Thales’ role in Western philosophy บทบาทของเธลิสในปรัชญาตะวันตก
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
สัญชาตญาณของมนุษย์เป็นกำลังสำคัญ ผลักดันให้มนุษย์พัฒนาภายใต้รูปโฉมของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองและเผ่าพันธุ์ มนุษย์เมื่อเริ่มเป็นมนุษย์ ปัญญายังเพิ่งเกิดและต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนา ปัญญาในระดับกระบวนทรรศน์ที่ 1 (ความเชื่อว่าโลกไม่มีกฎเกณฑ์) ถูกดึงไปใช้เสริมสัญชาตญาณแห่งการอยู่รอดเสียนาน แต่ก็ยังอดพัฒนาโดยอัตโนมัติไม่ได้ แม้จะเชื่องช้าก็ตาม ในที่สุดก็ก้าวเข้าสู่กระบวนทรรศน์ที่ 2 ช่วงแรกโดยเริ่มเห็นกฎเกณฑ์ แต่สัญชาตญาณเพื่อความอยู่รอดยังแข็งแกร่ง จึงยึดกฎเกณฑ์ใกล้มือไม่ยอมปล่อย กลายเป็นนิสัยอนุรักษ์ อะไรที่ใกล้มือก็อนุรักษ์ไว้ก่อนดีกว่าเสี่ยงของใหม่ อนุรักษ์จนสูญชาติไปก็มีหลายกรณี ที่ไม่สูญชาติก็ปรับตัวไม่ขึ้น กลายเป็นประเทศเคยเจริญ แต่ขณะนี้ล้าสมัยไม่เจริญแล้ว เพราะไม่มีใครจะเปลี่ยนนิสัยอนุรักษ์ได้
กระบวนทรรศน์ที่ 2 ช่วงแรก (ระดับต่ำ) คือ ช่วงที่นักคิดแสดงความคิดเห็นเป็นตำนานปรัมปรา เพื่อแสดงความคิดด้วยภาพพจน์และสัญลักษณ์ ส่วนกระบวนทรรศน์ที่ 2 ช่วงหลัง (ระดับสูง) นั้นแสดงออกเป็นหลักฐานด้วยศัพท์วิชาการ
ชาติกรีกเป็นชาติแรกที่เอาชนะนิสัยอนุรักษ์เพื่ออนุรักษ์ได้ จึงก้าวเข้าสู่กระบวนทรรศน์ที่ 2 ช่วงหลังอย่างองอาจ ต่อมาก็คือพระพุทธเจ้าในชมพูทวีป ขงจื๊อในจีน ต่อมาก็มีนักปราชญ์อื่น ๆ อีกมากทยอยกันก้าวล่วงเข้าสู่แนวคิดใหม่เต็มตัว
เธลิสเป็นผู้นำชาวกรีกก้าวเข้าสู่กระบวนทรรศน์ที่ 2 ช่วงหลัง จนกลายเป็นว่าวิธีคิดแบบของเธลิสได้สมญาในปัจจุบันว่าเป็นวิธีคิดแบบกรีก (the Greek way of thinking) และในสมัยกรีกรุ่งเรืองอยู่นั้น เธลิสได้รับการยกย่องเป็นเอกฉันท์ด้วยเสียงของทุกนครรัฐว่าเป็น 1 ใน 7 ปราชญ์ของทุกนครรัฐ ส่วนอีก 6 ใน 7 นั้น แต่ละรัฐจะยกย่องนักการเมืองต่าง ๆ กันตามส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐนั้น ๆ ทั้งนี้เป็นไปตามประเพณีของชาวกรีกโบราณที่แต่ละนครรัฐ จะเลือกยกย่องนักปราชญ์ 7 ท่านเป็นตัวอย่างแห่งการเจริญปัญญาให้กับชาวนครรัฐนั้น ๆ จึงมักจะเลือกยกย่องนักปราชญ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนครรัฐของตนเป็นหลัก แต่ชื่อของเธลิสปรากฏอยู่ในทุกนครรัฐ เพราะถือกันว่าเป็นนักปราชญ์ของชาวกรีกไม่ใช่ของนครรัฐใดโดยเฉพาะที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเธลิสเกิดที่เมืองไมลีเทิส (Miletus) อันเป็นอาณานิคม(colony) หนึ่งของชาวกรีกบนฝั่งเอเชียไมเนอร์ อาณานิคมในสมัยนั้นมิได้หมายความว่าเป็นเมืองขึ้น แต่หมายความว่าเป็นเมืองที่ชาวกรีกเดินทางออกนอกประเทศข้ามน้ำข้ามทะเลไปช่วยกันตั้งหลักแหล่งอย่างเป็นอิสระ เหมือนหนึ่งเป็นเมืองหนึ่งของประเทศกรีซแต่อยู่นอกประเทศกรีซ ชาวกรีกมักจะสร้างนครรัฐเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน แต่ละกลุ่มเป็นแคว้นหนึ่ง ๆ ไมลีเทิสเป็นนครรัฐหนึ่งในแคว้นไอโอเนีย ซึ่งอยู่ชายทะเลของเอเชียไมเนอร์ที่ข้ามมาจากฝั่งประเทศกรีซ โดยมีช่องแคบดาร์ดะเนลส์คั่นอยู่
ไมลีเทิสตั้งอยู่ชายฝั่งทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของเอเชียไมเนอร์ซึ่งก็คือประเทศตุรกีปัจจุบัน จากไมลีเทิสเดินเรือติดต่อกับกรีซแผ่นดินใหญ่ เกาะครีตและปากแม่น้ำไนล์ ได้คล่องสะดวก จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่าง 3 แหล่งดังกล่าวกับเมืองภายในผืนแผ่นดินของเอเชียไมเนอร์ พร้อมกับการค้าชาวกรีกผู้แสวงหาความรู้ก็มีโอกาสเดินทางไปศึกษาหาความรู้จากอียิปต์เอามาคิดแบบกรีก และแลกเปลี่ยนความคิดกับนักปราชญ์ของดินแดนอื่น ๆ ของชาวกรีก พ่อค้ากรีกได้นำการใช้กระดาษปาปิเริสมาจากอียิปต์ ทำให้ชาวกรีกรู้จักบันทึกเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เหล่านี้ทำให้ชาวกรีกพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ได้สะดวกยิ่งขึ้นตามลำดับ ความรู้ที่ขนมาได้จากอียิปต์ที่นับว่าสำคัญก็คือ เทคนิคการคำนวณและวิชาดูดาวเพื่อโหราศาสตร์ แต่ก็ไม่สามารถล้วงความลับเกี่ยวกับการทำมัมมี่มาได้ ส่วนเรื่องความเชื่อทางศาสนานั้นก็เพียงแต่รู้แต่ไม่เชื่อตาม จิตตารมณ์อนุรักษ์ก็เช่นกัน ไม่ถูกนิสัยชาวกรีกซึ่งรักการผจญภัย แสวงหาของใหม่และพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ
ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมและบริบทเช่นนี้แหละ เธเลิสเกิดมาในราว ก.ค.ศ.625 และเติบโตขึ้นในเมืองไมลีเทิส ตระกูลเป็นพ่อค้ามีฐานะดี ทำให้เธเลิสสามารถเดินทางหาข้อมูลความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ก่อนจะเอามาประกอบกันเป็นระบบความรู้ของตน ทำให้เธลิสได้ชื่อว่าเป็นนักปรัชญาคนแรกในความหมายของสมัยนั้น (คือผู้อยากรู้อยากเรียนอยากฉลาด) เป็นนักวิทยาศาสตร์ตามความหมายของสมัยนี้ (เพราะได้แสดงฝีมือคำนวณสุริยคราสได้แม่นยำเป็นครั้งแรกในหมู่ชาวกรีกตามหลักวิชาการ) และเป็นนักการศึกษาแรกตามความหมายรากศัพท์ (คือดึงเอาความรู้ที่ต้องการใช้อบรมสั่งสอนออกมา ทำให้เป็นระบบระเบียบเสียก่อน แล้วถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจอย่างน่าสนใจ จะได้สนใจคิดค้นให้ก้าวหน้าต่อไป กลายเป็นผู้ดึงลูกศิษย์ออกจากความไม่รู้หรืออวิชชา) เธลิสจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มวิธีคิดแบบกรีก ชาวกรีกอื่น ๆ เอาไปใช้ได้เป็นนักปราชญ์กันต่อ ๆ มาอีกมากมาย และความรู้เหล่านี้เองก็ถือกันว่าเป็นพื้นฐานพัฒนามาเป็นความรู้ของชาวตะวันตก และเป็นพื้นฐานให้เกิดปัญญาโลกาภิวัตน์ในทุกวันนี้
เธลิสคงได้เขียนระบบความคิดของตนเป็นตำราไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาคัดลอกเอาไปช่วยความจำ แต่ก็น่าเสียดายที่ว่าในปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่เลย เหลืออยู่เพียงข้อความกระท่อนกระแท่นที่ลูกศิษย์ลูกหาได้อ้างอิงในหนังสือของตน หรือมิฉะนั้นก็อ้างถึงความคิดของเธลิสเอาไว้ หลักฐานเท่าที่เหลือพอจะประเมินความคิดก้าวหน้าของเธลิสได้ว่า
- ทฤษฎีบางบทที่ยูคลิดรวบรวมไว้ในหนังสือตำราเรขาคณิต
- ตำราดาราศาสตร์จนถึงขั้นคำนวณสุริยคราสในปี ก.ค.ศ.585 ได้ถูกต้อง
- นักเขียนตั้งแต่สมัยโบราณจำนวนมากอ้างว่าเธลิสเป็นผู้ริเริ่มความคิดแบบกรีก ประเด็นนี้สำคัญที่สุด และ สำคัญมาก ๆ สำหรับประวัติการพัฒนาความฉลาดของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนาและ ประเมินค่าระบบเครือข่าย