Thales เธลิส
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เธลิส (ก.ค.ศ.625-547) เป็นคนแรกของปรัชญาตะวันตกเท่าที่รู้ ที่คิดว่าโลกมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง
สมัยที่เธลิสเริ่มคิดอย่างนักปรัชญาโบราณ ขณะนั้นทุกคนยังคิดแบบดึกดำบรรพ์อยู่ คือ เชื่อว่าภัยธรรมชาติและเหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นย่อมเกิดจากน้ำพระทัยของเบื้องบน เธลิสเองในระยะแรกก็คิดเช่นนั้น อยู่มาวันหนึ่งเธลิสเกิดเห็นปัญหาใหม่ขึ้นมาว่า “เราจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหลายโดยไม่อ้างเบื้องบนจะได้หรือไม่”
เธลิสคิดว่าน่าจะได้ ถ้าเช่นนั้น “จะอ้างอะไรเล่า” สิ่งที่จะอ้างได้ก็มีเบื้องบนกับเบื้องล่าง เมื่อไม่อ้างเบื้องบนก็ต้องอ้างเบื้องล่าง เธลิสตัดสินใจเลือกเบื้องล่าง จึงสอนว่า “เราจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหลายของเอกภพด้วยกฎของเอกภพเอง”เอกภพในทรรศนะของเธลิสจึงมิใช่กลีภพ(chaos) อย่างที่ปรัชญาดึกดำบรรพ์สอน แต่เป็นเอกภพ (universe) ที่มีลักษณะเป็นจักรวาล (cosmos) คือเอกภพที่มีกฎเกณฑ์ในตัวเอง
เธลิสไม่ยอมหยุดยั้งอยู่เพียงแค่นี้ ยังรุดหน้ามองเห็นปัญหาต่อไปว่า เราจะรู้กฎของโลกได้อย่างไร ปัญหานี้ถ้าอยู่ในสมัยของเราก็คงจะตอบได้ไม่ยาก เพราะเราอาจจะหาหนังสืออ่านได้มากมาย หรืออาจจะถามผู้รู้ก็มีอยู่ทั่วไป ซึ่งพอจะตอบสนองความอยากรู้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่เธลิสจะไปถามใครก็ไม่ได้ จะหาหนังสือที่ไหนอ่านก็ไม่ได้ ต้องบุกเบิกคิดเองแสวงหาเองต่อไป และเมื่อคิดค้นเองจะเริ่มตรงจุดไหนดี เพราะกฎของเอกภพมีมากมาย มีที่น่าเริ่มต้นได้มากมายเช่นกัน แต่เธลิสก็พบจุดเริ่มต้นได้อย่างเฉียบแหลมว่า จะรู้กฎของโลกต้องเริ่มค้นคว้าให้รู้ว่า อะไรคือวัตถุดิบแรกของโลก วัตถุดิบแรกคือวัตถุที่เป็นต้นตอของทุกสิ่งทุกอย่าง ในปัจจุบันเราบัญญัติศัพท์สำหรับคำ “วัตถุดิบแรก” นี้ว่า “ปฐมธาตุ” (first element) เมื่อรู้ปฐมธาตุของโลกแล้วก็พยายามค้นคว้าหากฎการเปลี่ยนแปลงจากปฐมธาตุเป็นสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายต่อไป ยิ่งรู้มากเท่าใดเราก็ยิ่งสามารถควบคุมความเป็นไปของเอกภพได้มากเท่านั้น
อาจเป็นไปได้ไหมว่า เคยมีคนคิดมาก่อนเธลิสว่าโลกมีกฎเกณฑ์ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เธลิสโชคดีที่มีลูกศิษย์เก็บหลักฐานไว้ให้เป็นรายแรกของโลก ทำให้เธลิสมีสิทธิได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาปรัชญาตะวันตกโบราณ ต้องยกให้เป็นโชคดีของเธลิส อย่างไรก็ต้องยกผลประโยชน์ให้เธลิสว่า มีความสามารถสอนลูกศิษย์ลูกหาให้เชื่อตามได้ เพราะถ้าเธลิสคิดได้เป็นคนแรก แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ลูกศิษย์เชื่อตามได้ ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในแนวคิดของมนุษย์ชาติ
อัจฉริยภาพของเธลิส พอจะแยกเป็นประเด็นได้ว่า
- เป็นคนแรกที่เห็นปัญหาใหม่ว่า เราจะอธิบายเหตุการณ์ทั้งหลายโดยไม่อ้างอำนาจลึกลับจะได้ไหม
- เป็นคนแรกที่เชื่อว่าโลกมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง
- พบว่าจะรู้กฎเกณฑ์ของโลกต้องเริ่มต้นค้นคว้าเรื่องปฐมธาตุเสียก่อน
- สันนิษฐานว่าปฐมธาตุเป็นน้ำ เพราะชาวบ้านรับได้ง่าย
- สามารถถ่ายทอดให้ลูกศิษย์เชื่อตามได้
- กระตุ้นให้ลูกศิษย์คิดต่อจากที่ตนสอนไว้ในฐานะครู
- พบประเด็นสำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นให้ค้นคว้า และบันดาลให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าเรื่อยมาจนทุกวันนี้