Thai paradigms กระบวนทรรศน์ของคนไทย
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ความคิดของคนไทยตามกรอบกระบวนทรรศน์สามารถดูว่าอะไรจะเข้าระบบกระบวนทรรศน์ปรัชญาที่กำหนดไว้สำหรับปรัชญาตะวันตกได้บ้าง และอาจจะต้องยอมรับว่ามีบางอย่างที่หากระบวนทรรศน์เข้าไม่ได้
- กระบวนทรรศน์ที่ 1 ดึกดำบรรพ์ ความคิดของคนไทยที่คิดว่าพอจะสังกัดเข้ากระบวนทรรศน์นี้ได้ ได้แก่ ความเชื่อที่ปรากฏในวรรณคดีไทยที่เชื่อในอำนาจลึกลับต่างๆไม่ว่าจะเป็นอำนาจไสยศาสตร์ หรืออำนาจผีสางเทวดาอันจัดว่าเป็นศาสนาธรรมชาติหรือวิญญาณนิยม อย่างเช่นความเชื่อเรื่องการเข้าทรง ความเชื่อเรื่องขวัญ ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินเรื่องขุนช้างขุนแผน เรื่องพระอภัยมณี เป็นต้น
- กระบวนทรรศน์ที่ 2 โบราณ ความคิดของคนไทยที่คิดว่าน่าจะสังกัดเข้ากระบวนทรรศน์นี้ได้ ได้แก่ความเชื่อกฎตายตัวในศาสนา ซึ่งจะต้องปฏิบัติอย่างเถรตรงตามตัวอักษร อย่างเช่นความเชื่อในกฎแห่งกรรมตามพระพุทธศาสนา ความเชื่อในเรื่องพระยุติธรรมของพระเจ้าในหมู่ชาวไทยคริสต์ วรรณกรรมที่พอจะอ้างได้มีอาทิเช่น เตภูมิกถา และคำสอนคริสตังค์ เป็นต้น
- กระบวนทรรศน์ที่ 3 ยุคกลาง ความคิดของคนไทยที่คิดว่าน่าจะสังกัดเข้ากระบวนทรรศน์นี้ได้ ได้แก่หนังสือพัฒนาจิตใจตามคติทางศาสนาที่บ่งชัดเจนว่า ทุกอย่างในโลกล้วนอนิจจัง ต้องสละความสุขแบบโลกียะเพื่อแลกกับความสุขสมบูรณ์ในโลกุตตระ คู่มือแนะนำสมาธิล้วนแต่เข้ากรอบนี้ทั้งสิ้น หนังสือพระมรรคา (PhraMorakhaไม่ทราบผู้แต่ง) ซึ่งชาวไทยคริสต์คาทอลิกนิยมอ่านกันมากในช่วงของศตวรรษที่แล้ว และยังมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไทยคริสต์คาทอลิกในปัจจุบัน
- กระบวนทรรศน์ที่ 4 นวยุค ความคิดของคนไทยที่คิดว่าน่าจะสังกัดเข้ากระบวนทรรศน์นี้ได้มีมากมายเพราะตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตก และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงส่งเจ้านายและสามัญชนไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ก็ได้มีคนไทยสนใจออกไปศึกษาหาความรู้ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกากันเป็นจำนวนมากตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน การสอนวิชาต่าง ๆ ในซีกโลกตะวันตก มีปรัชญากระบวนทรรศน์ที่ 4 เป็นพื้นฐานเป็นส่วนมาก ท่านเหล่านี้เมื่อเรียนจบวิชาสาขาใดก็ตาม เมื่อเข้ามามีบทบาทในการใช้วิชาความรู้ของตนในประเทศไทย ก็ย่อมแสดงความรู้ของตนออกมาตามกระบวนทรรศน์ที่ 4 และแสดงปรัชญากระบวนทรรศน์ที่ 4 ออกมาอย่างตรง ๆ บ้าง อย่างอ้อม ๆ หรือเพียงเป็นนัยบ่งถึงบ้าง ท่านที่แสดงกระบวนทรรศน์ที่ 4 ออกมาอย่างตรง ๆ มีอาทิเช่น สมัคร บุราวาส หลวงวิจิตรวาทการ เป็นต้น นักคิดเหล่านี้จะสังเกตได้ว่า เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนาก็จะพยายามอ้างว่าเป็นศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์และศึกษาพระพุทธศาสนาแบบวิทยาศาสตร์ และถ้าจะกล่าวถึงศาสนาอื่น ๆ ก็จะกล่าวในทำนองเดียวกันกับที่ขบวนการพุทธิปัญญากล่าวไว้ในปรัชญาตะวันตกสมัยนั้น กล่าวคือมองในลักษณะปฏิฐานนิยม (positivism) ว่าเป็นความเชื่องมงายเหลวไหลอย่างไสยศาสตร์ ซึ่งจะต้องข้ามพ้นไปสู่ความจริงวิทยาศาสตร์จึงจะเชื่อได้ว่าจริง
- กระบวนทรรศน์ที่ 5 หลังนวยุค กระบวนทรรศน์นี้แม้ในปรัชญาตะวันตกก็ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่ก็กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ความคิดของคนไทยที่จะจัดเข้าสังกัดในกระบวนทรรศน์นี้ ก็คงต้องสำรวจดูจากนักคิดใหม่ ๆ ที่เพิ่งไปเรียนรู้มาจากต่างประเทศ หรืออ่านพบมาจากหนังสือภาษาต่างประเทศ ผู้ที่สังกัดกระบวนทัศน์นี้โดยไม่เอามาจากปรัชญาตะวันตกนั้นอาจจะมีได้ ก็คงต้องช่วยกันสำรวจต่อไป แต่อย่างน้อยก็น่าจะอ้างถึงท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ได้สักท่านหนึ่ง