truth, theory of ทฤษฎีความจริง
ผู้แต่ง : ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
วิชาอภิปรัชญา ตั้งคำถามว่าความเป็นจริง (reality) มีอยู่จริงไหม ถ้ามีก็จะเป็นอะไร คำถามต่อจากนั้นเราต้องการทราบว่า เรารู้ความเป็นจริงได้อย่างไร และวิธีรู้ของเราเชื่อถือได้แค่ไหน หรือว่าปัญญาของเราหลงใหลอยู่ในความหลงผิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนถูกขังอยู่ในเมืองมายา ถ้าเรารู้ความเป็นจริงได้อย่างน่าเชื่อถือ เรารู้ได้อย่างไรว่าน่าเชื่อถือ รู้ได้แน่นอนแค่ไหน นี่คือคำถามหลักของวิชาญาณปรัชญา ขอบข่ายยังคลุมไปถึงคำถามว่าความรู้ของเราเกิดขึ้นได้อย่างไรและดำเนินไปอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยาและปรัชญาจิต เราจะไม่กล่าวถึงกฎเกณฑ์ของการใช้เหตุผลว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกต้องตามหลักเหตุผล เพราะนั่นเป็นเรื่องของตรรกวิทยา (logic) โดยเฉพาะ ญาณปรัชญาหรือทฤษฎีความรู้จึงเป็นวิชากว้าง ครอบคลุมทุกเรื่องเกี่ยวกับความรู้และการค้ำประกันความจริง (justification of truth) และเฉพาะส่วนสุดท้ายนี้ที่เป็นปรัชญาบริสุทธิ์คู่กันกับอภิปรัชญา จึงได้ชื่อพิเศษว่าญาณเกณฑวิทยา(criteriology)
ปัญหาหลักของญาณปรัชญาก็คือ ความรู้ทางใดบ้างเชื่อได้ว่ารู้ความเป็นจริง เพื่อจะยืนยันได้ว่าเป็นความจริง(truth) ถ้าไม่มีเกณฑ์ใดเลยก็ต้องชี้แจงได้ว่าทำไมจึงไม่มี
ในฐานะที่เป็นปรัชญาบริสุทธิ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับเป็นปฐมบท (assumption) ก่อนการพิสูจน์ จำเป็นต้องรับเชื่อด้วยศรัทธา ถ้าไม่ใช่ศรัทธาต่อศาสนาก็เป็นศรัทธาต่อปัญญาของตนเอง
มีปัญหาขั้นต่อมาว่า เราเชื่ออภิปรัชญาก่อนแล้วจึงเลือกญาณปรัชญาให้สอดคล้องกัน หรือว่าเชื่อญาณปรัชญาก่อนแล้วจึงเลือกอภิปรัชญาให้สอดคล้องกัน คำตอบก็คืออย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 อย่าง ซึ่งก็เป็นศรัทธาพื้นฐานเฉพาะตัวที่ต้องเลือกอย่างใดก่อนอย่างใดหลัง
เป็นสัญชาตญาณของปัญญาก็ว่าได้ที่มนุษย์เราต้องการมั่นใจว่าความรู้บางอย่างมีความจริงแน่นอน ไม่หลวมตัว ไม่หลงผิด เพราะเป็นส่วนได้ส่วนเสียของชีวิต ควรจะมีศรัทธาและเสียสละให้หรือไม่ จะต้องเลือกอย่างหนึ่งและเสียอย่างอื่นโดยไม่มีทางเลือกหรือไม่ แม้จะคิดว่าไม่มีทางรู้ความเป็นจริงก็ยังเลือกเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งอยู่หรือไม่ ทั้งนี้โดยมอบความวางใจไว้กับหลักฐานและ/หรือพยานหลักฐาน ความเชื่ออย่างนี้เชื่อได้อย่างไรและแค่ไหน ปัญหาความแน่ใจหลอกหลอนนักญาณปรัชญาอยู่เสมอมา ไม่มีทางเลี่ยง