Sophistic on truth ความจริงของลัทธิซาฟเฝิสท์
ผู้แต่ง : เอนก สุวรรณบัณฑิต
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ
นักปราชญ์ (Sophist ศต.ที่ 5 ก.ค.ศ.) สอนญาณปรัชญาท่ามกลางกระบวนทรรศน์ที่ 2 ของชาวกรีกโบราณ ในขณะที่ผู้คนยึดมั่นในความรู้กันเป็นสำนัก ๆ ลงความเห็นว่าเจ้าสำนักสอนคำสอนขัดแย้งกันมาก แม้ในเรื่องเดียวกันก็ยังมีนักปราชญ์ใหญ่ ๆ มีความเห็นตรงกันข้าม เช่น คำถามเรื่องปฐมธาตุของโลก เป็นต้น ซึ่งเป็นแฟชั่นความคิดในสมัยนั้น
ชาวซาฟเฝิสท์จึงลงความว่า เราไม่มีทางจะรู้ความจริงได้เลย ปัญญาของเรามีเพียงความสามารถรู้ แต่ไม่มีอะไรจะตัดสินได้ว่ารู้ความจริงหรือไม่ ความจริงมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ต่างคนต่างคิดว่าตนรู้ก็เป็นความรู้เฉพาะตัวของผู้นั้น ผู้อื่นอาจจะคิดอย่างอื่นก็เป็นความรู้ของเขาไป จะใช้อะไรเป็นมาตรการตัดสินได้ว่าของใครผิดของใครถูก ก
ลุ่มซาฟเฝิสท์จึงอยู่ในประเภทผู้ต่อต้านกระบวนทรรศน์ในสมัยของตน ไม่ใช่เป็นผู้สร้างกระบวนทรรศน์ใหม่ หรือปรับปรุงกระบวนทรรศน์ที่มีอยู่เผรอแทกเกอเริส (Protagoras ก.ค.ศ. 480? – 410?) ซึ่งเป็นซาฟเฝิสท์คนหนึ่งในสมัยนั้นจึงตั้งสูตรขึ้นว่า Man is the measure of all things (คนเป็นมาตรการวัดทุกสิ่ง) คือใครคิดว่าอะไรถูก ก็ถูกสำหรับเขาคนอื่นไม่เกี่ยว คิดว่าอะไรดี ก็ดีสำหรับเขาคนอื่นไม่เกี่ยว
จึงไม่แปลกที่นักปราชญ์ใหญ่ ๆ มีความเห็นตรงกันข้ามในปัญหาเดียวกันเพราะคนเราแต่ละคนมีกลไกความคิดหรือโครงสร้างของสมองอย่างสะเปะสะปะเป็นอิสระต่อกัน ไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์ร่วมกันเลย หากจะเหมือนกันบ้างก็โดยบังเอิญ จึงไม่ค้ำประกันว่าเป็นความจริงร่วมกัน สรุปก็คือสำหรับชาวซาฟเฝิสท์ไม่มีเกณฑ์ความจริงร่วมในความคิดของมนุษย์