Suarez, Francisco ฟรันชิสโก ซูเออเรซ
ผู้แต่ง : กันต์สินี สมิตพันธ์
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ฟรันชิสโก ซูเออเรซ (Francisco Suarez 1548-1617) เป็นชาวสเปน เกิดที่กรานาดา (Granada) เรียนกฎหมายที่ซาลามันคา ปี 1564 เข้าถือพรตในคณะเยสุอิต เรียนปรัชญาและเทววิทยาเพิ่มเติม ได้เป็นอาจารย์สอนที่เซโกเวีย, อาวิลา, วัลลาโดลิด, โรม, อัลคาลา, ซาลามานคา และโคอิมบรา เป็นตัวอย่างของการถือพรตเคร่งครัด อุทิศตนเพื่อการค้นคว้าและสอน เขียนหนังสือไว้มากมายเพื่อถกและแก้ปัญหาของสมัยนั้นอย่างละเอียดลออสุขุม จนได้สมญานามว่านักปราชญ์เลอเลิศ(ลต.Doctor Eximius) มีนิสัยเยือกเย็น นิยมสายกลางเชิงประนีประนอม ชีวิตจึงราบเรียบไม่โลดโผน สอนถูกใจคนได้เป็นส่วนมากในสมัยนั้น แต่พวกหัวรุนแรงและนิยมทางสุดโต่งทั้งหลาย มักจะไม่ชอบ
ความสำคัญของซูเออเรซอยู่ตรงที่วางระบบความคิด และเมื่อวางระบบแล้วก็ค้นคว้าหาข้อมูลมาเรียงลำดับเข้าระบบได้อย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น คือ เอามาพิจารณาทั้งปรัชญากรีก ปรัชญายิว ปรัชญามุสลิม ปรัชญายุคกลาง รวมทั้งปรัชญาฟื้นฟูร่วมสมัยกับตนด้วย ซูเออเรซคิดว่าความคิดความเข้าใจทั้งหมดของมนุษย์ย่อมมีพื้นฐานบนอภิปรัชญาทั้งสิ้น จะรู้หรือไม่รู้ตัวเท่านั้น
ซูเออเรซตั้งใจจะสร้างความสำนึกในเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงเขียนตำราถกปัญหาอภิปรัชญา (ลต. DisputationesMetaphysicae = Metaphysical Disputations) โดยวิเคราะห์ความคิดเห็นต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวาง แล้วจึงเสนอความคิดเห็นของตนพร้อมด้วยเหตุผลสนับสนุน ต่อจากนั้นก็ให้เหตุผลว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นอื่น ๆ โดยตอบโต้เป็นประเด็น ๆ ไป กล่าวได้ว่าเดินตามวิธีการของ อไควเนิสและยึดแนวความคิดของอไควเนิส แต่ทำเป็นระบบแน่นแฟ้นกว่ามาก และตีความด้วยความคิดเห็นของตนเองออกไปอีกมาก นักนิยมธาเมิสที่เคร่งครัดมักจะข้องใจส่วนที่ซูเออเรซคิดเพิ่มเติมออกไปนี่แหละ ครั้นวางพื้นฐานอภิปรัชญาแล้ว ก็เรียบเรียงปัญหาปรัชญาอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันเราอาจจะเรียกได้ว่าปรัชญาประยุกต์ เช่น ว่าด้วยวิญญาณ (ลต. De Anima = On the Soul), ว่าด้วยกฎหมาย (ลต.De Legibus = On the Laws), ว่าด้วยพระเจ้า (ลต. De Deo = On God), ว่าด้วยการสร้างหกวัน (ลต.De opere sex dierum = On the Work of Six Days) ฯลฯ
ซูเออเรซพยายามปรับปรุงปรัชญาอัสสมาจารย์ให้ทันสมัย และก็คงจะทันสมัยได้จริงในสมัยนั้น เพราะปรากฏว่ามีผู้นำไปใช้มาก ทั้งตำราที่ท่านเขียนและวิธีการของท่าน อย่างไรก็ตาม ท่านเพียงแต่ปรุงรสให้ถูกใจผู้ใช้ปรัชญาในสมัยของท่าน แต่ไม่ได้สร้างความคิดอะไรใหม่ที่นับว่าสำคัญ นอกจากวิธีวิเคราะห์ศัพท์อย่างละเอียดสุขุม ความคิดของท่านจึงสำคัญน้อยกว่าวิธีการของท่าน ซึ่งในปัจจุบันเราพัฒนามาจนได้ลัทธิภาษาวิเคราะห์ และวิธีปรัชญาวิเคราะห์แล้ว