Thales and network เธลิสกับเครือข่าย
ผู้แต่ง : เมธา หริมเทพาธิป
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
เธลิสและผู้เริ่มปลูกฝังความเชื่อเรื่องระบบเครือข่ายครบวงจร 3 (คือ ระบบเครือข่ายในเอกภพ ในปัญญามนุษย์ และในภาษาอุดมคติ) เป็นผู้ทำปฏิกิริยาต่อกระบวนทัศน์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเชื่อในความไม่มีระบบเครือข่ายกันทั่วไป ต่อมาความคิดที่ว่าไม่มีระบบเครือข่ายก็ผุดขึ้นประปราย แต่ไม่เป็นล่ำเป็นสัน จนถึงเดการ์ต ผู้สงสัยในระบบเครือข่ายในปัญญาอย่างเป็นวิธีการ แต่ทว่าสงสัยอย่างจริงจังในเนื้อหาปรัชญา และพบว่าคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก่อหวอดความสงสัยในระบบเครือข่ายของเอกภพอย่างจริงจัง
อแนกซีแมนเดอร์ ประนีประนอมกลีภพกับเอกภพโดยชี้ให้เห็นว่า เอกภพเกิดจากลีภพ ด้วยกระบวนการข้นตัว และเอกภพก็กลายเป็นกลีภพได้ด้วยกระบวนการจางตัว ปฐมฐาตุของอแนกซีแมนเดอร์มีสภาพเป็นกลีภพคือเป็นเนื้อสารที่ไม่มีคุณสมบัติชี้บ่งว่าเป็นอะไรเลย (formless , imdefinite) จึงไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้นในตัวนอกจากความไม่มีกฎเกณฑ์ จนกว่าจะเข้มข้นขึ้นจนมีคุณสมบัติขึ้น จึงเริ่มมีกฎเกณฑ์ในตัว การที่สารไร้รูปนี้มีปริมาณไม่รู้จบ (boundless, infinite) ก็ชี้บ่งว่าอยู่นอกเครือข่ายไว้ให้คิดต่อจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มซาฟิสท์ยากที่จะนิยามว่าเป็นกลุ่มอะไร และมีความคิดร่วมอย่างไร เพราะไม่เคยรวมกลุ่มกันเลย นิยามจึงขึ้นอยู่กับว่าจะนับใครอยู่ในกลุ่มนี้บ้าง บางคนก็นับซาเครอทิสอยู่ในกลุ่มซาฟิสท์ด้วย ทำให้นิยามต้องเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ในแง่ของระบบเครือข่ายนั้น พอจะสรุปได้ ซาฟิสท์โดยทั่วไปไม่สงสัยในระบบเครือข่ายของเอกภพ ไม่สงสัยในระบบเครือข่ายในปัญญาเฉพาะบุคคล ไม่สงสัยในระบบเครือข่ายของภาษาอุดมคติ (หากขัดเกลาจากภาษาสามัญได้สำเร็จ) ส่วนที่ซาฟิสท์ข้องใจคือความประสานกันของระบบเครือข่ายทั้ง 3 วงจร ส่วนจะไม่เชื่อแค่ไหนและเชื่อแค่ไหนเป็นความคิดเฉพาะตัวของซาฟิสท์แต่ละท่าน เช่นภาษาสามัญแสดงความเชื่อผิด ๆ ว่าสามารถแสดงระบบเครือข่ายของโลกและของปัญญาร่วมของมนุษยชาติ วาทศิลป์แสดงระบบเครือข่ายของบุคคลที่ใช้ล้มความเชื่อผิด ๆ เหล่านั้นได้ และใช้หลอกให้คนเชื่อว่าตนมีระบบเครือข่ายที่ดีได้ ตรรกวิทยา(สำหรับซาฟิสท์บางคน) เป็นแนวร่วมของคนกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับเกณฑ์ร่วมในเครือข่ายบุคคล แนวร่วมที่ใช้ได้กับคนกลุ่มหนึ่ง อาจจะไม่มีผลในกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้
ชาววิมัตินิยม (sceptic) คือผู้ลุ้นลัทธิซาฟิสท์จนสุดขั้วนั่นเอง
ลัทธินามนิยม (nominalism) ในยุคกลางคิดว่าระบบเครือข่ายไม่มีในเอกภพ มีแต่ในปัญญามนุษย์ที่สร้างระบบเครือข่ายได้ตรงกันและสามารถสร้างภาษาอุดมคติให้สื่อได้ตรงกับความคิด แต่บางคนก็ว่ามีแต่ในความคิด เพราะภาษาอุดมคติจริง ๆ ไม่มีจึงได้ชื่อว่าลัทธิมโนภาพนิยม (conceptualism)