Stoicism on ethic จริยธรรมของลัทธิสโทว์อิค
ผู้แต่ง : เมธา หริมเทพาธิป
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ลัทธิสโทว์อิก (Stoicism) สอนให้ทำใจอุเบกขา พอใจกับสิ่งที่จำเป็นในชีวิตเท่านั้น โดยศึกษาจากความกลมกลืนในระบบกฎของธรรมชาติ
ซีโนว์แห่งซีเชิม ( Zeno of Citium, ก.ค.ศ.336-264) สอนอภิปรัชญาว่าเอกภพเป็นสสารซึ่งมีพระเจ้าแทรกอยู่ทั่วไป พระเจ้าเป็นวิญญาณของเอกภพ เป็นธรรมของเอกภพ เป็นกฎเกณฑ์ของเอกภพ เป็นชีวิตของเอกภพ ดังนั้น พระเจ้า วิญญาณของเอกภพ ธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ และชีวิตของเอกภพ จึงมีความหมายเหมือนกัน เหตุการณ์ในเอกภพจึงมิได้เป็นไปตามยถากรรม แต่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระประสงค์ของพระองค์มีเหตุผลเสมอ แสดงออกเป็นกฎเกณฑ์ในธรรมชาติ นับเป็นต้นกำเนิดของคำสอนเรื่องพระญาณสอดส่อง (Providence) ซึ่งเป็นเฟื่องมากในปรัชญาคริสต์ วิญญาณของมนุษย์แต่ละดวงแบ่งส่วนมาจากวิญญาณของเอกภพ จึงนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่ง ของพระเจ้า พระเจ้าของซีโนว์ไม่ทรงสรรพเดชะอย่างพระเจ้าของศาสนาคริสต์ พระองค์ต้องควบคุมความเป็นไปของเอกภพด้วยวิริยะและอุตสาหะ
จากอภิปรัชญาเป็นปรัชญาจริยะว่า เนื่องจากวิญญาณของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าที่แยกตัวออกมาเพราะความจำเป็นบางประการ ซึ่งเราไม่สามารถจะทราบได้ เราจึงมีหน้าที่ช่วยพระองค์ ควบคุมความเป็นไปของเอกภพ หรืออย่างน้อยก็ควรให้ความสะดวกแก่พระองค์ในการควบคุมเอกภพ โดยตัวเราเองยอมรับสภาพความเป็นจริงในตัวเรา และพยายามเดินตามกฎธรรมชาติอันได้แก่คิดและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับกฎทุกข้อของธรรมชาตินอกตัวเราและกฎธรรมชาติในตัวเรา ให้เต็มใจรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราโดยไม่รู้สึกผิดหวังในเรื่องใดเลย เพราะเข้าใจดีว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามแผนการและพระประสงค์ของพระเจ้า พระประสงค์ของพระเจ้าย่อมมีเหตุผลเสมอ ให้ตั้งหน้าศึกษาค้นคว้าให้รู้กฎของธรรมชาติด้วยเหตุผลอยู่เสมอ ซึ่งก็เป็นการศึกษาให้รู้น้ำพระทัยของพระเจ้านั่นเอง ทั้งนี้เพื่อจะได้แสดงเจตจำนงว่าพยายามร่วมมือกับพระองค์อย่างสุดความสามารถ ไม่ใช่เพิกเฉยปล่อยให้เหตุการณ์และชีวิตของเราเป็นไปตามยถากรรม เราจึงใช้ปัญญาเพื่อควบคุมร่างกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งสสาร และช่วยพระเจ้าดูแลโลกแห่งสสาร