Thomas Aquinas ธาเมิส อไควเนิส
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
Thomas Aquinas ธาเมิส อไควเนิส ใช้ปรัชญาของแอเริสทาเทิลอธิบายคริสตศาสนา มิใช่เพื่อเอาใจใครหรือเพียงแต่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทว่าอไควเนิสมีความเลื่อมใสในแนวความคิดของแอเริสทาเทิลอย่างจริงใจและมั่นใจว่าจะนำเอามาใช้สร้างระบบความคิดแบบคริสต์ได้อย่างเหมาะสม
แม้อไควเนิสจะได้สร้างความคิดขึ้นเป็นระบบ และใช้ตรรกวิทยาเป็นเครื่องมือในการสร้างระบบ แต่ทว่าท่าทีของอไควเนิสเป็นแบบอัตถิภาวนิยมอย่างเต็มที่ อไควเนิสไม่เคยคิดว่าระบบความคิดของตนสมบูรณ์แบบแล้ว ในตอนปลายชีวิตเมื่ออไควเนิสบรรลุฌานแล้วก็ไม่อยากจะเขียนเพิ่มเติมให้ระบบสมบูรณ์ เพราะเห็นว่ามีคุณค่าน้อยเหลือเกินเมื่อเปรียบเทียบกับความรู้ของผู้บรรลุฌาน
วิธีการของอไควเนิสน่าจะกระตุ้นให้นักปราชญ์ชาวคริสต์หาวิธีอธิบายคริสตศาสนาให้เหมาะสมกับกาละเทศะต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้เลื่อมใสในปรัชญาของอไควเนิสจริง ๆ น่าจะเลื่อมใสในท่าทีและวิธีการของท่านยิ่งกว่าในเนื้อหาคำสอนของท่าน ซึ่งแน่นอนว่าดีเยี่ยมในสมัยหนึ่ง แต่จะดีเยี่ยมเรื่อยไปในทุกสมัยคงจะเป็นไปไม่ได้ ผู้แสวงหาต่อไปคือผู้เดินตามเจตนารมณ์แท้จริงของอไควเนิส โดยอย่าลืมด้วยว่าปรัชญาของอไควเนิสมิได้เป็นผู้ทำยุคกลาง หากเป็นผลผลิตของยุคกลางมากกว่า
จากคำสอนของอไควเนิสซึ่งบรรยายไว้ครบถ้วนมากกว่าของนักปรัชญาอื่น ๆ ในยุคกลาง คงจะพอเห็นได้ว่า
การศึกษาปรัชญายุคกลางโดยไม่พิจารณาคำสอนทางเทววิทยาควบคู่ไปด้วยย่อมทำให้ความเข้าใจบิดเบือนไปอย่างไม่มีทางแก้ ความจริงปรัชญากับเทววิทยาเป็นความคิดรวมอย่างแยกกันไม่ได้ในความคิดของนักปราชญ์คริสต์ หากแต่เคยมีธรรมเนียมแยกกันศึกษาเพื่อสะดวกในการจัดหลักสูตร ในปัจจุบันวิธีการนั้นล้าสมัยแล้ว เราพยายามจัดให้มีการศึกษาแบบบูรณาการเพื่อให้เห็นขอบข่ายของเรื่องในรูปแบบที่ไม่ถูกบิดเบือน ในเรื่องปรัชญาก็เช่นกัน การแยกสิ่งที่แยกไม่ได้เพื่อศึกษาให้รู้เพียงส่วนเดียวก็ย่อมจะเห็นภาพที่ถูกบิดเบือนไปอย่างช่วยไม่ได้