Tit-for-Tat for justice ความยุติธรรมคือการตอบโต้
ผู้แต่ง : เมธา หริมเทพาธิป
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ความยุติธรรมคือ การตอบโต้ ณ ที่ใดอารยธรรมก้าวหน้าพอสมควร ผู้มีอำนาจจะออกกฎหมายควบคุมการแก้แค้น (ravenge) เพราะเห็นว่าการปล่อยให้แก้แค้นกันเองตามใจ โดยไม่มีมาตรการควบคุมนั้นมักจะกระทำกันเลยเถิด ฝ่ายที่ถูกแก้แค้นก็จะรู้สึกว่าฝ่ายตนได้รับความอยุติธรรมเพราะฉะนั้นจะต้องคุมพรรคพวกมาแก้แค้นเป็นการตอบแทน แก้แค้นกันไปแก้แค้นกันมา ความเสียหายจะหนักขึ้นทุกที จนล่มจมกันทั้งสองฝ่าย
เพื่อยับยั้งการทำลายกันเช่นนี้ ผู้มีอำนาจมักจะออกกฎหมายควบคุมโดยห้ามการแก้แค้นกันอย่างเสรีเสีย แต่อนุญาตให้ตอบโต้กันได้อย่างยุติธรรมเป็นทางการ เช่น ใครเป็นฆาตรกรก็ควรให้เขาผู้นั้นถูกฆ่าตายตามกันไปเฉพาะตัว ไม่ควรลงโทษไปถึงคนใกล้ชิดที่ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ใครทำให้แขนเขาขาดก็ควรถูกตัดแขนให้ขาดตามกันไป
กฎหมายฉบับแรกของโลกซึ่งประกาศออกใช้โดยกษัตริย์ฮัมมูราบี เดินตามมาตรการยุติธรรมดังกล่าวดังปรากฏในตัวบทกฎหมายว่า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” เป็นต้น กฎหมายของโมเสสที่ประกาศใช้ในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ก็เดินตามมาตรการความยุติธรรมดังกล่าวด้วย ผู้เขียนเชื่อว่ามาตรการความยุติธรรมของชนชาติโบราณทั่วๆไป และของเผ่าที่ล้าหลังในปัจจุบันก็คงเป็นไปในทำนองนี้เป็นส่วนมาก กฎหมายการลงโทษ 7 ชั่วโคตรของเราคงเหลือเพียงในนิยายก็เพราะเหตุผลเดียวกันนี้
หากใช้เกณฑ์การตอบโต้ แม้ไม่ให้เกินขอบเขต “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ก็ไม่ทราบว่าจะได้ประโยชน์อะไรแก่ใคร ฝ่ายถูกตอบโต้อาจจะเปลี่ยนเกณฑ์เป็นการแก้แค้นล้างแค้นเมื่อใดก็ได้ ความยุติธรรมต่อผู้เสียหายก็ไม่ได้รับการแก้ไข ความหวังที่จะปลอดจากความหวาดกลัว ก็ไม่ได้รับการค้ำประกันคุ้มครอง ยังไม่ใช่วิธีที่น่าพอใจที่ชาวโลกจะพึงสนับสนุน