นครั้งคราวเพื่อแสดงความสามารถของตนให้ประจักษ์ เพราะอาจารย์ดี ๆ เป็นที่ใฝ่ฝันของนักศึกษา
- ปัญหาที่ถกกันในห้องเรียนเรียกว่า ปัญหาฝึกอภิปราย (ลต.QuaestioDisputata = Disputed Question) เช่น สังเขปเทววิทยา(ลต. Summa Theologiac) ของอไควเนิส
- ปัญหาที่นัดถกกันในที่สาธารณะเรียกว่า นานาปัญหา (ลต.QuaestioQuotlibetalis = Quotlibetal Question) เช่น สังเขปตอบโต้คนต่างศาสนา (ลต.Summa Contra Gentes)
วิธีการถกปัญหาเช่นนี้แหละเรียกว่า วิธีการของสำนัก (scholastic method) นักปรัชญาเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า ลต.Scholasticus หรือ Schoolman (อัสสมาจารย์หรืออาจารย์แห่งสำนัก) และลัทธิของนักปรัชญาเหล่านี้เรียกว่า scholasticism (ลัทธิอัสสมาจารย์นิยม)