Subjectivism on ethic จริยธรรมอัตนัยนิยม
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ระหว่างลัทธิอัตนัยนิยมแบบจัดกับลัทธิปรนัยแบบจัด ยังมีแนวคิดอีกแบบหนึ่งที่วางตัวกลางระหว่างลัทธิสุดโต่ง ๒ ข้าง คือ ปรัชญาแห่งการเข้าใจ (Philosophy of Mutual Understanding) แนวคิดแบบนี้เชื่อว่าไม่มีความรู้ที่เป็นปรนัยบริสุทธิ์หรืออัตนัยบริสุทธิ์ มีแต่ความรู้แสวงวัตถุ (intentional knowledge) คือเป็นทั้งปรนัยและอัตนัยในขณะเดียวกัน
ความรู้ปรนัยบริสุทธิ์นั้นผู้มีญาณวิเศษอย่างศาสดาอาจจะบรรลุถึง แต่ทว่าเราผู้เป็นปุถุชนทั้งหลายยังเข้าไม่ถึง ศาสดาทั้งหลายท่านอาจจะเข้าถึงแต่ท่านไม่สามารถชี้แจงให้เราเข้าใจได้อย่างตรงไปตรงมา ภาษาของเรายังบกพร่องมาก สำหรับสาธยายความจริงอันติมะ ท่านจึงต้องสอนอ้อมค้อมเป็นปริศนาให้ขบคิด เราปุถุชนต้องขวนขวายหาความรู้ทุกด้านเข้าช่วยวิเคราะห์มาตรการความดีและมาตรการอื่น ๆ
ยิ่งมีความรู้กว้างและลึกมากเท่าใด เรายิ่งเข้าใกล้มาตรการปรนัยเข้าทุกที เราจึงควรมีใจอุเบกขาวางตัวเป็นกลางให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รับพิจารณาทุกคำตอบด้วยใจเที่ยงธรรมไร้อคติเพื่อวิเคราะห์ปัญหาคำตอบและภาษาที่ใช้อย่างใจเย็น แยกออกมาเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ใช้ความรู้จากทุกทางที่มีอยู่ช่วยประเมินค่า เมื่อวิเคราะห์ถี่ถ้วนแล้ว จึงสังเคราะห์เข้าเป็นความรู้เฉพาะกาล ใช้ปฏิบัติไปพราง ๆ ก่อน หาโอกาสค้นคว้าปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะได้มาตรการที่เข้าใกล้มาตรการปรนัยเข้าทุกที นักปราชญ์ต้องเป็นผู้ประกอบด้วยฉันทะ ( การมีใจรัก ) วิริยะ ( ความมานะ ) และอุเบกขา ( การมีใจเป็นกลาง ) ในการพิจารณาปัญหาและคำตอบที่เป็นไปได้
วิธีดังกล่าวของปรัชญาแห่งการเข้าใจกันเรียกว่าอรรถปริวรรต (hermeneutics) ของปรัชญาหลังนวยุค (postmodernism)