subjects about logic ชื่อวิชาว่าด้วยเหตุผล
ผู้แต่ง : ปราโมทย์ หม่อมศิลา
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
แอเริสทาเทิล(Aristotle ก.ค.ศ.384-322) ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาตรรกวิทยา (logic) ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน แอเริสทาเทิลเองไม่ได้ให้ชื่อวิชาไว้ เพียงแต่เขียนเรื่องต่าง ๆ อธิบายการดำเนินงานของปัญญาในการเข้าใจและเชื่อความรู้ต่าง ๆ ที่มนุษย์อาจจะแสวงหาจนรู้ได้เป็นความรู้ที่น่าเชื่อถือ แอเริสทาเทิลเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่ช่วยให้ความสะดวกในการคิด ซึ่งยังไม่ใช่เนื้อหาของความคิด และให้ชื่อเฉพาะเรื่อง ลูกศิษย์ชื่อพอร์เฟอเรียสรวบรวมเข้าเป็นเล่มให้ชื่อรวมเล่มว่า Organon แปลว่าเครื่องมือ (ของความคิด)
บทต่าง ๆ ของแอเริสทาเทิลมีชื่อดังต่อไปนี้
- The Categories ว่าด้วย 10 ประเภทของภาคแสดง (10 predicaments)
- On Interpretation ว่าด้วย การตีความให้เป็นประโยคตรรกะ มาลา และความสัมพันธ์ในจัตุรัสแห่งความขัดแย้ง (Square of Opposition)
- Prior Analytics ว่าด้วย รูปนิรนัยรูปแบบต่าง ๆ
- Posterior Analytics ว่าด้วย ระบบเครือข่ายความรู้
- The Topics ว่าด้วย 5 บทบาทของภาคแสดง(5 predicables)
- Sophisticated Refutation ว่าด้วย การตอบเหตุผลวิบัติ
10 ประเภทของภาคแสดงหมายความว่าแต่ละภาคแสดงจะต้องแสดงประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ Substance, Quantity, Quality, Relation, Place, Time, Position, Condition, Action, Passion คือมี 1 สาระกับ 9 จรสมบัติ (accident) รวมเรียกว่า 10 ประเภทของภาคแสดง (สาระ, ปริมาณ, คุณภาพ, ความสัมพันธ์, สถานที่, เวลา, ท่าตั้ง, เงื่อนไข, กรรม, อกรรม)
ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าแอเริสทาเทิลแบ่งเช่นนี้ด้วยมาตรการใด บางคนว่าตามประเภทคำทางไวยากรณ์ บางคนว่าตามวัตถุของความรู้ บางคนว่าตามความเข้าใจที่เกิดขึ้นในมโนภาพ บางคนว่าทั้ง 3 อย่างรวมกัน นั่นคือมีความตรงกันระหว่างความเป็นจริง (วัตถุของความรู้) ความรู้ (ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในมโนภาพ) และภาษา (ประเภทคำทางไวยากรณ์)
ที่สำคัญสำหรับสมัยของแอเริสทาเทิลก็คือ ใช้ทฤษฎีภาคแสดงนี้เองโต้แย้งทฤษฎีโลกแห่งมโนคติของเพลโทว์ โดยชี้แจงว่าเพลโทว์ถือว่าทั้ง 10 ประเภทภาคแสดงอยู่ในฐานะเสมอกัน คือเป็นสาระด้วยกันทั้งสิ้นนั้น ไม่น่าเชื่อถือ สำหรับแอเริสทาเทิล เฉพาะสาระเท่านั้นที่อยู่ได้อย่างอิสระ ส่วนจรสมบัติทั้ง 9 ประเภทนั้นต้องอาศัยเกาะอยู่กับสาระ