Stereotyping อ้างพวก
ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไปมักจะมีการอ้างพวกอยู่บ่อยๆ ผู้พูดและผู้ฟังมักจะเข้าใจกันคนละทาง คือ
- ผู้พูดมักจะเข้าใจว่าตนหมายถึงส่วนมาก หรือ หมายถึงว่าเป็นจุดเด่น
- แต่ผู้ฟังมักจะเข้าใจว่าทั้งหมดอยู่เสมอ
ถ้าเป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับผู้ฟังก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้ฟังคิดว่าเกี่ยวข้องกับตน ก็มักจะมีเรื่อง เช่น เวลาเราพูด “พวกนิโกร” เราเข้าใจดีว่าเราหมายถึงบางคน ถ้ามีใครมาแย้งคำพูดของเรา เราก็มักจะแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนว่าเราไม่ได้หมายถึงทุกคน
แต่เราได้ยินคนต่างชาติอ้างถึง “พวกคนไทย” จะแก้ตัวอย่างไร เราก็เข้าใจอยู่เสมอว่าหมายถึงทุกคนรวมทั้งเราด้วย ความเข้าใจไม่ตรงกันทำนองนี้แหละ ที่เป็นชนวนให้นักเรียนยกพวกตีกันหลายต่อหลายครั้งแล้ว ตัวอย่าง
“สาวเชียงใหม่งาม ๆ ทั้งนั้น” คนพูดเช่นนี้คงมิได้หมายความว่า สาวเชียงใหม่งามกันหมดทุกคน อาจจะไม่ได้หมายความว่างามกันเป็นส่วนมากเสียด้วยซ้ำ แต่หมายความเพียงแต่ว่ามีคนงามเป็นเปอร์เซ็นต์สูงกว่าที่อื่นเท่านั้น
“ไทยเล็ก เจ๊กดำ คบไม่ได้” ก่อนที่เราจะรู้จักฝรั่ง คนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับชาวต่างประเทศใกล้เคียงก็นับว่ารูปร่างสูงใหญ่ ถ้าคนไทยคนใดแคระแกร็นก็ต้องนับว่าผิดสังเกต คนจีนตามปกติย่อมจะมีผิดขาวกว่าคนไทย ถ้าคนใดผิวดำกว่าคนไทยก็ต้องนับว่าผิดสังเกต คนที่ผิดปกติอย่างนี้ก่อนจะคบกันก็ต้องระวังให้มากสักหน่อย คนมิได้หมายความถึงกับว่าทุกคนคบไม่ได้