ความจริง
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
มนุษย์พยายามแสวงหาความจริงมาตลอด และสะสมเป็นความรู้ต่าง ๆ มากมาย โดยเชื่อว่าความจริงคือความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งความจริงเช่นนี้ถ้าจะมีได้ก็คือความจริงวัตถุวิสัย (objective truth) เพราะเชื่อว่ามีความตรงกันระหว่างความเป็นจริงวัตถุวิสัยที่อยู่ภายนอกผู้สังเกต/ผู้รู้ กับเครือข่ายตรรกะที่อยู่ในความคิดของผู้สังเกต/ผู้รู้ เขาเข้าใจโลกว่าอย่างไรโลกก็เป็นเช่นนั้น และมุ่งแต่ที่จะหาความเป็นจริงที่อยู่นอกตัว
ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นจากนิยามดังกล่าว เพราะกลับพบว่าบนความเป็นจริงเดียวกัน มนุษย์สามารถสร้างอภิปรัชญา ซึ่งเป็นการตีความความเป็นจริงเดียวกันนั้นได้หลายระบบความคิด ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามความสนใจ ความถนัด เครื่องมือที่ใช้หาความรู้ ตลอดจนบริบทและกรอบความคิด จึงพบว่ามีการนำเสนอความรู้/ความจริงที่แตกต่างหลากหลายกันไป และต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นว่า ความรู้/ความจริงของตนเท่านั้นที่จริง และตรง ในขณะที่ความรู้/ความจริงของคนอื่นเป็นเท็จคือไม่ตรงกับความเป็นจริงภายนอก
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความรู้ของมนุษย์นั้นมีทั้งส่วนวัตถุวิสัยที่เป็นความเป็นจริงภายนอก และอีกส่วนหนึ่งเป็นอัตวิสัย (subjective truth) ที่เป็นการปรุงแต่งของสมอง ความรู้ของมนุษย์จึงไม่มีวัตถุวิสัยล้วน ๆ และไม่มีอัตวิสัยล้วน ๆ แต่มีส่วนวัตถุวิสัยและอัตวิสัยปนกัน ความจริงจึงไม่เป็นวัตถุวิสัยล้วน ๆ หรือ อัตวิสัยล้วน ๆ เช่นเดียวกัน ถ้าต้องการเข้าถึงความเป็นจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์จึงต้องให้ความสนใจในตัวผู้รู้ด้วย มิใช่สนใจแต่สิ่งที่ถูกรู้ที่อยู่ภายนอก เพราะความเป็นจริงอัตวิสัยในตัวผู้รู้ที่ย้อมสีความเป็นจริงวัตถุวิสัยอย่างแยกไม่ออกอยู่นั้นก็คือความเป็นจริงหนึ่งที่มีอยู่จริงในเอกภพที่สำคัญและควรให้ความสนใจแต่ก็มักถูกมองข้ามไปโดยนักปรัชญาตะวันตก มาตลอด ได้แก่ ความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์นั่นเองที่เป็นทั้งผู้รู้ ผู้สังเกตและผู้กระทำการหลักต่อธรรมชาติ
การศึกษาความเป็นจริงของตัวมนุษย์นั้นทำให้เราทราบถึงความเป็นจริงต่าง ๆ ครบถ้วน ทั้งด้านรูปธรรมที่มีอยู่ให้ศึกษาได้เช่นเดียวกับความเป็นจริงวัตถุวิสัยที่อยู่ภายนอกตัวผู้รู้ กับทางด้านนามธรรมภายในจิตใจมนุษย์ที่เป็นเจตจำนงอยู่เบื้องหลังการกระทำการต่าง ๆ มีลักษณะ เป็นอัตวิสัยที่ผันแปรไปตามสิ่งที่มาปรุงแต่งเจตจำนง ซึ่งมีผลอย่างมากในการปรุงแต่ง สร้างสรรค์หรือแม้กระทั่งทำลายธรรมชาติต่อไป การหันมาศึกษาความเป็นจริงในตัวมนุษย์เองจึงเป็นทางลัดที่จะทำให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นจริงของเอกภพได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ อันนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ อย่างเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน