sophocles’s role in suppressing pride บทบาทของซาฟเฝอคลิสในการระงับความทนงตน
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
ซาฟเฝอคลิส (Sophocles ก.ค.ศ.496-406) เขียนบทละครตามแบบฉบับของเอสเคอเลิส เขียนเนื้อร้องสำหรับขับร้องหมู่ได้จับใจที่สุด ส่วนเนื้อเรื่องนั้นพยายามให้เตือนสติชาวกรีกสมัยนั้นว่าอย่าฮึกเหิมในความสามารถส่วนตัวจนเกินเหตุ เมื่อเทพเตือนภัยล่วงหน้าก็อย่างทนงตนคิดว่าจะแก้ปัญหาเองได้ทั้งหมด
หากมีความถ่อมตนร่วมมือกับเทพอย่างเต็มที่ ก็น่าจะดีกว่า
อย่างเช่นเรื่องราวของกษัตริย์เอเดอเพิส (Oedipus Rex) ซึ่งเทพเตือนว่าจะฆ่าพ่อบังเกิดเกล้าและได้แม่เป็นภรรยา พระราชบิดาคิดจะฝืนชะตากรรมด้วยความคิดและความสามารถของตนเอง โดยรับสั่งให้มหาดเล็กนำไปฆ่าทิ้งในป่า อันเป็นการไม่บังควรเพราะผิดศีลธรรม ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมหาดเล็กไม่กล้าฆ่าเพียงแต่ทิ้งไว้ให้ชาวป่ามาพบเอาไปเลี้ยง เติบโตขึ้นเก่งทุกอย่าง มีผู้ทำนายซ้ำอย่างเดียวกัน จึงหนีออกจากบ้านเพราะกลัวจะเป็นจริง ก็เป็นการเลือกการกระทำโดยพลการอีกและก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะในป่าแห่งหนึ่งได้พบชายคนหนึ่งก็เขม่นกันจนถึงขั้นวิวาทกัน เขาฆ่าชายคนนั้นโดยไม่รู้ว่านั่นคือบิดา ครั้นเดินทางต่อไปก็พบประกาศหาคนเก่งสามารถตอบปัญหาของสัตว์ประหลาดให้ได้ มิฉะนั้นจะตายกันทั้งเมือง เอเดอเพิสตอบได้จึงได้รับการเทิดทูนเป็นกษัตริย์ เพราะกษัตริย์เพิ่งสิ้นพระชนม์ในป่า เอเดอเพิสก็ได้มารดาเป็นภรรยา ครั้นมารดาจำได้เอเดอเพิสก็ออกเดินทางไปเมืองอื่นและควักลูกตาตนเองทิ้งสองข้างด้วยความเสียใจ
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เทพเตือนเพื่อให้รู้จะได้ระวังตัวและแก้ปัญหาโดยร่วมมือกับเทพ ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยคิดว่าจะฝืนดวงชะตาได้โดยลำพังความสามารถของมนุษย์ ยิ่งแก้ตามประสามนุษย์ก็ยิ่งยุ่งเหยิง